The Eight Hundred

The Eight Hundred นักรบ 800

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับโครงสร้างจนถึงบุคคล ตั้งแต่สถานที่ฉายหนังจนถึงกระบวนการถ่ายทำ เราเลยได้เห็นหนังหลายๆเรื่องที่ควรจะได้ดูในปีนี้ถูกเลื่อนไปปีหน้า หรือกระทั่งเรื่องที่เลื่อนจากต้นปีมาช่วงนี้ ก็ถูกเลือกซ้ำขยับออกไปอีกด้วยเช่นกัน จนต้องยอมรับเลยว่าปีนี้เป็นปีที่มีหนัง Blockbuster ให้ดูไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะมีให้เห็นอยู่บ้างแต่ก็เป็นปีที่ดูซบเซา ไม่มีโปรแกรมยักษ์ๆ เข้าเท่าไหร่ (ซึ่งก็มีตัวอย่างหลายๆเรื่องที่วัดใจเข้าฉาย และบาดเจ็บมาให้เห็นแล้ว)

การมาของ “The Eight Hundred” หนังสงครามดราม่าจากจีนจึงทำให้เราสนใจ และอยากดูมากๆ คือตอนได้ยินพล็อตรู้สึกเฉยๆ รวมถึงความเป็นหนังจีนด้วย แต่พอได้ดูตัวอย่างจริงๆ ก็พบว่างานสร้างมันอลังการมากๆ ใหญ่ในระดับเดียวกับหนังฮอลลีวูด คือทั้งแพง ทั้งคราฟต์ ซึ่งพอได้มาดูจริงๆก็ยิ่งรู้สึกแบบนั้น คือท่ามกลางปีนี้ที่ไม่มีอะไรใหญ่ๆให้ดูเท่าไหร่ นี่คือหนังที่ทุกคนควรเข้าไปสัมผัสในโรงภาพยนตร์มากๆ (จนเสียดายที่ไม่ได้ฉาย IMAX)

The Eight Hundred ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของกลุ่มกองกำลังปฏิวัติของจีนที่ยืนหยัดสู้กับทหารญี่ปุ่นจำนวนมากในช่วงสงครามปี ค.ศ. 1937 โดยตัวเองมีจำนวนเพียงแค่ 400 กว่าคน (แต่หลอกว่าเป็น 800) พวกเขาปักหลักอยู่ที่โกดังเก็บอาวุธริมแม่น้ำที่อีกฟากเป็นเขตพื้นที่เช่าสากล (ที่ให้ประชาชนลี้ภัยเข้าไปหลบ ห้ามมีการต่อสู้หรือฆ่ากันในบริเวณนี้) โดยโฟกัสที่ระยะเวลา 4 วันของการต่อสู้ที่นองเลือด ถูกถาโถมจากกองทัพญี่ปุ่นทุกทิศทาง ทุกกลยุทธ์ หนังเลือกเล่าผ่านกลุ่มทหารหน้าใหม่ที่ส่งมาจากนอกเมือง เป็นครอบครัวชาวนาที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวแต่ถูกเกณฑ์ให้มารบ ก่อนจะค่อยๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจในชีวิตของทหารที่นี่ ที่พร้อมจะต่อสู้ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งการสละชีวิตของตนเองก็ตาม

สิ่งแรกที่อยากพูดถึงคืองานสร้าง แบบโอ้โห นี่น่าจะเป้นหนึ่งในหนังจีนที่เรารู้สึกว่ามันฮอลลีวูดมากๆ เรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่แค่หนังมีทุนสร้างมหาศาล (80 ล้านดอลลาร์) แต่เพราะพวกเขายังมีทีมงานเบื้องหลังที่สามารถรังสรรค์หนังออกมาได้ในระดับนี้ ไม่ว่าจะในส่วนของการเล่าพื้นที่สมรภูมิ ซากปรักหักพัง จนถึงบ้านเมืองที่อยู่อีกฟากนั้นดูดีไปหมด ยิ่งหนังพยายามเล่าถึงความเป็นพื้นที่ อาณาเขต ความคนละขั้วของมนุษย์ที่อยู่สองฝั่งยิ่งทำงานกับหนังมากๆ รู้สึกได้เลยว่าหนังตั้งใจในทุกๆ ดีเทล พยายามดีไซน์สิ่งใหม่ๆ ให้กับคนดูอยู่ตลอด

