Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008) ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 4 ตอนอาณาจักรกะโหลกแก้ว

Untitled04180

รู้ไหมครับว่าผมต้องใช้เวลาราวหนึ่งวันกว่าจะมานั่งเขียนถึงอินดี้ภาค 4 นี่ได้ เพราะตอนดูจบรอบแรกแล้วอารมณ์มันกึ่มๆ ใช้ได้เหมือนกัน

แว่บแรกที่ดูออกมาก็รู้สึกชอบบ้าง แต่ไม่ได้ประทับใจมากมาย

พอนั่งบ่มนั่งคิดอยู่พักหนึ่งก็รู้สึกชอบมากขึ้น แต่ก็ไม่ประทับใจอยู่ดี

เป็นอารมณ์ที่ก้ำกึ่มดีแท้ (ผสมระหว่างก้ำกึ่งกับกึ่มๆ น่ะแหละครับ)

ต้องบอกไว้ก่อนว่าผมพยายามไม่สปอยล์เรื่องราว แต่บางก็ท่านอ่านๆ ไปอาจจะสะกิดคิดจนกลายเป็นสปอยล์ได้ ผมเลยต้องบอกไว้ก่อนนะครับ แต่โดยส่วนตัวผมกลับมองว่าการรู้เรื่องราวก่อนเข้าดูหนังเรื่องนี้ น่าจะให้อรรถรสมากกว่าเข้าไปดูแล้วก้ำกึ่มแบบผม อีกอย่าง มันยาวครับ ยาวมากๆ ถ้าไม่ชอบอะไรยาวๆ ก็ไปอ่านดาวตรงสรุปบรรทัดสุดท้ายเลยดีที่สุด

19 ปี … ก็เกือบ 20 เข้าไปแล้วนะครับ เป็นการรอคอยที่นานโขจริงๆ ผมเองก็ยอมรับเลยครับว่าถอดใจแล้วล่ะที่จะได้ดู Indy 4 แม้มีข่าวร่ำๆ ว่าจะสร้างๆ วนเวียนอยู่ทุกปี อันที่จริงข่าวว่าจะสร้างนี่ก็วางแผนไว้ตั้งแต่ตอนภาคสามฉายได้พักหนึ่งแล้วล่ะครับ ตอนแรก Steven Spielberg, George Lucas และ Harrison Ford ก็คิดคล้ายๆ กันว่าจะหยุดตำนานอินดี้ไว้แค่นี้พอ จะยังไม่สร้างตราบใดที่ยังไม่ได้พล็อตที่ถูกใจครบทั้งสามคน

แต่แม้จะยังไม่ได้พล็อตก็เริ่มมีการวางแนวทางกันไปบ้างแล้ว นั่นก็คือตัว Ford เนี่ย เริ่มดูสูงอายุมากขึ้นๆ จน Lucas ลองคิดๆ ว่าถ้าจะทำตอนต่อก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมป้วนเปี้ยนอยู่แถบหนังผจญภัยสไตล์ยุค 30 (ซึ่ง Lucas ตั้งใจทำเพื่อคารวะหนังยุคนั้นมาแต่แรก) ก็อาจต้องเขยิบมาเล่นกับเรื่องราวในยุค 50 แทน ซึ่งของขึ้นชื่อสำหรับหนังยุค 50 ก็หนีไม่พ้นหนังไซไฟเกรดบี แล้ว Lucas เองก็ชอบหนังเกรดบียุคนั้นอยู่แล้วด้วย แนวคิดที่จะผสมผสานความเป็นไซไฟ แนววิทยาศาสตร์หน่อยๆ ก็เริ่มก่อตัวตอนนั้น

ด้วยความที่ Lucas ชอบหนังไซไฟผจญภัยในอวกาศเรื่อง Forbidden Planet (เนื้อหาว่าด้วยนักบินอวกาศที่ต้องไปผจญภัยบนดาวดวงหนึ่ง) เป็นทุนอยู่แล้วด้วย ก็เลยคิดว่าน่าสนใจถ้าจะผูกเรื่องผสมๆ ปนไซไฟลงไป เลยให้นักเขียนบท Jeb Stuart เจ้าของผลงาน Die Hard ลองช่วยร่างบทหนังอินดี้ ในเวอร์ชั่นคารวะหนังไซไฟเกรดบียุค 50 สักหน่อย

ผลที่ได้คือนาย Jeb Stuart ปั่นได้ออกมาเป็นบทหนังเรื่อง Indiana Jones and the Saucer Men from Mars ฟังชื่อก็เดาได้เลยใช่ไหมครับ งานนี้อินดี้ตีกับอีทีแน่นอน

พล็อตนั้นเรื่องราวก็เริ่มในปี 1949 ที่เกาะบอร์เนียว ตอนที่อินดี้ได้พบกับนางเอกที่ชื่อ ดร.อีเลน แม็กเกรเกอร์ ที่ทั้งคู่ได้จับพลัดจับผลูสู้รบกับโจรสลัดท้องถิ่น ก่อนจะทำความรู้จักและพบกับความจริงเวลา ดร.อีเลนเธอเดินทางมาเพื่อไขปริศนาวัตถุทรงกระบอกปริศนาจากต่างดาวที่มีจารึกภาษาอียิปต์โบราณ ภาษาชาวมายัน และภาษาสันสกฤตจารึกลงบนนั้น ว่ากันว่าสิ่งนี้จะนำพาไปสู่ขุมพลังอันมหาศาล และอาจมีความลับซ่อนอยู่ รัฐบาลเลยขอแรงให้ ดร.มาช่วยหาความลับ ก่อนมันจะตกไปอยู่ในมือของพวกเจ้าหน้าที่วายร้ายจากโซเวียต ตามด้วยการรุกรานจากต่างดาวที่หมายจะลงมาถล่มโลก สคริปดั้งเดิมนี้เขียนตั้งแต่ปี 1992 ครับ มีฉากเด็ดๆ อย่างกองทัพมดโจมตีเขมือบคนอย่างโหดเหี้ยม ฉากต่อสู้กันบทแท่นจรวด และไคลแม็กซ์จะเป็นการรับกันอย่างดุเดือดระหว่างทหารอเมริกันกับยานอวกาศจากต่างดาว (โอ้ แม้เจ้า ) ก่อนจะปิดท้ายที่งานแต่งระหว่างอินดี้กับ ดร.อีเลน โดยในบทมีการให้ดาราตอนก่อนๆ อย่างพ่อของอินดี้, ซัลลาห์, ช็อตราวน์ (เด็กจากภาคสอง), แมเรียน (นางเอกภาคแรก) และวิลลี่ (นางเอกภาคสอง) มารับเชิญปรากฏตัวในงานแต่งด้วย

เป็นไงครับ บทร่างแรก… แน่นอนครับมันไม่ได้ถูกสร้างเพราะแม้ Lucas จะโอเค แต่ Spielberg กับ Ford เอาหัวโหม่งฝาทันที บอกว่าเรื่องมันจะกันใหญ่นะ เอาอินดี้ไปเจอมนุษย์ต่างดาวยังไม่พอ ยังมีมนุษย์ต่างดาวบุกโลกอีก Ford ถึงขั้นลั่นวาจากับ Lucas เลยว่า “ผมไม่มีทางเล่นในหนังพล็อตนี้แน่ แม้จะได้ Spielberg กำกับก็ตาม”

โปรเจคท์ก็เลยพับไป หลายปีเลยครับ Lucas ก็หันไปคิดทำภาคก่อนหน้าของ Star Wars แต่ระหว่างนั้นความอยากทำอินดี้ก็ยังมีเชื้ออยู่ พี่แกเลยทำซีรี่ส์ The Young Indiana Jones Chronicles ร่วมไปด้วย ประมาณว่ายังไม่มีหนังใหญ่ก็ขอทำหนังเล็กก่อนแล้วกัน แล้วระหว่างนั้นเองไอเดียเกี่ยวกับกะโหลกแก้วก็เริ่มก่อตัว

Untitled04181

Lucas เกิดสนใจเรื่องความลึกลับของกะโหลกแก้ว (Crystal Skull) ที่ตอนนั้นคอเรื่องลึกลับก็น่าจะคุ้นเคยล่ะครับ กะโหลกแก้วคริสตัลควอตซ์ที่ไร้ตำหนิ เป็นกะโหลกแก้วที่มนุษย์ธรรมดาไม่น่าจะสร้างขึ้นได้ เลยเป็นปริศนาให้ครุ่นคิดกันพักหนึ่ง Lucas ก็เห็นว่านี่แหละเหมาะจะเอามาเป็นขุมทรัพย์ให้อินดี้ได้ค้นหาความจริง ตอนแรก Lucas ก็จะกะเอาพล็อตอินดี้หากะโหลกนี้ใส่ลงไปในซีรี่ส์ แต่ปรากฏว่าซีรี่ส์นี้ได้รับความนิยมน้อยมาก จนในที่สุดก็ต้องเลิกสร้างไปตอนออกฉายได้เพียง 3 ซีซั่น (ซีซั่นสุดท้ายยังไม่จบดีด้วยซ้ำ) Lucas เลยมีความคิดจะขยับขยายพล็อตนี้ให้เป็นหนังใหญ่ซะเลย

