The Day After Tomorrow (2004) เดอะ เดย์ อ๊าฟเตอร์ ทูมอร์โรว์ วิกฤติวันสิ้นโลก

Untitiled05463

เรื่องนี้ดูไปหลายรอบแล้วเหมือนกันครับ ประมาณว่าพอมีอารมณ์อยากดูหนังแนวภัยพิบัติทำลายโลกเมื่อไร ก็ต้องหยิบเรื่องนี้มาดูด้วยทุกทีไป

หนังจับเอาภาวะโลกร้อนมาเป็นประเด็นครับ ประมาณว่าการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายมันส่งผลให้สภาวะอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเกิดมหาพายุถล่มเมือง หรือสึนามิซัดเข้าฝั่งจนตึกพังเป็นแถบๆ แต่นั่นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับพายุหิมะขนาดยักษ์ที่จะทำให้ทุกแห่งหนที่เกิดพายุนี้ต้องกลายเป็นน้ำแข็ง

ผมชอบเรื่องนี้นะครับ อาจจะไม่ได้ชอบมากมาย แต่ก็ถือเป็นหนังภัยพิบัติที่ดูสนุก อย่างน้อยฉากทำลายข้าวของก็ถือว่าเวิร์กครับ มีความยิ่งใหญ่อลังการในระดับที่น่าพอใจมากๆ สำหรับยุคนั้น ในแง่ความตื่นเต้นเร้าใจก็ไว้ใจผู้กำกับ Roland Emmerich ได้ล่ะครับ พี่เขาถือว่ารู้งานทีเดียว เริ่มตั้งแต่การเล่าเรื่องที่ค่อยๆ ไล่ระดับภัยพิบัติได้อย่างพอเหมาะ เริ่มจากเบาะๆ เบาๆ ให้ข้อมูลกับคนดูทีละน้อย แล้วเหตุการณ์ก็ค่อยๆ น่าตระหนกขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่ภัยพิบัติของจริงจะเข้าถล่ม ซึ่งการเล่าเรื่องไต่ระดับแบบนี้ก็ถือเป็นสูตรเดียวกับที่ Independence Day ใช้ได้ผลมาแล้วนั่นล่ะครับ

ฉากลุ้นๆ ถือว่าทำออกมาได้ดี ไม่ว่าจะฉากสึนามิที่พัดไล่เข้ามาสร้างความหายนะในเมือง หรือฉากที่พายุเยือกแข็งไล่มาอล่วตัวละครต้องหนีให้ทัน (ไม่งั้นตาย) ฉากเหล่านี้ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของหนังแนวนี้เลยล่ะครับ หากทำออกมาดีก็ทำให้หนังสนุกได้ แต่หากทำออกมากร่อยหนังก็จะดูโล่งโถงไปเลย – และสำหรับเรื่องนี้ ถือว่าทำออกมาได้ดีครับ

พวกภัยพิบัติต่างๆ ถือเป็นพระเอกหลักของเรื่องครับ ส่วนพล็อตหลักอีกอันก็คือเรื่องของแจ็ค (Dennis Quaid) ที่ต้องฝ่าพายุหิมะมรณะไปช่วยลูกชาย (Jake Gyllenhaal) ที่ติดอยู่กลางพายุ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่พล็อตที่เข้มแข็งอะไรนัก แต่ก็ทำให้หนังมีโครงหลักให้เดินเรื่องครับ

จะว่าไปแล้วหนังอาจไม่ได้ลึกซึ้งอะไรนักเกี่ยวกับมิติของตัวละครในเรื่อง แต่ถ้าพูดถึงการนำเสนอแล้วก็ถือว่าพอเหมาะพอได้สำหรับหนังแนวนี้น่ะครับ นอกจากแจ็คกับแซมแล้ว บทสมทบคนอื่นๆ ก็มีวาระของตัวเอง อย่างไบรอัน (Arjay Smith) เพื่อนของแซมที่คอยช่วยเพื่อนตลอด หรือ เจ.ดี. (Austin Nichols) ที่ตอนแรกทำท่าจะเป็นคู่แข่งหัวใจของแซม แต่ไปๆ มาๆ พอเขารู้ว่าแซมรักลอร่า (Emmy Rossum) จริงๆ เขาก็บอกกับแซมว่า “ถ้าชอบเธอก็บอกเธอซะสิ” แม้จะเป็นวาระเล็กๆ คำพูดสั้นๆ แต่ก็ทำให้ตัวละครนี้น่าจดจำและได้ใจคนดูไปไม่น้อย