แม้ว่าหนังทั้งเรื่องจะเล่าอยู่ในพื้นที่เดิมๆเกือบ 90% แต่เราจะได้เห็นการสำรวจใหม่ๆที่เกิดขึ้นกับหนังอยู่ตลอด ทั้งห้องต่างๆในโกดัง ตึกต่างๆในชุมชน ที่ต่างมี Aesthetics ในทางของตัวเอง เรารู้สึกว่างานสร้างมันแข็งแรงพอที่จะทำให้รู้สึกว่าได้เรากำลังมาดูหนังสงครามคุณภาพเรื่องหนึ่ง เหมือนกับเวลาเราตีตั๋วไปดูหนังฮอลลีวูด (ซึ่งจริงๆก็ไม่ค่อยมีหนังในสเกลนี้ เวย์นี้ให้ดูแล้วด้วย)

หนังมีสองก้อนเรื่องที่เคลื่อนที่ไปพร้อมกันนั่นคือความเป็นหนังสงครามเอาชีวิตรอด การพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องสถานที่ที่ชวนให้นึกถึงองค์ท้ายของ Saving Private Ryan (1998) และอีกก้อนคือการพูดถึงวิกฤตศรัทธาในชาติของประชาชนชาวจีนที่กำลังอยู่ในสถานะของผู้พ่ายแพ้ ที่ค่อยๆลุกขึ้นมาต่อสู้ และทำอะไรสักอย่าง เมื่อได้เห็นเหล่ากองกำลังปฏิวัติพยายามต่อสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย (ในช่วงนั้น หลังผ่านพ้นการต่อสู้มาสามเดือน ทุกคนคิดว่ากองทัพจีนยอมแพ้ไปแล้ว ทุกคนคิดว่าทหารถอยทัพออกจากเมืองไปหมดแล้ว) คือเรารู้สึกว่าโจทย์ของหนังมันเลี่ยน เมสเสจมันก็เลี่ยน แต่วิธีการผสมมันออกมากลมกล่อม ด้วยความที่งานสร้างมันแข็งแรง ขับเน้นศักยภาพที่ตัวเองมีออกมาสุดๆ มันเลยช่วยลดทอนหลายๆอย่างลงไปได้

หลายๆ Execution ก็มีความแนบเนียน เกลี่ยให้เข้ากับหนังได้อย่างพอดิบพอดี แม้ว่าจะมีความมึนๆงงๆในความเยอะก็ตาม ความรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังของ โรแลนด์ เอมเมอริช หรือ ไมเคิล เบย์ ที่เล่าหลายตัวละครเยอะๆ จากหลายๆ Perspective แต่เรารู้สึกว่า The Eight Hundred มันทอนความประดักประเดิดไปได้บ้าง ไม่รู้ว่าเพราะตัวละครรองมันเยอะมากๆ หรือว่าเขาจัดวางดี คือมันก็จะมีความฮาๆ ประหลาดๆอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ (ส่วนตัวจะฮาตัวละครแบบพ่อครัวใน Pearl Harbor คือวิธีการจัดวางตัวละครมันประหลาดมากๆ)

ชอบตัวละครหลายๆคนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเซ็ตทีมทหารที่เลือกจะเล่าผ่านเหล่าคนไม่เอาไหนในช่วงแรก หนังไม่ได้โฟกัสเรื่องของความกล้าหาญตั้งแต่เปิดเรื่อง แต่เลือกจะให้คนดูอยู่ในสถานะของผู้ร่วมเหตุการณ์ที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราว อยู่ๆก็ต้องมาปกป้องโกดัง ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นนับพันที่เดินทัพเข้ามาไม่หยุด ก่อนจะค่อยๆหยอดประเด็นเรื่องของชาติ ภารกิจสำคัญของกองทัพที่ต้องประคับประคองโกดังนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่โกดัง หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของความหวังต่อประชาชนชาวจีนด้วย