การค้นคว้าเกี่ยวกับกะโหลกแก้วก็ค่อยๆ ดำเนินไป Lucas ก็ค่อยๆ ขุดตำนานสารพัดเกี่ยวกับกะโหลกนี่เพิ่มเติม จนได้เค้าโครงว่าตำนานกล่าวถึงที่มาแห่งกะโหลกไว้ราวๆ 3 ที่ อย่างแรกคือ กะโหลกสร้างโดยมนุษย์ต่างดาว สาเหตุเพราะกะโหลกแก้วนั้นมันไร้ตำหนิ ไม่มีรอยตัด หรือรอยเจียระไนใดๆ ซึ่งว่ากันตามหลักแล้วไม่มีทางเป็นไปได้มีมนุษย์เดินดินในยุคอดีตจะทำได้

ตำนานที่สองกล่าวว่ากะโหลกน่าจะสร้างจากอารยธรรมชาวแอตแลนติสที่สาปสูญไป สำหรับท่านที่ไม่ทราบนะครับ ในอดีตกาลว่ากันว่ามีอาณาจักรที่ชื่อแอตแลนติส แต่ในเวลาต่อมาอาณาจักรนั้นก็จมหายลงไปในทะเล ว่ากันว่าอาณาจักรนี้มีอารยธรรมที่ล้ำหน้ามากจนน่าพิศวง แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์แบบโต้งๆ ซะทีเดียว และด้วยวิทยาการที่ก้าวไกลของแดนนี้แหละหลายคนจึงคิดว่าเจ้ากะโหลกนี่น่าจะเป็นเครื่องหมายหรือกุญแจอะไรบางอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่ของแอตแลนติส

ส่วนตำนานที่สามที่เกี่ยวกับกะโหลกคือ ตำนานที่ว่ากะโหลกสร้างจากอารยธรรมของชาวใต้พิภพ หรือ มนุษย์บาดาล (Hollow Earth) ที่เป็นแนวคิดแต่เดิม ที่เชื่อกันว่าใต้โลกของเรานี้ยังมีชั้นโล่งว่างซ่อนอยู่ก่อนถึงใจกลางโลก และเป็นไปได้ว่าอาจบางสิ่งอยู่ใต้นั้น (เพราะมนุษย์เรายังไม่อาจเจาะลงไปถึงใจกลางโลกได้ จึงเป็นปริศนาที่คนเราจินตนาการเอาไว้) พวกเราอาจคุ้นกับตำนานนี้จากนิยาย A Journey to the Center of the Earth ของ Jules Verne หรือที่ Edgar Rice Burroughs เคยผูกเอาเรื่องชาวใต้พิภพนี้เข้ากับการผจญภัยของทาร์ซานอยู่รอบหนึ่ง

แต่ที่น่าจะคุ้นเยอะหน่อยคือโดราเอมอนตอนบุกแดนใต้บาดาลครับ ที่โดราเอมอนต้องเจอความลับของเนสซี่จำได้ไหมล่ะฮะ สนุกดีเหมือนกัน แม้แต่บ้านเราก็มีตำนานชาวบาดาลอยู่เช่นกัน (แดนลับแลที่คำชะโนดโน่นไงครับ) ซึ่งการค้นคว้าของ Lucas ทำให้ได้แนวทางเรื่องพวกนี้มา แต่จนแล้วจนรอด เขาก็โยกเอาสองตำนานหลังไปทำเป็นเกมแทน (ผมว่าถ้าทำเป็นหนังนี่จะมันส์ไม่ใช่ย่อยนะพี่ น่าสนดีออก) แล้วก็เอาคอนเซปต์ของตำนานแรกมาต่อยอดแทน แต่ก็ยังไปไหนได้ไม่ไกลเพราะตอนนั้นโครงการ Star Wars ไตรภาคใหม่กำลังมาแรงกว่า Lucas เลยพุ่งโฟกัสไปที่ SW ก่อน (เหมือนตอนทำอินดี้ภาคแรกเลยนะเนี่ย)

ต่อมาปี 2000 Spielberg เองก็ถูกลูกชายกระตุ้นครับว่าทำไมไม่ทำอินดี้ภาค 4 ซะทีล่ะ พี่แกก็คิดๆ ในใจเหมือนกันครับ ว่ามันก็นานแล้วนะ มันก็นานแล้วนะ ประจวบเหมาะที่เขาได้มาเจอกับ Ford, Lucas, Frank Marshall และ Kathleen Kennedy (สองรายหลังนี่รับหน้าที่อำนายการสร้างหนัง Spielberg หลายเรื่อง) มาเจอกันที่งานสัมมนา American Film Institute ทีนี้ก็ได้เรื่องล่ะครับ แต่ละคนก็มีไอเดียสำหรับอินดี้ภาค 4 มาคุยกันสนุกๆ จนวิญญาณคนทำหนังมันตื่นขึ้นมา รู้สึกท้าทายอยากทำอินดี้ภาค 4 ขึ้นมา งานนี้เลยเริ่มได้เรื่องครับ Spielberg เลยจ้าง M. Night Shyamalan ที่กำลังร้อนฉ่าจาก The Sixth Sense ให้มาสานต่อเรื่องราวภาค 4 ของอินเดียน่า โจนส์ที พี่แกก็เขียนบทเสร็จตอนปี 2002 ครับ แต่ผลที่ได้ก็ไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับ Spielberg นัก เพราะพี่มาโนชแกสานต่อเรื่องราวออกจะย่ำแนวทางภาคแรก Spielberg เลยวางบทของพี่มาโนชไว้ ไปจ้าง Stephen Gaghan (เขียนบท Traffic) และ Tom Stoppard (Empire of the Sun) มาช่วยร่างบทใหม่ แต่ก็ยังไม่ถูกใจอีก จน Frank Darabont มือเขียนบทและผู้กำกับหนังเด็ดขาดอย่าง The Shawshank Redemption กับ The Green Mile มาช่วยเขียนด้วย อะไรๆ ก็เหมือนจะมีความหวังขึ้น

บทของ Darabont นั้นเล่าถึงยุค 50 แต่จับเอานาซีมาเป็นตัวร้ายอีกรอบ ประมาณว่าเป็นนาซีที่ยังหลงเหลืออยู่น่ะครับ มาตามล่าอินดี้ พร้อมทั้งยังมีการพาเอาแมเรียน ราเวนวู้ดจากภาคแรกกลับมาด้วย แต่ในบทชุดนั้นอินดี้ไม่มีลูกนะครับ ซึ่ง Spielberg ชอบบทอันนี้มาก แต่ Lucas บอกปฏิเสธทันที เพราะเขาต้องการให้เอาพวกโซเวียตมาเล่นมากกว่า เพราะถ้าพูดถึงยุค 50 ถ้าจะให้ถูกกาละและเทศะมันก็ต้องเอาเรื่องสงครามเย็น สายลับสองหน้าและ KGB มาพูดถึงจะเข้าที อีกอย่าง Lucas ก็ได้ข้อมูลล่าสุดมาด้วยว่า เผด็จการผู้นำโซเวียตอย่าง Joseph Stalin ก็เคยสนใจใคร่ค้นหาอำนาจแห่งกะโหลกคริสตัลนี่เหมือนกัน งานนี้เลยเข้าแก๊บ

ปี 2004 Lucas เลยจ้าง Jeff Nathanson แห่ง Rush Hour, Catch Me if You Can และ The Terminal ให้มาร่วมกันคิดบทร่างแรกกับเขา ก่อนจะส่งบทต่อให้ David Koepp ช่วยปรุง แต่ก็ใช้เวลานานแรมปีจน Ford ออกมาประกาศว่าถ้าภายในปี 2008 ยังไม่คิดจะสร้างอินดี้ 4 อีกนี่เขาจะไม่รับเล่นแล้วนะ งานนี้ Lucas กับ Spielberg ได้ยินก็เป็นอันเจ้าเข้าล่ะครับ ขืนแกไม่เล่นแล้วจะเอาใครมาเล่นล่ะ เลยรีบออกข่าวเลยว่า จ้าๆๆ สร้างก็ได้จ้า เรื่องต่อไปทำอินดี้ 4 แน่จ้า ( ต้องให้ป๋า Ford ขู่ )

ที่เจ้าเข้ากว่าคือทีมงานครับ นาย Koepp เลยต้องปั่นบทแบบท้านรก พอเวลากระชั้น พี่แกเลยจัดการเอาบทหนังทั้งหลายมากางๆ บทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาดูว่าอันไหนดี อันไหนเหมาะก็เอามายำทันที เขย่าให้เข้าที่ แล้วโยนให้ Spielberg กระดกดื่มไปเลย

