Little Miss Period

Little Miss Period

สารภาพว่าตอนได้ยินพล็อตครั้งแรกมีอาการ “เหวอๆ” อยู่ไม่น้อย ก่อนจะทุเลาลงเมื่อตระหนักได้ว่านี่คือหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง (ซึ่งดูไม่แปลกใจเสียเท่าไหร่) เรื่องราวของสาว 3 คนกับประจำเดือนที่มาในรูปแบบของเพื่อนรัก (และบางครั้งก็เกลียด) เรื่องนี้ ฟังดูเผินๆอาจจะเป็นหนังตลกสุดหรรษาบ้าบอคอแตก แต่เนื้อแท้แล้ว “Little Miss Period” คือภาพยนตร์ดราม่าน่ารักที่พาเราไปสำรวจมวลความคิดและความรู้สึกของผู้หญิงต่อสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตผ่านช่วงวัย วุฒิภาวะ และความเป็นปัจเจกที่ทำให้ต่างกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนต่างมีเพื่อนคนเดียวกันนั่นคือประจำเดือน เพื่อนที่ทำให้ชีวิตพวกเธอยุ่งยากแสนลำบาก เพิ่มเลเวลความซับซ้อนให้ทวีคูณขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ทำไปทำมาประจำเดือนก็มีคุณค่าที่น่าสนใจ ทั้งในมุมของแฟนตาซีและการมองด้วยสายตาความจริง มันคือสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต่างมีและเผชิญร่วมกัน เป็นสายใยความสัมพันธ์ที่เชื่อมพวกเธอเอาไว้อย่างน่าประหลาดแต่งดงาม

Little Miss Period (หรือ Seiri-chan) ดัดแปลงมาจากการ์ตูนออนไลน์ดังในชื่อเดียวกันของ เคน โคยาม่า นักวาดการ์ตูนชายในปี 2017 บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละ(ประจำ)เดือนของหญิงสาม 3 คน 3 ช่วงเวลาที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาและสถานการณ์ที่ต่างกัน

ประกอบด้วย อาโอโกะ บรรณาธิการสาวสำนักพิมพ์ที่ต้องรีบส่งต้นฉบับให้ทันก่อนเดดไลน์ โดยในขณะเดียวกันเธอก็ต้องหาทางสร้างความสัมพันธ์กับลูกสาวของแฟนใหม่ที่ยังไม่เปิดใจยอมรับเธอ, ฮิคารุ นักเรียนสาวผู้กำลังฝ่ามรสุมการสอบแต่นั่นไม่เท่ากับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านเมื่อเธอได้อยู่ใกล้แฟนหนุ่มแบบสองต่อสอง, ริโฮะ ภารโรงสาวออฟฟิศที่แท้จริงแล้วเธอคือบล็อกเกอร์มากความสามารถ เปี่ยมไปด้วยฝีมือการเขียนแต่เลือกที่จะซุกซ่อนตัวตนแท้จริงเอาไว้

ทั้ง 3 คนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างใดในเส้นเรื่องหลัก หากแต่มีความสัมพันธ์บาง ๆ เชื่อมพวกเธอเอาไว้ รวมถึงการปรากฏตัวของ “เซย์ริจัง” เจ้ามาสต็อตสีชมพูตัวใหญ่ (แต่ตัวเล็กก็มีนะ) ที่มาเป็นตัวแทนของประจำเดือน คอยปั่นป่วนประจำวันของสาว ๆ ให้ใช้ชีวิตยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “Period Punch” หรือหมัดชกประจำเดือน ท่าไม้ตายสุดฮาที่จะทำให้สาว ๆ ปวดท้องน้อยเหมือนเป็นประจำเดือน แต่ในขณะเดียวกันท่านี้ก็สามารถต่อกรกับผู้ชายพฤติกรรมแย่ๆ ได้ด้วยเช่นกัน หากพวกเขาไม่เข้าใจในความทุกข์ของเหล่าผู้หญิงเลย

เอาจริงๆ Little Miss Period มันไม่ได้วางตัวเองเป็นหนังมีพล็อตมากนัก แต่เหมือนเป็นการฉายภาพชีวิตประจำวันของพวกเธอในทุก ๆ เดือนที่ต้องพบปะกับเจ้า เซย์ริจัง เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นมันมีความสนุกอยู่ในตัวผ่านคอนเซ็ปต์ตั้งแต่เริ่มต้น ผ่านความกวนๆ เพี้ยนๆ ที่เกิดขึ้นตามรายทาง

ส่วนเส้นเรื่องเป็นการขยับเขยื้อนดราม่า พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเจ้ามาสค็อตให้ไปสู่ทิศทางที่น่าสนใจ ความไปเรื่อยของหนัง กับท่าทีจริงจังในช่วงท้ายออกมากำลังพอดิบพอดี เหมือนเป็นไดอารี่บันทึกประจำเดือน บันทึกความคิด อารมณ์ และชีวิตช่วงนั้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง บ้างสำคัญ และบ้างก็ไม่ได้มีอะไร สิ่งที่น่าสนใจคือหนังหยิบเอาช่วงวัยมานำเสนอในแต่ละตัวละครด้วย มันช่วยเล่าทั้งในแง่ของปัญหาที่เด็กผู้ใหญ่มีต่างกัน รวมไปถึงการมีตัวตนของประจำเดือนที่ยิ่งเติบโตยิ่งเคยชินกับเพื่อนรักคนนี้ ชอบที่หนังอธิบายง่ายๆเลยผ่านขนาดตัวของ เซย์ริจัง ที่แทนค่าของ “การมา” ว่ามากน้อยแค่ไหน

