The Edge of Seventeen (2016)

18301904_1625714460792682_5562318996923021195_n

เรื่องนี้โดนใจผมเต็มเปาเลยครับ เริ่มจากแนวที่เป็น Coming of Age แบบเต็มตัว เป็นเรื่องของชีวิตช่วงหนึ่งของใครสักคนที่ต้องเจอกับทางแยก เจอกับจุดวิกฤติที่จะส่งผลต่อตัวเองไปอีกนานแสนนาน (หรืออาจจะตลอดไปเลยก็ได้)

หนังแบบนี้เข้าทางผมครับ ดังนั้นหากผมจะแสดงความชื่นชอบหรืออวยมากสักหน่อยก็อย่าแปลกใจครับ เพราะคนมันชอบจริงๆ และหนังยังทำออกมากลมกล่อมกำลังดีในแบบของมันด้วย ซึ่งบอกเลยครับว่าหนัง Coming of Age ที่เวิร์กๆ น่ะ มีออกมาไม่บ่อยครับ ดังนั้นพอมีออกมาทั้งทีแล้วดีโดนใจ ก็เลยอยากขออวย (ด้วยหัวใจ) กันหน่อยครับ

ตัวเอกของเรื่องคือ เนดีน (Hailee Steinfeld) สาวน้อยวัย 17 ที่กำลังเจอวิกฤติทางอารมณ์+สังคม+ความรู้สึก+ฮอร์โมน+ชีวิต+ฯลฯ ตั้งแต่การสูญเสียคนที่เธอรักและเคารพไป แล้วเพื่อนรักตั้งแต่เด็กของเธออย่าง คริสต้า (Haley Lu Richardson) ก็ยังไปหลงรักกับคนๆ เดียวในโลกที่เนดีนไม่อยากให้คริสต้าไปหลงรักด้วย

ไหนจะมีเรื่องกับพี่ชาย (Blake Jenner) ที่ไม่เคยเข้ากันได้ และคุณแม่ (Kyra Sedgwick) ก็ยังทำกับเธอเหมือนเด็กเล็กๆ ไหนจะเรื่องในโรงเรียนและอื่นๆ อีกมากมาย จนเธอรู้สึกไม่ไหวจะเคลียร์กับชีวิต และมันคือจุดวิกฤติที่นำมาสู่การเรียนรู้ครั้งสำคัญของเธอ

นี่เป็นหนังที่ผมอยากให้วัยรุ่นได้ดูกันครับ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพราะผมเชื่อว่าหลายท่านเจอเรื่องแบบนี้ อย่างวัยรุ่นเองก็อาจรู้สึกว่าคนรอบตัวไม่เข้าใจเราเลย หรืออาจคิดว่าโลกนี้ทำไมมันแย่แบบนี้ เราอุตส่าห์ทำดีที่สุดแล้วนะ แต่ทำไมชีวิตถึงยังแย่อยู่เลยล่ะ

หรือกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อาจปวดหัวกับช่วงพายุบุแคมของวัยรุ่น ช่วงที่การสื่อสารกับลูกเป็นปัญหาระดับชาติ ทำมากไปก็ไม่ได้ ทำน้อยไปก็ไม่ดี ไม่ทำเลยก็ไม่ได้อีก จะขอคำปรึกษาจากคนอื่นก็เหมือนจะช่วยอะไรไม่ได้มาก รู้สึกประหนึ่งมืดแบบ 108 ด้านยังไงยังงั้น

หนังเหมือนสร้างจากชีวิตจริงของชีวิตเราๆ ท่านๆ เลยครับ หยิบเอาประเด็นน่าสนใจมานำเสนอได้อย่างพอเหมาะ คือถ้าจะดูเพื่อวิจัยวัยรุ่น-สังคม-พ่อแม่นี่ได้เลยครับ รับรองท่านต้องได้แง่มุมเก็บไปคิดเยอะแยะแน่นอน