แนวทางที่ Koepp คิดคือ เขาเขียนบทโดยมีเจตนาไม่ให้เป็นงานรำลึกหนังอินดี้ภาคที่ผ่านๆ มาเลยน่ะครับ มีแค่มุกให้คิดถึงนิดๆ (อันนี้ผมว่าออกจะยังไงก็ไม่รู้สิ หนังภาคต่อแบบนี้ถ้าไม่ทำให้เกิดอารมณ์รำลึกมันก็เสียไปนิดนะ)

แล้วพอทุกอย่างเรียบร้อย บทก็ได้ออกมา แต่ถูกปิดเป็นความลับตลอด แม้จะมีอะไรแนมๆ แซมๆ แพลมๆ ออกมาก็เถอะ และในที่สุด หนัง Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull ก็สำเร็จลุล่วงออกมาได้

เนื้อหาหลักนั้นก็กล่าวถึงปี 1957 เปิดฉากที่รัฐเนวาด้า เมื่ออินเดียน่า โจนส์ (Ford สิครับ จะเป็นใครไปได้ล่ะ) กับเพื่อนซี้ จอร์จ แม็กเฮล (Ray Winstone) ถูกทหารรัสเซียที่นำโดยผู้พัน ด็อกเตอร์ไอรีน่า สปัลโก้ (Cate Blanchett) จับกุมตัวมาให้ช่วยค้นหาอะไรบางอย่างในโกดังลึกลับ (โกดังที่คุณได้เห็นในตอนท้ายภาคแรกนั่นแหละ) ก่อนจะมีการผจญภัยหนีตายกันนิดหน่อย แต่อินดี้ก็หนีมาได้ครับ ก่อนจะกลับมาทำงานสอน แต่ก็เกิดเรื่องขึ้นอีก เพราะการที่อินดี้โดนจับไปโดยพวกคอมมิวนิสต์ ทำให้ทางอเมริกันที่ยุคนั้นกำลังมีเรื่องทำสงครามเย็นกับพวกคอมมิวนิสต์พอดีเกิดระแวงบ เลยจัดการบีบให้อินดี้ต้องออกจากงาน อินดี้เองเลยเคว้งๆ จนกระทั่งได้เจอกับมัตต์ วิลเลี่ยมส์ (Shia LaBeouf) เด็กหนุ่มกึ่งห้าวกึ่งฉลาดที่มาขอความช่วยเหลือให้อินดี้ช่วยตามหา ศาสตราจารย์อ็อกซ์เล่ย์ (John Hurt) และแม่ของเขา (แมเรียนไงครับ) ระหว่างนั้นก็โดนพวกรัสเซียตามมา เลยมีการบู๊กันไป ไขความลับแห่งกะโหลกกันไปด้วย

แล้วเรื่องราวก็ดำเนินไปครับ ที่เหลือก็ไปผจญภัยกับดร.โจนส์และพรรคพวกกันเลยนะครับผม

เฮ่อ นี่ผมร่ายยาวใช้ได้เลยนะเนี่ย และคงจะอีกยาวแน่นอน ทำใจได้เลยครับ ไม่ชอบอ่านของยาว ก็ตามไปอ่านของสั้นได้ที่นี่ Vreview ที่เว็บ Yarisme ครับ ผมสรุปไว้แล้ว แต่ไม่เต็มอารมณ์นะ ถ้าอยากเต็มอารมณ์ อ่านต่อเลยครับ

ทีนี้ก็ได้เวลาเข้าสู่รีวิวแบบต่างระดับนะครับ ผมจะมีระดับเบาๆ เขียนคร่าวๆ เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่ดูหรือไม่อยากรู้อะไรมากเกินไป ผมก็มีให้ครับ เป็นระดับทั่วไปก่อนนะครับ

ก็… ถ้าว่ากันแล้ว ผมชอบภาคก่อนๆ มากกว่าน่ะครับ ไม่ใช่แปลว่าภาคนี้ไม่ดีนะ มันก็สนุกพอได้ ไม่เลว แต่ยังไม่สุด ครึ่งแรกของหนังนั้นยังไม่จับใจพอ การเล่ายังไม่แข็งไม่แรงเท่าภาคก่อนๆ เอาแค่เรื่องการเล่าตำนานกะโหลกแก้วนี่ก็น่าผิดหวังนิดๆ เพราะในภาคแรกกับภาคสาม หรือแม้แต่ภาคสองเนี่ย ฉากการเล่าตำนานขุมทรัพย์ถือเป็นไฮไลท์สำคัญที่จะดึงให้คนดูจมลงไปในเรื่องราว จมลงไปในโลกของผู้ชายที่ชื่ออินเดียน่า โจนส์ และยังกระตุ้นความอยากดูอยากรู้ให้คนดูได้อย่างดีอีกด้วย ถ้าช็อตนี้กระตุ้นได้ล่ะรับรองว่าความสนใจไหลมาเทมาแบบยาวครับ แต่นี่เล่าแบบพื้นๆ อารมณ์เราก็พลอยนิ่งตามไป

และอันที่จริงผมว่าทิศทางของตำนานกะโหลกก็ยังไม่ชัดเท่าไรด้วย ไม่เหมือนภาคก่อนๆ ที่เล่าปุ๊บนี้เหมือนปูพรมสะกิดให้คนดูเดินตามด้วยความอยากรู้น่ะครับ จริงๆ ผมเข้าใจนะ ว่าหนังอยากทำในสไตล์คล้ายแนวไซไฟ แบบ The X-files ที่ไม่บอกอะไรคนดูมาก แต่ค่อยๆ ให้คนดูติดตามเอาเอง แต่นั่นแหละครับ ปัญหา มันเล่าแบบไม่ได้ทิ้งปมให้น่าตามเก็บเลยนี่สิ

ไม่บอกหรือบอกไม่ชัดเนี่ยไม่ว่ากัน แต่มันต้องทำให้อยากรู้ด้วยว่า “อะไรคือความลับของกะโหลกแก้ว” นี่เป็นอะไรที่เสียดายเล็กๆ ครับ

จุดเสียดายต่อมาคือช่วงแรกๆ มันค่อนข่างเนิ่บมาก ไม่เร้าใจ แต่ก็ยังพอไหว มาเสียคะแนนหน่อยตรงการเล่าตำนานเพื่อแนะนำกะโหลกก็ยังแนะแบบไม่ค่อยจะชวนรู้นัก ต่อมาเมื่ออินดี้ต้องไปยังสุสานโบราณในเปรู เพื่อตามร่องรอยของฟรานซิสโก้ เดอ ออเรลลาน่า นักสำรวจสเปนที่หายไประหว่างการตามรอยเมืองเอล โดราโด้ ปรากฏว่าการเข้าไปในสุสานนั้นก็เนิ่บมาก ไม่ลุ้นไม่มีปมอะไรมากมาย ฉากก็ธรรมดาน่ะครับ รายละเอียดของความเป็นโบราณสถานก็ไม่ค่อยมี (กำแพงกับพื้นดินดูสะอาดยังไงก็ไม่รู้) คนละเรื่องกับตอนที่อินดี้เจอคาตาคอมบ์ อุโมงค์ฝังศพของอัศวินสามพี่น้องผู้พี่ ที่ใต้ห้องสมุดในภาคสามน่ะครับ ที่ดูมีอะไรมากกว่ากันเยอะ

และที่ผมว่าขาดพร่องไปอีกหนึ่งประการคือการเชื่อม ไหนๆ ก็ทำหนังผจญภัยที่ภาคก่อนหน้าห่างเวลากันตั้ง 19 ปี มันก็น่าจะทำสไตล์รำลึกให้แฟนเก่าได้ดึงความผูกพันกลับมานิดหน่อย อีกทั้งทำให้แฟนใหม่ๆ จะได้รู้จักหนังเรื่องนี้มากขึ้นอีกนิด (แบบ Rocky Balboa ไงครับ) แต่ก็อย่างที่บอกครับ Koepp จงใจเขียนบทไม่ให้ออกมาในเชิงรำลึก ซึ่งอาจเพราะเขากะจะให้เวลาเอามาดูต่อกันยาวๆ แล้วจะรู้สึกว่ามันต่อกัน ไม่ต้องมารำลึก ซึ่งการรำลึกนี่ในทางบทหนังมันก็ออกจะเป็นรอยตะเข็บอยู่เหมือน ก็พอเข้าใจแหละครับ

ไม่เชื่อมมากก็พอจะรับได้ (เพราะมันก็มีเชื่อมบ้างแต่ไม่เยอะ) แต่ไอ้เรื่องความน่าติดตามที่ไม่เยอะเนี่ย ออกจะรับไม่ค่อยได้เท่าไร

