Ju-On: Origins

Ju-On: Origins 

หากเอ่ยถึงตำนานความเฮี้ยนของผีญี่ปุ่น แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น “จู-ออน” โคตรผีดุที่เคยถูกสร้างเป็นหนังจอใหญ่มาแล้วหลายฉบับหลายเวอร์ชั่น และในวาระที่ครบรอบ 20 ปีเต็มของเรื่องราวสุดสยองอันเป็นที่กล่าวขานจากแดนอาทิตย์อุทัย เราจึงได้กลับมาเปิดปฐมบทฉบับใหม่ที่ยอมรับเลยว่า หลอนจริง โหดจริง ดุจริง กับฉบับซีรีส์ “Ju-On: Origins” ที่เพิ่งพรีเมียร์ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ไปหมาดๆ

สำหรับเวอร์ชั่นซีรีส์ของผีดุนั้น ได้พาย้อนกลับมาสืบหาตำนานสุดเฮี้ยน เพราะอะไร เหตุใด จึงกลายมาเป็นเรื่องเล่าขานสุดเขย่าขวัญสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ซีรีส์ในฤดูกาลแรกเปิดตัวมาแค่เพียงสั้นๆ 6 ตอนจบเท่านั้น ซ้ำยังมีเนื้อหาที่รวบรวดฉับไวไม่ยืดเยื้อ ด้วยความยาวตอนละเพียง 30 นาทีเท่านั้น หลายคนอาจจะคาดหวังว่าจะได้เห็นผี เห็นความสยอง เห็นความเหี้ยมโหด บอกได้เลยว่า…คุณจะได้รับสิทธิ์นั้นจากซีรีส์เรื่องนี้

Ju-On: Origins จะพาเล่าเรื่องตั้งต้นมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 80s เรื่อยมาจากถึงปลายยุค 90s แน่นอนเราจะได้เห็นวัฒนธรรมวินเทจๆ ของญี่ปุ่นช่วงเวลานั้น ที่ทีมงานเก็บรายละเอียดค่อนข้างน่าพอใจเลยทีเดียว ฉบับซีรีส์นี้จะเน้นโฟกัสไปที่ตำนานคำสาปของบ้านที่เป็นแหล่งกำหนดความอาฆาตแค้นทั้งหมด ด้วยระยะเวลาที่ไม่ยาวนานมากนักของซีรีส์ จึงเป็นประสบการณ์ดูซีรีส์ที่กำลังกระชับพอดี มีปิดตา ร้องกรี๊ดให้กับหลายๆ ฉาก

ดังนั้นจึงได้เวลาที่เราจะทำชำแหละประเด็นเด่นๆ ของซีรีส์ Ju-On: Origins เรื่องนี้กัน เพราะอะไรตำนานนี้จึงยังนำมาสร้างใหม่ๆ อยู่เรื่อย และกำเนิดความแค้นมาจากตรงไหน รวมทั้งเรื่องผีเรื่องนี้น่าจะกลายเป็นจักรวาลจู-ออนที่จะมีการสร้างออกมาอย่างไม่มีที่สุดสิ้นเลยก็เป็นไปได้

• เนื้อเรื่องกระชับ สะท้อนปัญหาสังคม
จุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้คือความไม่เยิ่นเย้อของเนื้อเรื่อง เข้าสู่ประเด็นตั้งแต่นาทีแรกที่เริ่มฉาย อีกทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในสถานการณ์ต่างๆ ได้หลอนมีจังหวะและลงตัวได้กำลังพอดี คนดูอาจจะมองเห็นเส้นเรื่องบางๆ ที่กั้นได้ระหว่างการปูพรมเรื่องราวในช่วงครึ่งแรก และเข้าไปสู่แนวทางที่จริงจังกับการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลัง อีกทั้งจะเห็นได้ว่าในหลายๆ ฉากของซีรีส์ ได้เล่นกับเหตุการณ์สำคัญในแต่ละช่วงเวลา และยังเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น เหตุฆาตกรรมและลักพาตัวเด็กหลายกรณีในปี 1988 หรือ เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่โกเบ และ เหตุโจมตีโตเกียวเมโทรด้วยแก๊สพิษ ที่เกิดขึ้นในปี 1995 ผู้สร้างพยายามดึงพาดหัวข่าวที่เป็นประเด็นน่าสนใจในช่วงเวลาต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมตัวละครได้อย่างแนบเนียน