หนังเขียนบทและกำกับโดย Kelly Fremon Craig ซึ่งนี่เป็นงานกำกับเรื่องแรกของเธอครับ โดยก่อนหน้านี้เธอเคยฝากผลงานเขียนบทไว้ใน Post Grad ซึ่งเรื่องนั้นมีประเด็นตั้งต้นที่ดีครับ หนังตั้งคำถามว่าถ้าเรียนจบแล้วไงต่อ เพียงแต่คนกำกับยังต่อยอดประเด็นที่เธอเขียนไว้ไม่ดีนัก หนังเลยไม่เข้าเป้าเท่าไร จนมาเรื่องนี้เธอกำกับเอง อะไรๆ เลยจัดออกมาตรงเป้ามากขึ้น

และที่สำคัญคือมันดูสนุกด้วยครับ เพลินมากๆ รสชาติที่นำมาเลยคือ “ความฮา” ครับ หนังฮาได้เรื่อยๆ แล้วก็มีดราม่าแทรกมาแบบพอเหมาะ เป็นหนังแนววัยรุ่นที่ครบรสเหลือหลาย คือมีทั้งเรื่องเพื่อน เรื่องครอบครัว และเรื่องเพศ จัดว่ามีครบถ้วน แต่ก็ไม่ล้ำเส้นจนเกินงามครับ

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศที่จริงๆ ก็มีการพูดถึงในหนังค่อนข้างเยอะนะ แต่เป็นการนำเสนอแบบมีวุฒิภาวะ นำเสนอแบบสะท้อนความจริงและชวนให้คิดใคร่ครวญ มากกว่าจะเอามาเล่นเป็นมุกฮาเลื่อนเปื้อนแบบที่หนังวัยรุ่นชอบทำกัน ดังนั้นหากจะมีการเอาไปทำเป็นหนังสอนเพศศึกษา ผมว่าก็ได้เหมือนกันนะ

ผมหลงรัก Steinfeld แบบเต็มๆ ก็เรื่องนี้ล่ะครับ เธอแสดงได้สดใส น่ารัก แต่สมบทบาทมาก เธอเป็นเด็กสาวที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล คิดว่าทุกอย่างที่เธอทำน่ะถูกแล้ว ซึ่งหนังก็สะท้อนให้เราเห็นล่ะครับว่าจริงๆ แล้ว เธอก็ไม่ได้ทำถูกทั้งหมดหรอก และหลายๆ ปัญหาที่เธอต้องเจอก็เนื่องมาจากการกระทำ “แบบที่เธอคิดว่าถูก” นั่นแหละ

แก่นสำคัญของหนังคือการชี้ชวนให้เราทบทวนตัวเองให้ดีๆ ครับ อย่างแรกเลยคือพิจารณาว่าเราน่ะคือใคร เราเป็นคนแบบไหน เพราะ “ชีวิตที่เรามี” มันก็คือผลพวงจาก “สิ่งที่เราเป็น” นั่นแหละหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น มันก็เกิดจากการตัดสินใจของเรา

เราอาจคิดว่า “ฉันจะเป็นของฉันแบบนี้ ใครจะทำไม” ซึ่งเราก็เป็นได้แหละครับ แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก มันยังมีคนอื่นอยู่รอบตัวเราด้วย และบางสิ่งที่เราชอบ คนอื่นอาจไม่ได้ชอบ อีกทั้งการที่เราเป็นตัวเราอย่างที่เราต้องการ มันอาจทำให้หลายๆ คนไม่อยากยุ่งกับเราก็ได้ เพราะบางครั้งเราก็อาจเอาเปรียบคนอื่นหรือไปล่วงล้ำคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

หรือเราอาจคิดถึงตัวเองมากจนลืมไปว่าคนอื่นเขาก็มีสิทธิ์จะไม่ชอบเราได้เหมือนกันนะ และจริงๆ แล้วคนอื่นเขาก็มีสิทธิ์เลือกชีวิตในแบบของเขาเองเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องยอมตามเราเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่ว่าเขาจะต้องยอมไม่ทำบางเรื่อง เพียงเพราะเราไม่อยากให้เขาทำ ฯลฯ เนี่ยครับ หนังชี้ชวนให้เรามองเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบทีเดียว

Steinfeld คือพลังสำคัญของหนังเลยครับ บทที่เธอแสดงคือสาวน้อยที่ออกจะกะเปิ้บๆ สักหน่อย ไม่เน้นสวยแต่เน้นเป็นตัวของตัวเอง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น Steinfeld เล่นได้พอเหมาะ เธอถ่ายทอดบทสาวน้อยเอาแต่ใจ+คิดว่าตนเป็นศูนย์กลางจักรวาลได้แบบถึงเครื่อง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ดูน่ารำคาญแต่อย่างใด (ทั้งที่หลายๆ พฤติกรรมของเธอนั้น ชวนให้หมั่นไส้ รำคาญ และน่าอยู่ให้ไกลหลายๆ กิโล)

อันนี้ผมถือว่าเธอเก่งนะ เพราะบททำนองนี้ถ้าใครตีบทไม่ถูกจุดล่ะก็ พอตอนแสดงออกมาถ้าไม่แรงเกินจนรู้สึกน่ารำคาญพาลให้เกลียดไปเลย (แบบคุณหนูเอาแต่ใจที่เรามักเจอบทจอทีวีบ้านเราอยู่บ่อยๆ) ก็จะจืดเกินจนสัมผัสไม่ได้ว่าเธอเอาแต่ใจ ก็ขอชม Steinfeld เลยครับ เธอเอาอยู่จริงๆ สำหรับหนังเรื่องนี้ จนพอเข้าใจว่าทำไมถึงได้เข้าชิงลูกโลกทองคำในปีนี้

ดาราร่วมจอรายอื่นก็เล่นกันได้ดีครับ อย่าง Woody Harrelson ก็มาโทน “น้อยแต่แน่น” ขโมยซีนได้ในหลายวาระ เขารับบทเป็นคุณครูบรูเนอร์ ที่ต้องเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิต (แบบจำใจ) ให้กับเนดีน ซึ่งหลายๆ วาระพี่แกก็ทำได้ฮาแบบไม่ต้องออกแรงน่ะครับ

ผมชอบที่หนังไม่กำหนดให้ครูบรูเนอร์เป็นครูพ่อพระที่แสนดีใจงามหรือโลกสวย (แบบนั้นมันจะดูหลอกเด็กไปหน่อย) แต่เขาจะออกแนวผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกความจริงมามากมาย จนเข้าใจในความดีแย่ของโลก และเข้าใจว่าทำไมเนดีนถึงไม่โอเคกับชีวิต แต่เขาก็ไม่ได้สอนแบบตรงๆ ทว่าเขาทำหน้าที่เหมือน “เพื่อน” ที่คอยอยู่ข้างๆ คอยรับฟังและ “แนะนำด้วยการไม่ชี้นำ” ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวละครนี้ออกมาน่ารักกำลังเหมาะเลยครับ

Sedgwick ก็เวิร์กดีกับบทแม่ขี้บ่น (แต่หวังดี) ผมชอบฉากตอนท้ายสุดที่เธอส่งข้อความผ่านมือถือน่ะครับ (ที่ใครดูแล้วน่าจะรู้ว่าคือฉากไหน) มันเป็นฉากง่ายๆ ที่สอนพ่อแม่ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะจริงๆ เราก็ดูแลลูกไม่ได้ทั้งชีวิตหรอก มันต้องให้เขาลองผิดลองถูกเองซะบ้างถึงจะเกิดการเรียนรู้ ดังนั้นบางทีสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะมอบเป็นมรดกให้ลูกได้คือ “การไว้ใจให้ลูกลองเรียนรู้ชีวิตเอง”

Jenner กับ Richardson ออกแนวบทสมทบครับ การแสดงอาจไม่ถึงกับเด่น แต่ก็เสริมความดีให้หนังได้ แล้วก็ Hayden Szeto ในบทเออร์วิน หนุ่มเอเชียที่ดูเนิร์ดๆ หงิมๆ ที่เข้ามาพัวกันกับเนดีน ในแง่การแสดงก็อาจมีส่วนที่ดูแข็งอยู่บ้าง แต่ไปๆ มาๆ ความแข็งๆ หงิมๆ ของคาแรคเตอร์กลับทำให้ตัวละครนี้ดูเด่นไม่น้อย

