Death Note (2017) เดธ โน้ต

MV5BMTUwOTgzMTEyOF5BMl5BanBnXkFtZTgwNTk3MTM5MjI@._V1_SY1000_CR0,0,666,1000_AL_

1)
มาแล้วครับ Death Note เวอร์ชั่นอเมริกัน ซึ่งผมก็ยอมรับว่าตอนดูตัวอย่างมันยังรู้สึกไม่โดนสักเท่าไร ส่วนจะ “ใช่” แบบต้นฉบับหรือไม่นั้นผมคงไม่สามารถตอบได้เพราะไม่เคยอ่านฉบับการ์ตูนเลย รู้แค่ว่าชอบหนังมากๆ (2 ภาคแรกน่ะนะครับ)

จริงๆ ผมเคยบอกตัวเองไว้แล้วนะว่าก่อนดูฉบับนี้ควรทำใจและล้างความคาดหวังกับล้างภาพฉบับหนังญี่ปุ่นออกไปก่อนดู แต่พอดีผมดูมันแบบกระทันหันน่ะครับ คือมันมาเมื่อวาน (ซึ่งผมลืมว่ามันจะมาเมื่อวาน 555) พอเจอแล้วก็ดูทันทีแบบลืมลดความคาดหวัง ก็เลยทำให้การดูช่วงต้นๆ ของผมออกจะอึ้งๆ อยู่บ้าง

ดังนั้นคำแนะนำของผมก็คือ ล้างภาพเก่าออกครับ อันนี้คือในกรณีที่ท่านอยากลองดูฉบับนี้น่ะนะครับ ล้างของเก่าออกก่อน ประเภทว่าถ้าใครอยากดูเนื้อเรื่องออกแนวชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยมเท่ห์ๆ กันเนี่ย บอกเลยครับว่าไม่ใช่กับ Death Note ฉบับนี้

=================================

2)
คำนิยมแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวผมหลังดูไปได้สัก 15 นาทีคือ “มันคือ Final Destination” โทนมันไปทางนั้น การเล่นแสงเงาและสีมันทำให้นึกถึง Final จริงๆ และฉากการตายก็เลือดสาดขาดกระจุย เห็นตอนแรกก็อึ้งเหมือนกันครับว่าเอากันงี้เลยเรอะ 555

แล้วพอดูไปสักพักผมก็เริ่มปรับใจได้น่ะครับ พยายามเสพหนังอย่างที่มันเป็น ก็พบว่ามันคือหนังแนวระทึกขวัญ แม้พล็อตหลักจะเหมือนฉบับหนังครั้งก่อน นั่นคือไลท์ (Nat Wolff) ได้เดธโน้ตจากยมฑูต (ให้เสียงโดย Willem Dafoe) แล้วเขาก็ใช้มันฆ่าคนชั่ว พร้อมประกาศตนในฉายาว่า คิระ

แล้วพอฆ่าไปสักพักก็มีนักสืบแอล (Lakeith Stanfield) โผล่มาตามล่าคิระครับ แต่ในแง่การสืบตามล่าก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย การใช้สมองชิงไหวชิงพริบนี่น้อยมาก เหตุผลสำคัญก็เพราะทิศทางของคาแรคเตอร์ในเรื่องมันไม่ได้เอื้อไปในทางนั้นครับ

อย่างไลท์นี่ออกแนวเนิร์ดๆ เก็บกดๆ ซึ่งหนังผูกเรื่องเป็นว่าแม่ของไลท์ตาย และคนที่ทำให้แม่เขาตายกลับรอดคุกไปได้ ไลท์เลยโกรธอาชญากรสารพัดและเกลียดความไม่เป็นธรรม ทีนี้พอเขาได้เดธโน้ตมาก็เลยเริ่มใช้มัน

แต่คาแรคเตอร์มันคนละแบบกับฉบับหนังของญี่ปุ่นครับ อันนั้นออกแนวเท่ห์ ฉลาดลึก คิดรอบคอบ วางแผนรอบด้าน ออกแนวอัจฉริยะที่ค่อยๆ เหี้ยมมากขึ้นหลังจากได้อำนาจอันไร้ขอบเขตมาจากเดธโน้ต แต่กับฉบับนี้ไลท์บางทีก็กล้าๆ กลัวๆ จะว่าฉลาดก็ไม่ใช่ แต่ก็ไม่ได้ไร้สมองซะทีเดียว

ไลท์ เต็มไปด้วยคำว่า “ดูเหมือน” ครับ ประมาณว่า ดูเหมือนจะดีนะ แต่บางทีก็ไม่ดี, ดูเหมือนจะฉลาดนะ แต่บางทีก็บื้อ, ดูเหมือนจะโหดนะ แต่บางทีัก็เปล่า, ดูเหมือนจะก้าวร้าวนะ แต่บางทีก็หงอ ฯลฯ ว่าง่ายๆ คือไปไม่สุดสักทาง ซึ่งจริงๆ ผมว่ามันก็คือคาแรคเตอร์แบบหนึ่งน่ะแหละครับ เป็นคาแรคเตอร์เด็กทั่วๆ ไป ซึ่งหนังคงจะตีความในเชิงว่า “ไลท์ คือเด็กคนหนึ่งที่มีความสับสน แบบพบเห็นได้ทั่วไป”