หนังเริ่มมาเข้าท่าก็ตอนครึ่งหลังเลยน่ะครับ พออินดี้เจอแมเรียน ช่วงนี้แหละความฮาไหลมาเยอะมาก ค่อยสนุกหน่อย ตามด้วยฉากการตามล่าที่มันส์มาก อันนี้ยอมรับเลยครับว่าค่อยรู้สึกคุ้มค่า ตีคะแนนขึ้นเยอะ

ยิ่งไปกว่านั้นช่วงฉากไล่ล่านี่แหละที่ผมขอปรบมือเลยครับ หนังใช้ช่วงนี้ในการแนะนำกึ่งเปิดตัวความสามารถของมัตต์ (LaBeouf) ที่ดูๆ ไปก็น่าจะจ่อคิวได้เป็นตัวตายตัวแทนในอินดี้ภาคต่อๆ ไป (ถ้ามี) ซึ่งผมก็เดาแต่แรกแล้วล่ะครับ ว่ามัตต์เนี่ยน่าจะมามีสัมพันธ์บางอย่างกับอินดี้ (ไม่ใช่สัมพันธ์แบบ Brokeback นะ) แต่ก็ตะขิดตะขวงใจนิดหน่อย เพราะลุคเขามันดูแบดๆ ดูต่อต้านสังคมยังไงก็ไม่ทราบ เป็นมาตั้งแต่ Disturbia และ Transformers ที่แม้จะเล่นดีแต่ก็ดูแบดๆ อ้ะครับ คิดอยู่ว่ามาสวยตำแหน่งต่อจากอินดี้จะไหวเร้อ แต่พอฉากล่าทางรถนี่ผ่านไป ผมยอมรับโดยดีเลยครับ ว่าแกแน่จริง ลีลาบู๊ยอดเยี่ยม อารมณ์ขันก็ร้ายเหลือ แล้วยังมีความรักแม่อีก ดูแล้วนึกถึงภาพของอินดี้วัยหนุ่มที่ River Phoenix ผู้ล่วงลับเคยฝากฝีมือไว้ยังไงยังงั้น

จุดนี้ทำคะแนนในใจผมได้เยอะครับ เรียกว่าความคุ้มๆ ค่อยๆ ไหลมาตอนครึ่งหลังนี่แหละ ไหนจะฉากตีกันกลางมดกินคนอีก ไม่เลวเลยทีเดียว

สำหรับครึ่งหลังการเข้าไปสู่ดินแดนกะโหลกแก้ว ก็นับว่าโอเค แม้ความวิจิตรพิสดารจะน้อยกว่าที่คาดแต่ก็พอทำใจได้ กับบทสรุปเรื่องราวที่… ตอนแรกผมออกจะไม่ใคร่ประทับใจนะครับ แต่พอมานั่งนึกๆ ดู ผมว่า “พล็อต” นำอินดี้มาเจอกับ “สิ่งนี้” นับว่าสมควรอย่างมากเลยล่ะครับ แต่ “บท” ยังแจกแจงบอกเล่าสาระตรงนี้ได้ไม่เต็มกระบวนนัก ทั้งๆ ที่หากเล่าดีๆ นี่จะเป็นขุมทรัพย์ระดับยอดเยี่ยมไม่แพ้หีบศักดิ์สิทธิ์ และจอกศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน เพราะมันเป็นขุมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นคำตอบต่อปริศนาทั้งมวล ในศาสตร์สายวิทย์ (หลังจากสามภาคแรกขุมทรัพย์ได้ให้คำตอบในสายศาสนาไปแล้ว) ซึ่งผมจะเอาส่วนนี้มาร่ายในส่วนของการรีวิวระดับลึกกว่านี้นะครับ (นี่พยายามกันสปอยล์แบบเต็มที่นะเนี่ย) แต่บอกได้ว่ามันทำให้ผมรู้สึกดีกับตอนจบของหนังเยอะขึ้นทีเดียว

โดยรวมๆ เบื้องต้นก็คือ ครึ่งแรกไม่เต็มที่ครับ ครึ่งหลังค่อยสนุกหน่อย แต่บทสรุปรวมออกมาก็ยังถือว่าไม่เต็มอิ่ม ไม่ถูกใจเต็มฟัด ยังกลมกล่อมไม่ได้ที่ ก็เสียดายบ้าง แต่ถ้าไม่คิดมากภาคนี้ก็สนุกไม่เสียชื่ออินเดียน่า โจนส์ โดยเฉพาะช่วงหลังที่บอก มันมีอะไรฮาๆ เยอะมาก โดยเฉพาะมุกงูครับ ผมนั่งฮาตายอยู่ในโรงนั้นแหละ คิดได้ไงอ้ะ แฟนพี่อินดี้น่าจะขำกันฉากนี้แหละ

ดาราที่มาแสดงก็ได้ระดับพระกาฬมาทั้งนั้น Ford นี่เป็นอินดี้มาแต่ไหนแต่ไรครับ ซึ่งผมว่ายังไงแกก็แก่อ้ะ ตอนแต่งสูทยังดูหล่อบ้าง แต่พอแต่งชุดผจญภัยนี่ผมกลัวแกจะเป็นลมมาก หน้าตาออกอาการหอบแฮ่กๆ ในหลายวาระ ตอนขับรถนี่ยังเสียวว่าแกจะหัวใจวายระหว่างทางไหมวะเนี่ย แต่ก็แสดงได้ดีล่ะครับ ส่วน Blanchett ก็โปรมาก ดูร้ายกาจ อำมหิต ฉลาดและยอดฝืมือจริงๆ แต่ติดอยู่นิดหนึ่งที่ดูรวมๆ แล้ว เหมือนเจ๊แกจะเป็นคนบงการทั้งหมดแทนที่จะเป็นคำสั่งของโจเซฟ สตาลิน อย่างที่ Lucas คิดไว้ตอนแรก, Allen ก็มาย้อนรับบทเดิม แมเรียน เรเวนวู้ดตั้งแต่ภาคแรก ดูท้วมขึ้นและอายุมากขึ้น แต่ก็สมกับ Ford ดีครับ จุดดีอย่างหนึ่งของการแสดงเธอ คือผมยังรู้สึกว่าเธอคือแมเรียนคนเดิม แม้อายุจะมากตามกาลเวลา แต่แววตาตอนมองอินดี้ยังไงก็คือคนเก่าที่รักและห่วงใยอินดี้เสมอ, ส่วน LaBeouf ก็สบายใจได้ครับ บอกแล้วไง ตอนแรกเหมือนจะรับไม่ได้ที่แกมาเล่นบทว่าที่อินดี้ในอนาคต แต่พอดูไป โอเค ยอมรับเลย จะเล่นก็ได้ เหมาะดีจริงๆ

Winstone ที่เคยนำแสดงใน Beowulf เมื่อปีก่อนก็มาเป็นแม็กเฮล เพื่อนสายลับของอินดี้ บทนี้ก็ไม่เลวครับ ถือว่ามีการพลิกผันไปมาใช้ได้ แต่เสียดายที่ตอนจบ บทสรุปของเขามันดูไม่ค่อยลงตัวนัก จริงๆ พี่แกก็มีชะตากรรมคล้ายเอลซ่า ชไนเดอร์ในหนังอินดี้ภาค 3 ล่ะครับ แต่ไหงอารมณ์มันไม่ได้ก็ไม่รู้ ดูแล้วไม่รู้สึกอะไร ไม่เหมือนเอลซ่าที่ทำให้คนดูรู้สึกหดหู่ได้

และดาราเก๋าอย่าง Hurt ก็มาทำท่าเมาๆ ตั้งแต่เริ่มจนจบ จริงๆ ผมว่าดาราระดับแกไม่ต้องมาเล่นก็ได้ครับ เพราะแทบไม่ได้ทำอะไรเท่าไร หรือไม่ก็น่าจะเพิ่มอะไรให้บทนี้มากอีกสักนิด อีกอย่างผมว่าหนังยังไม่ได้ชี้ชัดๆ ว่าทำไมแกเพ้ออ้ะ น่าจะมีอะไรมากกว่านี้หน่อย อีกคนก็คือ Jim Broadbent ในบท ดีน ชาร์ลส สแตนฟอร์ท ที่มาแทนตัวละครมาร์คัส โบรดี้ เพื่อนของอินดี้ในภาคแรกและภาคสาม ซึ่งคนรับบทมาร์คัสตัวจริง Denholm Elliott เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 1992 ก็ไว้อาลัยไว้ในที่นี้ด้วยนะครับ ส่วน Broadbent แกแสดงแบบมาเรื่อยๆ แต่ไม่เด่นนัก

