Greed

Greed

เป็นหนังที่เราตั้งใจจะดูตอนมันเข้าโรงแต่ไม่ทัน ผ่านมาจนเกือบจะลืมไปแล้วแต่วันนี้เห็นใน TrueID พอดี เลยคิดว่าต้องดูซะหน่อย  “Greed” เป็นภาพยนตร์ คอมเมดี้-ดราม่า จาก “ไมเคิล วินเทอร์บอตทอม” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ เซอร์ริชาร์ด แมคเครดี อภิมหาเศรษฐีแห่งวงการค้าปลีกเสื้อผ้าที่สร้างอาณาจักรขึ้นมาด้วยสองมือของตัวเอง โดยหนังจะโฟกัสไปที่ช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนงานเลี้ยงฉลองวันเกิดปีที่ 60 ของเขา ซึ่งหาใช่งานเลี้ยงฉลองทั่วๆ ไป แต่เป็นหนึ่งในปฏิบัติการชุบตัวของเขา ภายหลังการสูญเสียภาพลักษณ์จากเหตุการณ์ฉาวที่เขาไปให้การต่อวุฒิสภา

Greed เป็นภาพยนตร์ที่มีทุกอย่างที่เราชอบเลย มันเป็นหนังที่พูดถึงธุรกิจ อุตสาหกรรมในแบบของกลไก คนดูจะได้เห็นกลวิธีที่ริชาร์ดใช้ในการต่อสู้เพื่อให้ตนกลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดมาจากความสามารถเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนิสัย และตัวตนของเขาด้วย (ชอบที่หนังมี Flashback เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เราได้เห็นเขาในช่วงวัยรุ่นที่ชื่นชอบการพนัน และทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงิน) รวมถึงเทคนิคสำคัญที่หนังใช้เล่าอย่าง Mockumentary ก็สนุกมากๆ

การที่หนังพยายามแสร้งว่าตัวเองเป็นสารคดี เรื่องทั้งหมดคือความจริงทำให้ความตลกอันขมขื่นไปไกลขึ้นมาก เพราะในขณะที่ตัวละครเซอร์ริชาร์ดเป็น Fictional Charac-ter แต่บริบทที่เกิดขึ้นในหนังกลับเป็นเรื่องจริง (หรือกระทั่งตัวละครเซอร์ริชาร์ดเองก็ถูกถอดแบบมาจากเศรษฐีด้วย) มันเลยออกมาเป็นหนังที่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน เสียสติ ประสาทแดก แต่ก็สนุกมาก ๆ ในความแสบของคนทำ

หนังจับจ้องความหรูหรา ยิ่งใหญ่ โอหัง สลับกับความฟอนเฟะที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น โดยไล่เรียงไปตามการสัมภาษณ์ของ นิค นักเขียนที่ถูกจ้างมาให้ทำหนังสือชีวประวัติของริชาร์ด แน่นอนว่าสิ่งที่นิค(ต้อง)เขียนคือการถ่ายทอดแง่งามความดีในตัวริชาร์ด แต่ดูเหมือนว่าต่อให้สัมภาษณ์สักกี่คน วัตถุดิบในการเขียนก็แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย

ประเด็นนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในมุมของการเขียนหนังสือเท่านั้น แต่ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นกระบวนการประชาสัมพันธ์ของทีมพีอาร์ในแต่ละด้านที่ร่วมกันปั้นคอนเทนต์เพื่อสร้างแบรนด์ดิ้งให้กับตัวละครริชาร์ด รวมถึงธุรกิจของเขา ตั้งแต่การออกแบบงานเลี้ยง, รายการเรียลลิตี้ทีวี, การจัดงานมอบเงินให้พนักงานดีเด่น ซึ่งมันออกมาแสบมาก ๆ เพราะทุกอย่างถูกสร้างขึ้นได้ด้วยเงิน ในโลกของทุนนิยมเงินสามารถสร้างได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งภาพลักษณ์(ที่ย่ำแย่)ของคน และภาพลักษณ์ของคนก็จะสามารถตัวตนที่ดีของธุรกิจได้อีกที

เซอร์ริชาร์ดมีฉายาว่า “Greedy McCreadie” หรือ กรีดีจอมละโมบ เพราะแม้ว่าเขาจะรวยล้นฟ้าแค่ไหน สิ่งที่เขายังคงทำมาเสนอนั่นคือ การเอารัดเอาเปรียบแบบขูดเลือดขูดเนื้อ เราจะได้เห็นสารพัดเทคนิคทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ริชาร์ดใช้ในการต่อรองกับคู่ค้าทางธุรกิจแบบบ้าคลั่ง อะไรที่คิดว่าถูกแล้วต้องถูกกว่านั้น อะไรที่เหยียบย่ำคนอื่นอยู่แล้วต้องเหยียบย่ำให้หนักหนายิ่งกว่า ซึ่งก็นำไปสู่การพูดถึงเรื่องของมนุษย์ ชนชั้น ฐานะ ที่หนังพยายามเผยให้เห็นคอนแทรสอย่างเจ็บแสบ ในขณะที่คน ๆ หนึ่งไต่เต้าสู่การเป็นเศรษฐี คนอีกจำนวนกลับถูกกดทับเอาไว้ไม่ให้ไปไหนด้วยราคาจ้างแสนถูก และเวลาเข้างาน 12 ชั่วโมง