เหมือน Emmerich จะรู้น่ะครับว่าคงไม่มีเวลาใส่รายละเอียดปูพื้นเชิงดราม่าให้กับตัวละครแบบทั่วถึง ดังนั้นเท่าที่ทำได้ก็คือให้น้ำหนักกับตัวละครหลัก แล้วก็เหยาะความน่าสนใจแจกจ่ายให้กับตัวละครรองในระดับ เท่านี้ก็จะช่วยให้หนังกลมกล่อมมากขึ้น ไม่ดูโล่งโถงจนเกินไป และทำให้คนดูจดจำตัวละครได้ ซึ่งก็เป็นสูตรอีกอันที่ Emmerich ทำได้สำเร็จครับ

Untitiled05464

บทหนังเรื่องนี้ Emmerich เขียนขึ้นเองครับ เขาเริ่มเขียนระหว่างถ่ายทำ The Patriot (2000) และเขาก็หมายมั่นจะทำหนังเรื่องนี้ถัดจาก The Patriot เลย แต่พอดีเกิดเหตุการณ์ 9/11 เขาเลยพักการทำหนังเรื่องนี้อยู่กว่าปี (เพราะคิดว่าอเมริกายังไม่พร้อมสำหรับหนังแนวภัยพิบัติในเวลานั้น) แล้วเขาก็มาเริ่มเปิดโปรเจคท์นี้อีกครั้งประมาณปี 2002 โดยร่วมเกลาบทกับ Jeffrey Nachmanoff อีกที

ระหว่างการทำหนังเรื่องนี้ ทีมงานพยายามขอคำปรึกษาจากนักวิทยาศาสตร์ที่นาซ่าครับ เพื่อที่จะให้หนังมันดูมีความสมจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ก็ถูกปฏิเสธเพราะทางนักวิทย์ที่นั่นเห็นว่าเหตุการณ์ในหนังมันไม่น่าจะเป็นไปได้เลย (บางคนมองว่ามันดูน่าขันด้วยซ้ำไป) แล้วพอหนังทำออกมาเสร็จ สตูดิโอ Fox ก็เปิดฉายรอบพิเศษโดยเชิญเหล่านักวิทยาศาสตร์มาดูโดยหวังว่าทุกคนจะประทับใจในประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่หนังพยายามนำเสนอ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเลยครับที่ประทับใจในประเด็นที่ว่า และบางส่วนยังมองว่าหนังมีช่องโหว่ (ทางวิทยาศาสตร์) หลายจุดเลย

แต่กระนั้น อย่างน้อยพวกเขาก็ Feedback ว่าหนังดูเพลินดีครับ

บทหนังดั้งเดิมนั้นกำหนดให้แซมกับเพื่อนๆ มีอายุประมาณ 11 ปีครับ แต่ทีนี้มีอยู่วันหนึ่ง Emmerich ได้ดูหนังเรื่อง October Sky และประทับใจในตัว Gyllenhaal เขาเลยยอมปรับบทให้พวกแซมเป็นเด็กไฮสคูลค และสำหรับนบทนางเอกนั้น แรกเริ่มเดิมทีจะต้องเป็น Lindsay Lohan มารับบทครับ เรียกว่ากำลังจะเซ็นต์สัญญาอยู่รอมร่อ แต่พอดีช่วงนั้นเธอคิวทองจนไม่ว่างมาเล่น Rossum เลยได้แสดงแทน

ดาราแต่ละคนก็แสดงกันได้ดีสมบทครับ Quaid แสดงเป็นแจ็ค ฮอลล์ ที่ถือว่ามี 2 บทบาทในคนเดียว บทแรกคือนักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยาที่พยายามบอกกับโลกว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องล้อเล่นและหากไม่ทำอะไรล่ะก็ โลกได้หายนะแน่ กับอีกบทคือพ่อที่พยายามช่วยลูกแบบสุดกำลัง ซึ่งเขาทำได้ดีครับ ดูแล้วเชื่อว่าผู้ชายคนนี้มีความมุ่งมั่น ทำอะไรก็ต้องทำให้ได้จริง