The Edge of Seventeen เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่ผมได้ดูในระยะหลังๆ แล้วพูดได้เต็มปากว่า “ผมมีความสุขหลังดูจบ” สุขแรกก็เพราะสุขใจที่มีคนทำหนังแบบนี้ออกมาให้ได้ดูกัน และทำออกมาดีซะด้วย สุขที่ 2 คือหนังทำออกมาสนุก ดูเพลิน ดูแล้วขำ แต่ก็ได้เนื้อหาสาระแบบครบรส

สุขที่ 3 คือ หนังทำให้เราย้อนมองชีวิตตัวเองครับ มันทำให้เราตระหนักว่าชีวิตคนเรามันก็มีดีแย่ผสมกันไปนั่นแหละ บางช่วงก็ดีมาก บางช่วงก็แย่ซ้ำซ้อน แต่หากเรามีสติเพียงพอที่จะเรียนรู้จะมัน เราก็จะหลีกเลี่ยงทุกข์ได้เก่งขึ้น เราจะตั้งรับต่อความผิดหวังได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น

ตอนเรายังเด็ก เงื่อนไขความสุข-ทุกข์ของเราอาจไม่ซับซ้อนนัก แต่พอโตขึ้นแล้วมันก็มีอะไรมากขึ้น ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่เพราะเราอย่างเดียวหรอกครับ แต่เพราะสถานการณ์ เพราะคนรอบตัว เพราะสังคมรอบข้างมันมีส่วนให้เงื่อนไขเราเปลี่ยนไป และเราก็อาจคิดว่า “เพราะชีวิตมันยากขึ้น เราเลยรับมือกับมันได้ยากขึ้น”

แต่อย่าลืมครับว่าเราก็โตขึ้นทุกวันนะ เราอาจรับมือกับบางปัญหาไม่ได้ในวันนี้ แต่เราก็ยังสามารถเรียนรู้+ฝึกฝน+ใคร่ครวญที่จะรับมือกับมันให้ได้ดีขึ้นเช่นกัน ขอเพียงเราไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม ลองยกให้อดีตและปัญหาเป็นครูดูซักตั้ง แล้วก็เรียนรู้ให้เข้าใจจากสิ่งเหล่านั้น ต่อให้เราไม่สามารถรับมือกับมันได้อย่างมืออาชีพในตอนนั้น แต่อย่างน้อยเราก็จะเข้าใจมันมากขึ้น และนั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวของเราได้มากขึ้นในครั้งต่อไป

และเราต้องไม่ลืมพิจารณาตนเองครับ จริงที่โลกรอบตัวอาจเป็นปัญหาที่ทำให้ชีวิตเราอยู่ยากขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าตัวเราเองก็อาจมีปัญหาหรือมีจุดที่ควรปรับแก้เช่นกัน

บางครั้งชีวิตก็เหมือนอยู่ในเขาวงกตน่ะครับ เราต้องมองหลายๆ ทางและหลายๆ มุมถึงจะหาทางออกได้ หากเรายังมัวแต่มองมุมเดียว, ใช้เพียงวิธีเดียว หรือเดินซ้ำๆ ย่ำอยู่แค่เส้นทางเดียว เราก็จะไม่มีวันออกจากวงกตที่ว่าได้เลย

หากเราอยากมีชีวิตที่ดีกว่าเมื่อวาน มันต้องเริ่มจากวันนี้เท่านั้นครับ ^_^

สรุปอีกที นี่คือหนังที่ผมชอบมากและอยากแนะนำให้ทุกท่านได้ชมกันครับ มันอาจนำคำตอบบางอย่างของชีวิตบางที่ท่านค้นหามานานมาสู่ท่านก็ได้

สามดาวครับ

Star31

(8/10)