ประเด็นนี้หนังยกสองเคสมาพูดได้น่าสนใจ และรุนแรงสุด ๆ ประเด็นแรกคือประเทศศรีลังกา ที่ริชาร์ดเดินทางไปเพื่อติดต่อใช้แรงงานในการผลิตเสื้อผ้า ริชาร์ดเลือกประเทศนี้เพราะมีค่าแรงที่ถูก แต่ที่ว่าถูกแล้วสำหรับเขายังต้องถูกอีก หนังเปิดเผยว่าคนงานเหล่านี้ได้เงินเพียง 5-6 ดอลลาห์สหรัฐต่อการทำงานหนึ่งวัน แถมยังเป็นการทำงานที่บ้าคลั่ง ยาวนาน และถูกกดดันให้ต้องผลิตเป็นจำนวนมากกว่าปกติ การได้เห็นต้นต่อของแบรนด์เสื้อผ้าสุดหรู ชุดที่เซเลป ดารา คนดังสวมใส่ออกงานสังคม หรือเพื่อเพิ่มภาพลักษณ์ให้ตัวเองมีจุดเริ่มต้นมาจากตรงนี้ ทำให้หนังสยองขึ้นมาก (แม้ว่ามันจะถูกเล่าด้วยน้ำเสียงที่ตลกตลอดเวลา) ซึ่งไม่ใช่แค่กับศรีลังกาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเมียนนา และบังกลาเทศด้วย (ตามที่หนังกล่าวถึง)

ประเด็นที่สองคือผู้อพยพชาวซีเรีย แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเซอร์ริชาร์ด แต่การปรากฎตัวในฐานะ “สิ่งกีดขวาง” สำหรับงานเลี้ยงของเขาเป็นอะไรที่โหดร้ายมากๆ ชาวซีเรียจำนวนหนึ่งอพยพมายังกรีซ ใช้ชีวิตอยู่บนชายหาดแบบไม่มีที่ไป ความแร้นแค้น ไร้หนทาง กลับกลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างคอนเทนต์ให้กับพวกเขา

การใช้งานคนที่ต่ำต้อยกว่าเพื่อสร้างภาพลักษณ์ความดี เป็นอะไรที่เราอาจจะเคยเห็นได้บ่อยๆ (ไม่ไกลจากแถวนี้) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคุ้นชิน หรือการมองมันเป็นเรื่องปกติไม่เคยเกิดขึ้นในความรู้สึกเลย และยิ่งถูกนำเสนอให้ออกมา Absurd เลยยิ่งไปกันใหญ่มาก ๆ ทั้งตลก ทั้งขำไม่ออก สลับกันไปมาจนเสียสติ – การมีอยู่ของสองประเด็นนี้ช่วยผลักดันความรุนแรงให้หนังได้แบบทวีคูณ ยิ่งเราเห็นชีวิตของริชาร์ดเท่าไหร่ การมีอยู่ของพวกเขายิ่งน่าหดหู่มากขึ้นเท่านั้น ไม่นับรวม Text ตอนจบที่อาจทำให้ใครหลายคนจุกกว่าเดิม

Greed เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงธุรกิจแฟชั่น การค้าปลีก แต่ประเด็นภายในสะท้อนหลายๆ อย่างที่กว้างกว่านั้น มันพูดถึงความกลวงเปล่า ไร้สาระ ของสิ่งที่เรียกว่าภาพลักษณ์ที่ท้ายสุดกลับไม่มีอะไรจริงอยู่ในนั้นเลย (กระทั่งดาราที่เชิญมาร่วมยังเป็นคนหน้าเหมือน 555) เป็นหนึ่งในงานเสียดสีที่เจ็บแสบ ด้วยฟอร์มการเล่าแบบ Mockumentary ที่บางจังหวะก็จริงจัง บางจังหวะก็ปัญญาอ่อนไปเลย ส่วนตัวชอบหลาย ๆ ดีเทลในหนังมาก ทั้งตำนานกรีก, มุกหนัง Gladiator, คนงานต่างเชื้อชาติ, ราคาจ้างนักร้อง ฯลฯ อยากให้ลองไปดูกัน สำหรับเรามันคือหนังที่ชั่วร้ายมากๆ เรื่องหนึ่งเลย