Gyllenhaal ก็ทำได้ดีกับบทเด็กเนิร์ดนิดๆ ที่แอบรักเพื่อน ส่วน Rossum ก็น่ารักดี จำได้ว่าตอนนั้นหลายคนปลื้มถือกันใหญ่เลยครับ

Untitiled05466

จริงๆ หนังมีพล็อตรองอีกอันหนึ่งที่ถูกตัดออกไปทั้งยวงครับ จำชายขี้บ่นที่เดินไปขึ้นรถเมลล์ตอนน้ำท่วมเมืองได้ไหมครับ (บทนี้แสดงโดย Rick Hoffman – ใครเป็นแฟนซีรี่ส์ Suits น่าจะจำเขาได้) พล็อตในส่วนของเขาคือเขาเป็นนักธุรกิจขี้โกงที่กำลังวางแผนทุจริตอยู่ และตัวละครตัวนี้จะเกี่ยวข้องกับชายชาวญี่ปุ่นที่โดนลูกเห็บยักษ์ตกใส่หัวด้วยครับ แต่ในที่สุดพล็อตรองนี้ก็ถูกตัดออกเพราะมันจะทำให้หนังยาวเกินไป และฉากที่พวกเขาแสดงก็ถูกตัดใส่ลงในเรื่องแบบที่ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่า 2 ตัวละครนี้มีความเกี่ยวข้องกัน

เกร็ดขำๆ อย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้คือระหว่างถ่ายทำฉากหนีสีนามินั้น Gyllenhaal ปวดชิ้งฉ่องอย่างแรงครับ ปวดมากถึงขนาดจะไปห้องน้ำก็ไม่ทันแล้ว ในที่สุดพี่ท่านก็ปล่อยเลยตามเลย ณ ฉากที่เต็มไปด้วยน้ำนั่นแหละ

อีกเรื่องก็คือฉากรับเชิญเล็กๆ (มากๆ) ของ Kirsten Dunst ครับ เธอโผล่มาในฉากที่แซมกำลังโทรไปหาพ่อ ซีนที่กล้องกำลังดอลลี่เข้าหาแซม (เป็นตอนต้นๆ ของซีนนั้นเลย) เราจะเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในเงามืดข้างๆ แซม นั่นแหละครับ Dunst ล่ะ

ถ้าถามว่าเธอไปโผล่ตรงนี้ได้ไง ก็ตอบได้ว่าเพราะตอนนั้น Dunst กับ Gyllenhaal กำลังเดตกันอยู่ครับ เธอเลยไปหาเขาที่กองอยู่บ่อยๆ หาไปหามาก็แอบเข้าฉากด้วยซะเลยครับ

มีเรื่องน่าใจหายอย่างหนึ่งครับ คือวันที่ผมนำหนังเรื่องนี้มาเปิดดูก่อนจะนำมาเขียนนั้น (วันที่ 19 มิถุนายน 2563) เป็นวันที่ Ian Holm ได้จากโลกนี้ไปครับ ซึ่งตอนดูนั้นผมไม่ทราบเรื่องเลย จนพอดูจบแล้วไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ทราบข่าวนี้ ยอมรับว่าใจหายมากๆ ครับ เพราะทุกครั้งที่ดูหนังเรื่องนี้ผมจะคิดเสมอว่า Holm นั้นแม้จะมีบทไม่มาก แต่ก็แสดงได้อย่างน่าจดจำ ก็อยากจะขอไว้อาลัยท่านมา ณ ที่นี้ครับ

ถือเป็นหนังภัยพิบัติที่ทำออกมาได้สนุกครับ แม้มันจะไม่ได้สุดยอดหรือครบเครื่องเท่า Independence Day ก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่ผิดหวัง และหากมองในแง่รายได้แล้ว หนังทำเงินในระดับที่น่าพอใจครับ ลงทุนไปราวๆ $125 ล้าน ได้คืนมาประมาณ $552 ล้านจากทั่วโลก ก็กำไรใช้ได้ครับ

สองดาวครึ่งครับ

Star22

(7/10)