เคมีระหว่างตัวละครสาวกับเจ้าประจำเดือนเป็นอะไรที่เพี้ยนอยู่ไม่น้อย (ชม) แม้ว่าเอาเข้าจริงมันก็เหมือนกับที่ ยุ่น สนทนากับร่างกายตัวเองใน ฟรีแลนซ์ฯ (2558) นั่นแหละ หนังมันพูดถึงความว้าวุ่นในใจ การเก็บความรู้สึกและความคิดบางอย่างไว้ข้างใน ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครเข้าใจ นอกจาก เซย์ริจัง หรือประจำเดือนของตัวเองที่เป็นเหมือนเพื่อนคอยปลอบประโลมความรู้สึก ให้คำแนะนำต่างๆ

มันอาจจะฟังดูแฟนตาซีแต่กลับไหลลื่นไปกับหนังอย่างน่าสนใจ เมื่อหนังร้อยเรียงไปพร้อมๆ กับเหล่าตัวละครชายที่ดูเหมือนจะไม่เข้าใจความรู้สึกของพวกเธอเท่าไหร่นัก (ไปจนถึงการละเลย) การที่พวกเธอเป็นเพื่อนต่อกันและกัน หรือกระทั่งมีประจำเดือน (อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลักไสได้) จึงเป็นความอบอุ่นที่พิเศษของหนัง ที่ไม่เพียงแค่เอาหยิบความจริงมาล้อเล่นอย่างสนุกนานอย่างเดียว แต่นำเสนอพื้นที่ของเรืองราวใหม่ๆ ให้กับผู้ชมด้วย เพราะเหนือสิ่งอื่นใด การมีคนคอยรับฟังทุกๆ เรื่องในชีวิตของเราเป็นอะไรที่โคตรรู้สึกดี

อีกประเด็นที่ชอบคือการพูดถึงคุณค่าในตัวเรา ซึ่งเล่าผ่าน ริโฮะ ภารโรงสาวที่มองว่าคนแบบตัวเองไม่มีวันได้เป็น ‘ตัวเอก’ ในชีวิตจริงได้ เธอจึงเลือกที่จะซุกซ่อนตัวตน ปกปิดการเป็นบล็อกเกอร์ออนไลน์ไม่ให้ใครรู้ กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพนักงานหนุ่มในออฟฟิศ ริโฮะ ก็ยังรู้สึกว่าตนไม่คู่ควรสำหรับเขา ซึ่งเป็นปัญหาที่เจ้า เซย์ริจัง เข้ามาแก้ไข ให้เธอได้ทบทวนถึงคุณค่าในตัวเองอีกทีว่าแท้จริงแล้วการที่เธออยู่ในจุดนี้ เพราะเธอไม่คู่ควรจริงๆ หรือเพราะเธอเลือกที่จะบอกกับตัวเองเสมอมาแบบนั้นกันแน่ เชื่อว่านี่น่าจะเป็นหัวข้อของหนังที่ทำให้ใครหลายคนอิน หนังพยายามบอกให้เรานับถือตัวเอง ให้คุณค่ากับตัวเอง และยอมรับสิ่งที่เราเป็น โดยไม่ตั้งแง่หรือเลือกที่จะคิดลบกับทุกๆ เรื่องที่ผ่านเข้ามา

Little Miss Period กลายเป็นกระแสในสังคมญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง เพราะสำหรับพวกเขาการเอ่ยถึงประจำเดือนถือว่าเป็นสิ่งที่สกปรกและต้องห้าม การนำเสนอเรื่องราวผ่านมาสค็อตสีชมพูน่ารักจึงเป็นไอเดียที่น่าสนใจ และเข้ามาหักล้างกับความเชื่อเดิมๆได้เป็นอย่างดี, นี่คือภาพยนตร์ คอมเมดี้-น่ารักๆ ที่อยากให้ทุกคนไปลองชมกัน

แม้ว่าตัวพล็อตจะดูเป็นผู้หญิงมากๆ แต่เราว่ามันคือหนังที่ทำมาให้ผู้ชายดูได้ด้วยเช่นกัน ผ่านเส้นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ต้องปรับความเข้าใจกัน หรือกระทั่งการได้เห็นและสำรวจความวายป่วงของเหล่าสาวๆ ช่วงประจำเดือนมาก็เป็นหนึ่งในข้อมูลชั้นดีที่ควรรู้ติดตัวไว้ ใครที่ชอบหนังญี่ปุ่น หรือหนังอบอุ่นหัวใจผสมผสานระหว่างความตลกแสบๆ กับประเด็นง่ายๆ ที่ดูแล้วมีความสุขไปชมกันครับ จริงๆ หนังมีเซอร์ไพรซ์ด้วยเพราะไม่ได้ออกมาแค่เจ้า เซย์ริจัง ตัวเดียว แต่ยังมีมาสค็อตอื่นๆ ที่โคตรพีคไม่ต่างกัน