หนังค่อยๆ ทำให้คนดูรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในโกดังเป็นเรื่องของทุกคนชาวจีน ไม่ว่าจะทหารฝั่งหนึ่ง หรือประชาชนที่อยู่อีกฝั่ง ไม่ว่าจะคนจน หรือคนชนชั้นสูง ทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญในการต่อสู้กับญี่ปุ่น ทุกคนคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยศรัทธาที่ครั้งหนึ่งเคยสูญเสีย เราเลยได้เห็นการปลดล็อกของเหล่าตัวละครที่พยายามออกมาทำตัวให้มีประโยชน์ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง หรือเรียกง่ายๆว่ามันคือหนังที่พูดถึงการสร้างชาติ ก่อร่างสร้างประเทศจากเศษซากแห่งความพ่ายแพ้ที่ทุกคนเผชิญมา

หนังพูดถึงความจีนอย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่ความจีนในแบบของรัฐ แต่เป็นการพูดถึงความเป็นชาติ ความเป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน การต่อสู้นับร้อยนับพันปีที่นิยามความเป็นจีน สงครามนี้อยู่เหนือเรื่องการเมือง แม้จะมีใครบอกว่าสงครามก็คือการเมืองก็ตาม หนังพยายามพูดถึงการร่วมแรงร่วมใจของมวลชนที่ต่อสู้ในเส้นทางของตัวเอง กอบกู้ศรัทธา หรือศักดิ์ศรีของชาติด้วยการไม่ยอมแพ้ เงื่อนไขการต่อสู้ในหนังน่าสนใจมากๆ

อาทิ การพยายามประคับประคองธงชาติที่กำลังจะโค่นล้ม เรารู้สึกว่าเส้นเรื่องเหล่านี้ทำให้หนังสนุก และเคลื่อนที่อยู่ตลอดแม้ว่าจะอยู่ที่พื้นที่เดิม , หนังมีพาร์ทการเมืองอยู่สองมุม คือสงครามในมุมของสากลโลก กับสงครามในมุมของรัฐจีน การพยายามต่อสู้ของทหารกลายเป็นสารสำคัญที่ส่งต่อไปยังการเจรจาทางการทูต (หนังเล่าผ่านคนต่างชาติเยอะ ชาวยุโรปที่ทั้งเดินทางไปดูสงคราม ไปถ่ายภาพ ไปพนันนั่นนี่) และในมุมของจีน พวกเขาเองก็มีเกมการเมืองที่ต้องเล่นเช่นกัน

The Eight Hundred ชัดเจนในเมสเสจสำคัญที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชม การเป็นหนังสงครามที่พูดถึงการเชิดชูชาติ เชิดชูเหล่าบุคคลที่เป็นตัวแทนของความเป็นจีน การต่อสู้แบบไม่กลัวตาย พร้อมจะสละชีวิตเพื่อสานต่ออุดมการณ์สำคัญที่เหนือกว่าตัวพวกเขา แต่เมื่อถูกนำเสนอออกมาในสายตาที่น่าสนใจ และงานสร้างที่มโหฬารทำให้มันเป็นงานสงครามเอพิกที่น่าประทับใจ และสามารถไต่ไปสู่เป้าหมายสำคัญที่ตัวเองต้องการได้ หนังสนุก ตื่นเต้น และดราม่ากลมกล่อม อาจจะมีหลายๆช่วงที่ไม่ลงตัว แต่ต้องยอมรับว่านี่คือหนังในสงครามที่น่าสนใจมากๆของโลกในรอบหลายปี มันให้ความรู้สึกเหมือนกับการดู Hacksaw Ridge (2016) แต่ดีกว่าในทุกๆ ทาง