อีกคนที่ต้องพูดถึงหน่อยคือ Igor Jijikine ที่มาเป็นนายทหารที่คอยไล่อัดอินดี้ตลอดเรื่อง นายคนนี้ก็มาแทน Pat Roach ดาราร่างบึ้กที่เคยเล่นตีกับอินดี้มาตลอดสามภาค (แต่คนละบทนะครับ) ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2004 ก็ถ้ามีภาคต่อไปสงสัยก็คงจะได้นายคนนี้มาเล่นเป็นธรรมเนียมล่ะกระมัง คอหนังภาคก่อนน่าจะจำได้ว่าจะมีตัวร้ายลูกน้องที่ตัวยักษ์ๆ มาซัดกับอินดี้ทีละนานๆ ก็นายคนนี้แหละครับ

ด้านงานเทคนิค Special Effects ก็ระดับสุดยอดมาร่วมมือกัน ไม่มีทางห่วยได้หรอกครับ การถ่ายภาพ พวกช็อตมุมกว้างก็ออกมาสไตล์หนังเก่าๆ คือไม่ได้เป็นกล้องหวือหวาเท่าสมัยนี้ก็เข้าใจว่าทำให้มันดูเป็นอินเดียน่า โจนส์แหละครับ ภาพไม่ใหม่เกินเหตุ จะให้เล่นกล้องแบบ Michael Bay ก็คงไม่เหมาะนัก สำหรับงานดนตรีก็ได้ John Williams เจ้าตำรับมาจัดการให้ ซึ่งก็เป็นการเอาเพลงดั้งเดิมมารีไรท์เป็นหลักครับ ก็ให้บรรยากาศความเป็นอินดี้ได้ดี แต่ไม่มีเพลงใหม่ๆ แบบสมัยภาคสามที่มีเพลงแห่งจอกน่ะครับ ก็เลยขอชมว่าดีไม่มีตก แต่ก็ไม่มีอะไรใหม่ๆ เช่นกัน

เอาล่ะครับ โดยคร่าวๆ ก็ร่ายไปครบตามที่คิดแล้วนะครับ ต่อไปเชิญพบรีวิวต่างระดับ มาอีกระดับหนึ่งแล้วนะครับ มีการเปิดเผยเนื้อหาแน่ๆ ไม่อยากรู้มากไปรีบข้ามไปอ่านดาวเร็วครับ เพื่อสวัสดิภาพในการชมภาพยนตร์ของท่าน

อันที่จริงนะครับ พอมาสรุปแล้วผมว่าหนังมี “พล็อต” ที่ดี แต่ “บท” และ “การเล่า” นี่ยังไม่เด่นเต็มที่ พล็อตที่ผมว่าดีอย่างแรกคือ เรื่องพ่อลูก ที่ครั้งนี้อินดี้ได้ลิ้มรสคนเป็นพ่อเป็นครั้งแรก (คิดแล้วก็อดขำไม่ได้เน้อะ ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่มักมีลูกแบบไม่รู้ตัวทุกที) ซึ่งปมพ่อลูกนี่คือเครื่องหมายการค้าหลักของ Spielberg มาแต่ไหนแต่ไร แบบที่ภาคสามก็มีไงครับ จริงๆ ภาคสองก็มีนะ แต่ไม่ใช่พ่อลูกจริงๆ เท่านั้นเอง พอมาภาคนี้อินดี้มีลูกเต็มๆ ครับ หนังก็เล่นอยู่นิดหน่อย ซึ่งมักจะออกแนวแบบขำดี อย่างตอนออกปากสั่งลูกรีบไปเรียนต่อนี่ฮามากๆ กับตอนสุดท้ายที่อินดี้เรียกลูกว่า จูเนียร์ ซึ่งก็เหมือนกับที่พ่อของอินดี้เรียกอินดี้ในภาคสามน่ะแหละ ส่วนที่เหมือนกันอีกนอกจากเลือดรักการผจญภัยแล้ว ยังอุตส่าห์เอาชื่อหมามาตั้งเป็นชื่อตัวเองอีก เหมือนกันเด้ะจริงๆ พ่อลูกคู่นี้

แต่ก็นั่นแหละครับ คงเพราะเวลาจำกัดเลยเล่นอะไรมากมายไม่ได้ เช่นเดียวกับปมความรักของอินดี้และแมเรียนที่เล่าแบบรีบๆ ให้คนดูเข้าใจซะ ตอนจบจะได้แต่งงานแบบไร้รอยตะเข็บ ซึ่งจริงๆ ถ้าเพิ่มฉากที่แสดงให้เห็นว่าสองคนนี้ใจยังตรงกันอยู่อีกนิดก็คงจะโอเคกว่านี้แหละครับ แต่ถ้าไม่คิดมากก็ไม่เป็นไร

มาว่ากันที่จุดสำคัญดีกว่า กับเจ้าหัวกะโหลกแก้วคริสตัลนั่น

ผมเกริ่นเอาไว้ก่อนหน้าแล้วนะครับ ว่าค่อนข้างชอบที่เขาเอากะโหลกนี้มาเชื่อมโยงเรื่องราว ถือเป็นขุมทรัพย์ชิ้นที่เหมาะจะเอามาสานต่อเรื่องราวมาก เพราะสามภาคที่ผ่านมาอินดี้ได้ผ่านการผจญภัยเพื่อปกป้องขุมทรัพย์สำคัญทางศาสนาอย่าง หีบศักดิ์สิทธิ์ (ภาคแรก) หินศักดิ์สิทธิ์ (ภาคสอง) และ จอกศักดิ์สิทธิ์ (ภาคสาม) แต่ละครั้งอินดี้ก็ได้ทำอะไรที่นอกเหนือไปจากการค้นพบสมบัติ ภาคแรกเขาได้รับรู้ถึงอำนาจพระเจ้า ส่วนภาคสองเขาได้ปลดปล่อยเด็กและชาวบ้านให้รอดพ้นจากลัทธิร้าย และภาคสามเขาได้เข้าใจถึงสัจธรรมแท้จริงว่าวัตถุศักดิ์สิทธิ์บางชิ้นเป็นของที่ไม่ได้มีไว้ให้มนุษย์จริงๆ แม้คนจะค้นเจอ แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ควรคืนให้พระเจ้า หาใช้เอามาครอบครองไม่ เพราะของวิเศษเช่นจอกนั้น หากหลุดรอดออกมายังโลก ย่อมเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่แน่นอน (จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พระเจ้าจึงทำให้จอกไม่สามารถออกมาได้)

เรียกว่าสามตอนที่ผ่านมาพี่แกผ่านเรื่องราวทางศาสนาความลับมาอย่างโชกโชน ดังนั้นครั้งนี้หากจะแหวกไปเจอกับเรื่องวิทยาศาสตร์บ้างก็หาใช่เรื่องแปลก อีกอย่างคือหากว่ากันตามหลักแล้ว หนังสามภาคแรกพูดถึงสมบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ก็เพื่อเป็นการคารวะหนังผจญภัยยุค 30 ที่ Lucas ชื่นชอบจนขอยืมสไตล์มาทำเป็นอินเดียน่า โจนส์ ส่วนภาค 4 เขาเจตนามาแต่ไหน แต่ไรว่าจะทำเพื่อคารวะหนังเกรดบียุค 50 ซึ่งมีหนังที่เด่นอยู่สองแนว ถ้าไม่สัตว์ประหลาด ก็จะว่าด้วยเรื่องนอกโลก (และแฝงคอมมิวนิสต์เสมอ) ดังนั้นการใช้พล็อตกะโหลกไปลิงค์กับเรื่องมนุษย์ต่างดาวจึงไม่ใช่ของแปลกแต่อย่างใด (ย่อมดีกว่าจับสัตว์ประหลาดมาร่วมขบวนเป็นไหนๆ ไม่งั้นหนังได้กลายเป็น Indiana Jones and the Host… ยุ่งเลยนะนั่น)

ตอนแรกที่ผมดูจบก็ออกจะหงิดๆ ใจไม่ได้ เพราะมันออกจะฉีกแนวเกินไป แต่พอมานั่งคิดดีๆ ก็เข้าใจเลยเริ่มโอเคกับบทสรุปหนังขึ้นมาอีกนิด

การที่สามภาคก่อน อินดี้ค้นหาจนได้พบกับขุมทรัพย์ทางปรัชญาศาสนาถึงสามครา ครั้งนี้จึงเหมาะสมดีที่เขาจะได้พบขุมทรัพย์ทางปัญญาและวิทยาการของมนุษย์ กล่าวคือค้นพบขุมทรัพย์ทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง อันได้แก่คำตอบว่า อะไรทำให้เกิดกะโหลก และอาจจะรวมไปถึงพีระมิดทั้งหลาย และหลายสถานที่ที่เราเองก็ให้คำตอบไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร

ที่ผมติดใจมากคือ “รูปลักษณ์ของกะโหลกแก้ว” คนที่ดูแล้วจะได้เห็นครับว่ามันไม่ใช่กะโหลกแบบที่เราเห็น มันไม่ใช่แค่กะโหลกคนแต่มันเป็นกะโหลกที่มีส่วนหัวยื่นออกไปด้านหลัง (เหมือนหัวเอเลี่ยนอ้ะ) ซึ่งดูแล้วเราก็มองออกว่ามันเป็นกะโหลกต่างดาวแน่ๆ และหนังก็ฉลาดมากที่สื่อให้คนดูคิด เพราะในพิระมิดไคลแม็กซ์ของหนัง มันมีภาพแกะสลักเหมือนอียิปต์โบราณอยู่หลายภาพ ภาพเหล่านั้นมีคนอยู่ หากมองเผินๆ มันช่างเหมือนกับภาพขุนนางชาวอียิปต์หรือเทพเจ้าอียิปต์ที่มักจะมีรูปร่างเรียวและส่วนหัวเหมือนจะใส่หมวกทรงสูงไว้

มันทำให้ผมอดคิดตามหนังไม่ได้ว่า Spielberg และทีมงานพยายามสื่อว่า เป็นไปได้ไหม ที่มนุษย์ต่างดาวมาสร้างพีระมิดจริงๆ จนชาวอียิปต์แกะสลักรูปพวกเขาไว้ แต่ดัดแปลงแกะให้รูปลักษณ์คล้ายคน ยกเว้นส่วนหัวที่ดูเหมือนสวมหมวก ซึ่งต่อมาชาวอียิปต์ก็มีประเพณีการสวมหมวกบอกตำแหน่งยศศักดิ์ในเวลาต่อมา

น่าคิดว่าชาวอียิปต์อาจสวมหมวกเพื่อให้รูปทรงหน้าตาบนหัวตัวเองมีความคล้ายกับผู้ให้ความรู้พวกเขา ซึ่งก็คือต่างดาว

ถึงตรงนี้ผมเลยว่าคนสร้างบทช่างคิด ผูกเรื่องได้ไม่เลวทีเดียว

แต่อย่างที่บอกน่ะแหละ พล็อตดี แต่บทยังไม่ดีพอ ไอ้ตอนต้นคิดมาว่าดีเลยครับ แต่พอถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์ม มันกับยังขาดๆ เกินๆ ไม่ลงตัว อย่างเช่นช่วงต้นเรื่องที่กำหนดให้อินดี้ไปโผล่ที่ Area 51 นั้น ก็ไปเพื่อหาของสิ่งหนึ่ง ปรากฏว่าของสิ่งนั้นกลับไม่ใคร่จะมีผลต่อเนื้อเรื่อง แค่แนมๆ แซมๆ ว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงเท่านั้นเอง เป็นการผูกเรื่อง Area 51 ที่เขารู้กันทั้งบางแล้วล่ะ ผมก็พาลนึกว่ามันน่าจะให้ศพพวกนั้นมีบทบาทมากกว่านี้หน่อย

ตามด้วยตอนท้ายที่อินดี้ต้องเผชิญกับความลับของกะโหลกก็ไม่พลิกความคาดหมายอะไร กะแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่ที่ผิดคาดคือ เหมือนกับการพบความลับของกะโหลกนี้ไม่ยักกะให้อะไรกับอินดี้เหมือนสามภาคก่อน เหมือนกับอินดี้เข้าไป แล้วก็รีบออกมาซะอย่างนั้น บทก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรมากนอกจากที่ให้อินดี้พูดสรุปว่า คำว่าทองคำของชาวมายันนั้นแปลถึง ความรู้ ก็ได้ ดังนั้นขุมทรัพย์ของชาวมายันก็คือขุมความรู้อันไร้ขีดจำกัดที่มนุษย์ต่างดาวเก็บไว้นั่นเอง

จริงๆ ถ้าหนังมีการผูกเรื่องขุมทรัพย์นี่เข้ากับเรื่องครอบครัวที่อินดี้เพิ่งมีหมาดๆ มันน่าจะประทับใจไม่ใช่น้อยทีเดียว เช่น เสริมความแน่นให้การตัดสินใจของอินดี้ในตอนท้ายหน่อยว่าการที่เขาไม่คิดจะยุ่งกับกะโหลกอีกต่อไปก็เพราะเขามีทุกอย่างพร้อมแล้ว เขาไม่ต้องการความรู้ไร้ขีดจำกัดอะไรอีกต่อไป เขาไม่คิดจะไขว่คว้าหาอะไรอีก เพราะเขามีทั้งคนรักอยู่ข้างกายแล้ว ทว่าตอนท้าย กลับไม่ใคร่จะมีอะไรนัก แค่อินดี้วิ่งเข้าวิ่งออกพีระมิดเท่านั้นเอง

กลายเป็นการผจญภัยครั้งแรกที่เหมือนว่าอินดี้จะไม่ได้อะไรมาก นอกจากรู้ว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงเท่านั้นเอง ไม่เหมือนคราวก่อนที่อินดี้ได้ปรัชญาติดตัวหลังจบเรื่องมาอย่างละนิดละหน่อย นี่เลยทำให้ผมเทคะแนนให้อินดี้ภาคนี้ได้ไม่เต็มที่ เพราะภาคก่อนมันมีมาตรฐานที่แน่นหนาปูเอาไว้ (หรือจะบอกว่าผมเรื่องมากก็ได้ครับ)

แต่หากสาระที่พล็อตมีนั้น เราก็พอจะเอามาคิดต่อยอดได้ว่า ความรู้และวิทยาการทั้งหลาย เราไม่จำเป็นต้องรู้มันทั้งหมดหรอกครับ รู้เพียงเท่าที่สมองจะรู้ไหวก็พอ รู้มากไปอาจเป็นภัยแก่ตัวอย่างที่ไอรีน่าโดนแบบเต็มๆ ว่ามนุษย์ที่พยายามจะทำอะไรที่มากเกินความสามารถ พยายามจะครอบครองอะไรที่มากเกินตัวนั้นย่อมเกิดแต่หายนะ

พอเพียงครับ ตามแนวพระราชดำรัส นี่ไม่ได้เจตนาจะโยงเข้าครับ แต่ดูหนังแล้วมันคิดได้เช่นนั้นจริงๆ ว่าคนเราต้องตกระกำลำบากก็เพราะไม่รู้จักพอนี่แหละ คิดว่ามีมากแล้วดี แต่อันที่จริงแล้วการมีมากเราต้องรับผิดชอบมาก ยิ่งบางอย่างเราไม่สามารถรับผิดชอบได้เลย ดังนั้นจะไปมีมากให้มันหมดทุกอย่างกันทำไม อยู่แค่พอดีเท่าที่มี ไม่ลำบากจะไม่ดีกว่าหรือ

แต่นั่นแหละครับ ตอนจบหลังทุกอย่างผ่านพ้นไป เหมือนอินดี้ออกผจญภัยครั้งนี้แล้วได้ลูกได้เมียเป็นผลจากการผจญภัยเท่านั้นเอง ซึ่งถ้ามองในแง่หนึ่งก็ถือว่าอินดี้ได้ขุมทรัพย์ที่มีค่าที่สุดในบรรดาหนังทั้งสี่ภาคของเขาด้วยซ้ำ เพราะเขาได้ครอบครัวซึ่งไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่เขาเอาค้นหาของศักดิ์สิทธิ์ก็จริง แต่ไม่มีอะไรไหนแม้แต่ชิ้นเดียวที่เป็นของเขา หรือเกิดมาเพื่อเขา ต้องมาภาคนี้แหละ ถือว่าได้อะไรติดมือมาเต็มๆ แต่หนังกลับไม่ได้สื่อให้เกิดอารมณ์ว่าอินดี้ได้ของมีค่าที่สุดแล้วเท่าไรเลย

ไม่เหมือนตอนดู Hook หนังของ Spielberg ที่เขียนต่อยอดเรื่องราวของปีเตอร์แพนว่ามีลูก มีครอบครัว ผมว่าอันนั้นตอนจบยังรู้สึกเชื่อว่าปีเตอร์แพนไม่ต้องการมีชีวิตอมตะหรือไม่ต้องการเป็นเด็กตลอดไปอีกแล้ว แต่เขาต้องการจะเติบโตต่อไป พร้อมเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลักต่างหาก

บอกแล้วไงครับ พล็อตมันมีดีแฝงไว้เยอะ แต่การถ่ายทอดผมว่ายังไม่เต็มอารมณ์เท่าที่ควร ถ้ามันถ่ายทอดแบบครบๆ ดีๆ ล่ะก็ ผมว่าตำแหน่งภาคต่อยอดเยี่ยมเตรียมตกมาสู่อินดี้ภาคนี้ได้เลย