• ตัวละครเยอะ แต่กระจายบทอย่างคุ้มค่า
ต้องบอกเลยว่าซีรีส์เรื่องมีตัวละครที่ค่อยข้างเยอะ แม้จะมีคาแรกเตอร์หลักๆ อยู่เพียง 3-4 ตัวเท่านั้น แต่ด้วยการใช้วิธีเล่าเรื่องแบบตามตัวละครแต่ละครที่แตกต่างกกัน แล้วถึงจะนำมาเชื่อมโยงด้วยสื่อกลางเดียวกัน นี่คือสไตล์การเล่าเรื่องที่คมคายเป็นเอกลักษณ์ของเรื่อง นักแสดงนำหลัก “โยชิโยชิ อะระกะวะ” กับ “ยูอินะ คูโระชิมะ” แม้จะไม่ได้โด่งดังระดับแถวหน้าของวงการบันเทิงญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็เติมเต็มซีรีส์เรื่องนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่ที่ต้องชื่นชมจริงๆ ก็คงจะเป็นการแสดงของ “ริริกะ” ที่เป็นนักแสดงสาวดาวรุ่งเพิ่งเข้าวงการมาได้ปีเศษๆ บทหนักไปตกอยู่ที่เธอ และก็มอบแอคติ้งที่ชวนขนลุกขนพอง ทั้งภาวะทางกายและทางอารมณ์ที่ซับซ้อน เธอจึงเป็นอีกหนึ่งดาวเด่นที่อยู่ในซีรีส์เรื่องนี้

• ความหลอนให้ 10 ความโหดให้ 100
ระดับความหลอนของจู-ออนในฉบับนี้ยังคงต้องยกนิ้วให้ อาจจะมาแค่ในรูปแบบเสียง บรรยากาศวังเวง และไม่ได้เป็นผีตุ้งแช่เหมือนฉบับก่อน เวอร์ชั่นซีรีส์ผีออกมาอย่างมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น รู้จังหวะในการออกมา และไม่ได้ทำให้คนดูรู้สึกอึดอัดใจขณะดู แต่สิ่งที่กลับทำให้คนดูต้องหวาดผวาก็คงจะเป็นความดุร้ายของมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า เรียกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้มีฉากที่มีความรุนแรงค่อนข้างปะปนอยู่เยอะ ความโหดเหี้ยมมีให้เห็นตั้งแต่ตอนแรกไปจนถึงตอนสุดท้าย แม้จะเป็นซีรีส์ผี แต่กลับไม่ได้ตกใจเรื่องผี เพราะกลัวพฤติกรรมความทารุณของคนมากกว่า ถือว่าแอบปิดตาดูอยู่หลายฉาก เพราะความโหด…คือนำเสนอให้เห็นภาพได้ถึงแก่นแท้เกินไป แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์พาคนดูไปได้สุดทาง หลอนก็ทำได้ถึง โหดก็ทำได้เหี้ยม

โดยภาพรวมแล้ว Ju-On: Origins ฉบับซีรีส์นี้ถือว่าทำออกมาได้อย่างน่าพอใจ เพราะด้วยการใช้ทีมงานที่คลุกคลีอยู่กับจักรวาลนี้มาหลายสิบปี เรื่องนี้ทำให้เราได้รับรู้ถึงต้นกำเนิดของความอาฆาตแค้น และเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมบ้านหลังนี้ถึงเฮี้ยนยิ่งนัก ในท้ายที่สุดเหตุผลก็คงเป็นเพราะเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ที่มีกิเลสนั้นเอง เอาเป็นว่าเรายกให้ซีรีส์นี้แอบโหดมากกว่าหลอน ดูจบแล้ว…เข้านอนเชื่อว่าเพลงประกอบซีรีส์ที่อยู่ตอนท้ายเรื่อง น่าจะตามหลอกหลอนกังวลอยู่ในหูุคุณ บรื๋อออออ…!

—————————————————-