ไม่รู้เป็นเพราะการยำที่เร่งรีบหรือเปล่านะครับ เพราะแม้จะใช้เวลาตั้ง 19 ปี แต่เอาเข้าจริงใช้เวลาแค่ไม่ถึงปีในการร่างบท (ก็ที่ Ford ประกาศไงครับว่าถ้าไม่ทำก่อน 2008 เขาจะไม่เล่นแล้ว ทีมงานเลยเจ้าเข้ารีบยัดบทกันใหญ่) แล้วการยำบทนั่นก็มาจากการที่ Koepp หยิบจุดเข้าท่าจากบททั้งหลายที่มีการสร้างสรรค์มาหลายฉบับตลอด 19 ปีมายำเข้าด้วยกัน มันเลยมีที่เนียนบ้างและไม่เนียนบ้าง เช่นนี้แหละ

ฝีมือของ Spielberg ผมว่าก็ยังมีดีอยู่ล่ะครับ เพียงแต่ด้วยบทที่ยังไม่เข้าที่นัก เลยทำให้อะไรมันเกินๆ ขาดๆ แต่หากไม่คิดมากก็ถือว่าเป็นงานระยะหลังที่สนุกน่าพอใจของเขา หรือหากมองอีกแง่ก็ต้องบอกว่า อินดี้ภาคนี้ไม่ใช่แค่ภาคต่อของ Indiana Jones แต่เป็นภาคสรุปรวมผลงานดังๆ ของเขาทั้งหมดไม่ว่าจะ E.T., Close Encounters of the Third Kind เข้ากับอินดี้ มากกว่า เรียกว่าพี่แกชอบเรื่องอะไรก็ใส่ลงไปเต็มที่ครับ ทำเองสนุกเองน่ะว่างั้นเถอะ

อีกอย่าง Spielberg ไม่ต้องกลัวอะไรแล้วครับ ทำหนังมาจนป่านนี้ ยังไม่ค่อยได้ทำอะไรตามใจฉันเลย (ทำแล้วก็เจ๊งอย่าง 1941) เลยขอมันอีกสักที ทำแบบตามใจต้องการ อย่างน้อยก็ไม่เสียชาติเกิดที่มาเป็นผู้กำกับครับ

เอาใจคนดูมาเยอะ ขอเอาใจตัวเองบ้างแล้วกัน

แต่โดยส่วนตัวผมอยากให้พี่อินดี้แกไปหาทวีปแอตแลนติสอะไรทำนองนั้นจังเลยครับ ได้แต่หวังว่าภาคต่ออาจจะมีก็ได้ เพราะทิ้งเชื้อไว้แล้วนี่ อีกทั้งรายได้ก็คงโกยตามเคย โอกาสสร้างอีกน่าจะมีสูง

สรุปนะครับ ถ้าไม่คิดมาก ผมว่าภาคนี้ก็เป็นการสานต่ออินดี้ได้ไม่เลว แต่ยังไม่ดีนัก ต้องหักครึ่งแรกที่ไม่เร้าใจนัก (ตอนเข้าไปเจอฟรานซิสโก้นั่น ธรรมดาเกินไป) การเชื่อมระหว่างภาคนี้กับอินดี้ตอนก่อนๆ ก็ไม่มาก แต่ก็ถือว่าพอมี เช่นที่อินดี้บอกว่าเขาเคยเรียนภาษาสเปนมาจากพันโช วิลล่า ซึ่งใครเคยดูซีรี่ส์ The Young Indiana Jones Chronicles จะมีหนึ่งตอนครับที่อินดี้ได้เจอพันโชวิลล่าจริงๆ (ไอ้ที่คนแปลบรรยายไทยดันแปลว่า ปันโจเวียน่ะแหละ พี่แปลมั่วอย่างแรงเลยนะครับขอบอก เมื่อวานยังนั่งบ่นกับอาตีตั๋วเลย แปลได้ยังไงเนี่ย)

ส่วนขุมทรัพย์ ถ้าเป็นระดับที่เห็นในจอ ก็ต้องบอกว่าเหมือนจะยิ่งใหญ่ แต่ยังไม่สุดครับ ยังซี๊ดให้มันเต็มขั้นได้อีกหลายขีด แต่นี่ซี๊ดแบบอั้นๆ เลยไม่สุด เสียดายเหมือนกัน

หนังเหมาะสำหรับคนที่ชอบหนังผจญภัยสไตล์เก่าๆ ครับ ถ้าคุ้นเคยกับหนังยุค 50 มาก่อนจะสนุกมากขึ้นอีกนิด อย่างเพลง Elvis มันส์ หรือฉากที่มัตต์ทำให้คนในผับยกพวกตีกันนั่น ได้อารมณ์นักเรียนนักเลงยุค 60 จริงๆ ผมล่ะนั่งฮาอยู่คนเดียวล่ะครับ ชอบดี พวกการย้อนยุคนี่ทำได้ไม่เลว

นอกจากนี้คนที่ชอบอินดี้ก็ไม่เสียหายที่จะตามไปเจอหน้าเขาอีกสักครั้งนะครับ อย่างน้อยเจอแกก็คุ้มแล้วล่ะ

แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่คุณอาจเห็น The Da Vinci Code หรือ National Treasure สนุกกว่าก็ได้ เพราะมันมีอะไรเร้าใจ มีการไขปริศนาเยอะ ใช้สมองเยอะน่ะครับ แต่กับอินดี้ภาคนี้ไม่ค่อยจะไขอะไรเท่าไร หรือต่อให้ไขก็นำเสนอแบบไขประตู แป๊บๆ ก็ไขได้ออกประตูไปแล้ว คนดูอย่างผมก็นั่งค้างเติ่งอยู่หน้าประตูประมาณว่า “นี่จะไม่ทำให้ผมตื่นเต้นหน่อยเหรอครับพี่”

แล้วแต่ความชอบครับ ส่วนผม มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ มีทั้งสมหวังและไม่สมหวัง เลยออกจะสนุกแบบกลางๆ แต่อย่างน้อยก็ไม่ถึงกับเลวร้ายจนเสียชื่ออินดี้ล่ะน่า ยังดูได้เพลินๆ ไม่ผิดหวังหรอก

สองดาวกว่าๆ ครับ

Star21

(6.5/10)

บันทึกเล็กๆ ก่อนรีวิว Indiana Jones 4 ของคนรักการรีวิวหนังเช่น หมื่นทิพ

(เขียนไว้หนึ่งวันก่อนที่จะรีวิว Indiana Jones ภาคนี้)

นี่คือวันเล็กๆ อีกวันของผม ที่มีรสชาติแบบที่ไม่ใคร่จะได้ประสบบ่อยนัก ผมเลยมีหน้าออกแนวยิ้มๆ แบบนี้ไงครับ

ผมดูมาแล้วนะครับกับ Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull การผจญภัยบทที่ 4 ของอินดี้ที่หลายคนรอคอย (ผมก็คอยครับ) ไว้จะรีวิวอย่างยาวเพราะมีเรื่องให้สาธยายหาน้อยไม่ แต่ถ้าว่ากันคร่าวๆ วินาทีแรกที่ผมดูเสร็จอารมณ์มันกระเดียดไปทาง “ก็สนุก แต่ไม่มาก” แต่พอเวลาผ่านไปอีกนาทีกว่าๆ ผมก็เริ่มทำใจปรับต่อมบางอย่าง จนพอจะพูดได้ว่า อินดี้ภาคนี้สนุกไม่เลว แต่ก็ยังไม่อาจเทียบชั้นกับต้นฉบับตอนก่อนๆ ได้ ด้วยหลายเหตุผลครับ เช่น ครึ่งแรกที่ไม่ใคร่จะน่าติดตามนัก กับพลังหนังที่ไม่มากมายดังคาด อะไรๆ ยังไม่เข้ากันดี แต่ก็เอาเถอะ ถ้าคิดซะว่าแวะมาเยี่ยมอินดี้ ก็พอจะทำใจให้อภัยได้

เอ แล้วถ้าผมไม่ได้เขียนถึงหนังอินดี้ 4 แล้วผมเขียนอะไรล่ะนี่

วันนี้นอกจากผมจะได้ไปดูอินดี้ 4 ในโรงตั้งแต่ 11.00 น.แล้ว ผมยังมีอีกหนึ่งนัดสำคัญ คือ การรับประทานอาหารเย็นกับนักวิจารณ์ระดับตำนานที่ผมอ่านมาแต่เด็ก และท่านก็คือแรงบันดาลใจหลักให้ผมรีวิวหนังมาจนทุกวันนี้ ใช่ครับ คืออาตีตั๋วนั่นเอง

การพบกันระหว่างผมกับอาไม่ใช่ครั้งแรก เพราะผมได้ร่วมงานกับอามาตั้งแต่ทำ Cinemagonline ตามมาด้วย COOL ที่แม้จะปิดตัวไปอย่างรวดเร็ว แต่ผมถือว่ามันคุ้มค่าเพราะผมได้ประสบการณ์และอย่างน้อยชาตินี้ก็พูดได้เต็มปากว่าเคยร่วมงานกับ ตีตั๋ว แห่ง เอนเตอร์เทนดั้งเดิมและ Cinemag มาแล้ว รวมถึงยังได้ร่วมงานกับพี่ยายบก.คนเก่งอีกด้วย

ครับ วันนี้ผมได้เจอทั้งสองท่าน พร้อมกับเจอเพื่อนพ้องที่ร่วมกันทำเว็บCinemagonline ได้แก่ พี่นพ เว็บมาสเตอร์คนเก่งที่นอกจากร่วมงานในเว็บนี้แล้ว ผมก็ยังเคยมีโอกาสได้ไปป้วนเปี้ยนในกองถ่ายหนังสั้นที่ได้รางวัลจากการประกวดหนังว่าด้วยอัลไซเมอร์มาแล้ว

สามารายแรกผมเจอหน้ามาหลายครั้งแล้ว และยังมีอีกสองรายที่ผมเพิ่งเจอหน้าเป็นหนแรก ได้แก่พี่ JasonSจัง ที่ชาวบล็อกและชาวพันทิพน่าจะจำได้ดีเพราะเขาอัพเดตรายได้หนังให้เราได้รู้กันมานานแสนนาน กับอีกหนึ่งคือสาวผู้มีนามปากกาว่า renton ที่ชาวบล็อกก็น่าจะคุ้นเคยอีกเช่นกัน เธอมีหนังนอกกระแสน่าสนใจมาบอกเล่าให้เราฟังเสมอ ผมเองก็ร่วมงานกับเธอทั้งที่เว็บและที่ Yarisme

ก็น่าเสียดายเหมือนกันที่พี่ Jediyuth อีกหนึ่งผู้ร่วมอัพเดต Cinemagonline ติดธุระมาไม่ได้ ก็หวังว่าจะได้พบเจอในโอกาสต่อไปนะครับ

แล้วพวกเราก็นั่งรับประทานอาหาร โดยที่อาตีตั๋วและพี่ยายมากันก่อนหน้านานมาก (เพราะทานอาหารล่วงหน้าพวกเราไปเรียบร้อย) แล้วผมกับพี่นพและพี่เจสันก็ค่อยตามมา ซึ่งก็ประหลาดดีครับเพราะมาไล่เลี่ยกันเลย จนหลงนึกว่ามาด้วยกันแน่ะ ส่วนคุณ renton ก็ตามมาช้านิดหน่อย แต่ก็ยังได้เจอหน้าพูดคุยกันพักหนึ่ง

มันเป็นบรรยากาศที่รู้สึกดีนะครับ คนที่ได้ทำงานที่เว็บเดียวกันเพิ่งได้มาเจอหน้ากันแบบเกือบครบเช่นนี้ ก็เหมือนคุ้นผ่านตัวอักษรแต่เพิ่งมาเจอหน้านั่นแหละ

พี่เจสันนั้นเป็นหนุ่มอารมณ์ดีที่ผมเองก็เพิ่งได้ทราบว่าดีกรีความสนใจและสะสมหนังสือหนังก็มากพอกัน ทำให้พี่เขาสนใจการอัพเดตรายได้หนัง ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ของง่ายนะครับ ต้องใจรักและสนใจมากทีเดียวถึงจะจำรายละเอียดแล้วร่ายได้อย่างน่าอ่านเช่นนี้

ส่วนคุณ renton ก็เป็นผู้รีวิวเขียนถึงหนังได้อย่างน่าอ่านอีกคน ผมประทับใจมากที่เธอเอ่ยปากชม (หรือยอก็ไม่รู้) ว่าผมเขียนรีวิวเก่ง ผมเองก็ตอบกลับไปว่า renton ก็เขียนเก่งเช่นกัน ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ เธอเขียนถึงหนังนอกกระแสมากมาย แต่เขียนให้น่าสนใจได้ หลายครั้งทีเดียวที่ผมอยากหาหนังเรื่องนั้นๆ มาดู ซึ่งผมว่าไม่ใช่ของง่ายนะ การเขียนหนังนอกกระแสให้คนรู้สึกอยากดูเนี่ย เป็นเรื่องที่ต้องใช้มากกว่าความสามารถทางการเขียนครับ ต้องใช้การเล่าอีกหนึ่งแรงเพื่อช่วยกระตุ้นความสนใจ ผมถึงบอกไงครับว่าเธอเก่งจริงๆ

การคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องหนัง สังคม การเมืองก็ดำเนินไปเกือบสามชั่วโมง ตั้งแต่หกโมงกว่าๆ ถึงเกือบสามทุ่ม เป็นบรรยากาศที่สนุกดีครับ คนชอบหนังเหมือนกันมาพูดเรื่องที่ชอบแบบแลกเปลี่ยน ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ก็ทำให้เกิดอะไรงอกงามขึ้นมาได้เหมือนกัน

สำหรับผมถือเป็นวาระที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ที่คนคอเดียวกันมาคุยกันเช่นนี่ และโดยความรู้สึกของผมแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าการได้สนทนากับอาตีตั๋วเป็นสิ่งดีๆ สำหรับผมจริงๆ

ผมมองว่าตัวเองช่างโชคดี คิดดูสิครับผมโตมากับหนัง แล้วก็โตมากับงานเขียนของอาตีตั๋ว และผมก็ได้รู้จัก เคยร่วมงานและได้คุยแบบตัวเป็นๆ… เหมือนเรื่องในนิยายไหมครับ เหมือนดาราหลายคนที่บอกว่าชอบสรพงศ์ หรือ สมบัติแล้วต่อมาก็ได้เจอตัวจริงน่ะแหละ

ผมได้อะไรจากการพูดคุยกับอาเยอะทีเดียว และก็ได้รู้ว่าอย่างน้อยผมกับอาก็ตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ไม่ลี้จากกันนัก ที่รู้สึกว่าชอบหนังเก่า คิดถึงหนังเก่า ส่วนหนังใหม่ไม่ใคร่จะสนุกตามไปด้วยนัก แม้แต่อินดี้ 4 ก็ยังรู้สึกด้วยอารมณ์ครือๆ กัน

อารมณ์ชอบของเก่านี่เข้าสิงผมมาพักใหญ่ๆ แล้วครับ สังเกตได้ว่าจะมีบางช่วงที่ผมหายไป บางทีหายไปนานมาก หนังใหม่ไม่ได้ดูเลย เพราะมัวแต่ไปสนุกกับรสชาติหนังเก่า ที่ผมว่ามันมีอะไรให้ค้นหามากกว่าของใหม่ๆ จนผมต้องมานั่งกระตุ้นตัวเองให้ดูหนังใหม่ๆ บ้าง เพื่อเอาสิ่งใหม่ๆ มาอัพเดตในบล็อก ไม่งั้นบล็อกผมคงมีแต่ของเก่า ฝุ่นจับไปหมด

จากการพูดคุยกันครั้งนั้นก็สัมผัสได้ครับว่าโอกาสที่จะได้ลองลิ้มงานตีตั๋วใหม่ๆ ของอาเขาคงมีอีกไม่เยอะ (ซึ่งหลังๆ ผมก็ไม่ได้อ่านตีตั๋วใหม่ๆ มานานแล้วล่ะ) แต่ไม่ว่าจะอย่างไรผมก็รู้สึกดีเสมอยามได้อ่านหรือรำลึกงานเก่าๆ ของอาเขา ผมยังมีฮีโร่ตีตั๋วในใจผมอยู่เสมอ

จากการพูดคุยในวันนั้น ด้วยอะไรหลายอย่างทำให้ผมรู้สึกมีพลังอย่างประหลาดที่จะทำงานเขียนตรงนี้ต่อไป นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ทำให้ดีที่สุดด้วยความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้

อาจจะด้วยอารมณ์เหมือนฉากสุดท้ายในอินดี้ 4 ด้วยล่ะกระมังเลยทำให้ผมรู้สึกอยากทำเช่นนั้น

แม้การทานอาหารค่ำจะจบลงไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะมีอีกไหม แต่ผมก็ถือว่าการพบกันครั้งนี้ ผมได้อะไรดีๆ อย่างน้อยก็แรงและไฟที่จะทำอะไรต่อไป รวมถึงแนวทางดีๆ ที่อาแนะนำผมเสมอด้วย

การเขียนรีวิวอินดี้ 4 คงเรียบร้อยพรุ่งนี้มั้งครับ ผมยังไม่กล้ารับประกัน เพราะพรุ่งนี้ก็ต้องทำงานอยู่… แต่รับประกันอย่างหนึ่งว่าผมคงจะรีวิวให้คุณๆ อ่านไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็น่าจะสิบปีล่ะน่า

สามดาวครับ เอ้ยไม่ช่าย

แล้วเจอกันครับ