เช่นเดียวกับแอลที่แม้จะมีพฤติกรรมแปลกๆ แต่ก็เป็นความแปลก “แบบพยายาม” ประมาณว่าต้นฉบับแอลแปลกฉบับนี้ก็เลยต้องคงเหลือความแปลกไว้บ้าง แต่มันเป็นความแปลกแบบ “บทเจตนาให้แปลก” มากกว่าจะเป็นความแปลกจากอินเนอร์ มันเลยมีทั้งส่วนที่ใช่และส่วนที่ขัดผสมกันอยู่

นอกจากนี้แอลยังดูเหมือนเด็กขี้กลัวอะไรแบบนั้นมากกว่า ไม่ได้แปลกแยกแบบแอลดั้งเดิม คือภาพแอลนี่เราต้องพยายามลบหนักกว่าไลท์อีกครับ เพราะแอลคนนี้ดูใจร้อน ร้อนรน และไม่ได้ดูเก่งอะไรจนผมก็รู้สึกงงๆ เหมือนกันว่า ถ้ามองกันด้วยเหตุผลแล้ว ตัวละครนี้ไม่น่าจะเป็นนักสืบระดับที่รู้จักกับบุคคลสำคัญระดับโลกได้ขนาดนั้น เพราะความสามารถหรือไหวพริบของแอลมันดูไม่เยอะเท่าไร

แต่หากมองในแง่คู่ปรับ ผมว่าก็สมน้ำสมเนื้อนะ เพราะไลท์ก็ไม่ได้เก่งอะไรมาก เลยพอจะขับเคี่ยวกับแอลที่ไม่ได้เก่งอะไรมากได้ (ถ้าคนใดคนหนึ่งเก่งเกิน หนังก็คงเสียสมดุลน่ะครับ)

=================================

3)
ดังนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าถามว่าผมรู้สึกยังไงกับหนัง ก็คงตอบว่า “ดูได้เรื่อยๆ” อันนี้คือตอบจากใจเลยน่ะนะครับ คือถ้ามองแบบไม่เอาต้นฉบับมาเปรียบเทียบ หนังมันก็ไม่ได้แย่จนเกินรับ เพียงแต่มันไม่มีอะไรที่เด่นเป็นชิ้นเป็นอันเท่านั้นแหละ คือดูผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

แม้ผมจะชอบฉบับเก่ามากกว่า แต่ถ้ามองฉบับนี้กันแบบกลางๆ มองเฉพาะตัวหนังของมัน จริงๆ มันก็มีรูปแบบรูปทรงในแบบของมันน่ะครับ เพียงแต่รูปทรงมันอาจไม่ใช่ทรงที่เจ๋งนัก (และเต็มไปด้วยความดูเหมือนแบบที่ผมบอกไปอย่างหนึ่งก็คือ “ดูเหมือนจะกลมกล่อม” แต่ก็ไม่เชิง)

โดยรวมมันคือหนังระทึกขวัญสยองขวัญแบบที่เด็กวัยรุ่นสักคนไปเจอของมรณะสักชิ้น แล้วก็ต้องเอาตัวรอดจากมัน แล้วก็พยายามจะเอาพล็อตแบบ 2 ตัวเอกไล่ล่าเฉือนคมกันใส่ลงไป ซึ่งในที่สุดแล้ว มันก็ทำได้แค่ “ดูเหมือน” แต่ยังไม่กลมกล่อมเท่าไรน่ะครับ

=================================

4)
หนังกำกับโดย Adam Wingard ที่สร้างชื่อจาก You’re Next และทำได้ไม่เลวกับ The Guest ซึ่งจริงๆ ผมว่าเขาเป็นคนมีของนะ เพียงแต่ระยะหลังของเขาไม่ค่อยออกเท่าไร อย่างเรื่องนี้ถ้าถามว่ามันห่วยไหม ผมก็ว่าไม่น่ะ และต้องบอกว่าแกเก่งด้วยที่หนังมันยังดูเป็นหนัง ไม่ได้เละเทะเลอะเทอะอะไร

ผมมองว่าเขาเก่งในการคุมโทน คุมบรรยากาศ คุมทิศทาง และคุมคาแรคเตอร์ตัวละคร เพียงแต่มันจะอยู่ที่บทเท่านั้นล่ะครับ หากบทดี (แบบ You’re Next) ของของเขาก็จะออกเต็มที่ แต่หากบทกลางๆ อย่าง Blair Witch หรือเรื่องนี้ ผลที่ได้มันก็จะกลางๆ คือองค์ประกอบอื่นๆ จะดูโอเค แต่พอบท (ซึ่งจริงๆ ก็คือแก่น) ยังไม่แข็งแรง หนังก็จะไปได้ไม่สุด

=================================

5)
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเด่นของไลท์และแอลไม่เยอะ ก็เพราะการมาของตัวละครอย่างมิอา (Margaret Qualley) แฟนของไลท์ที่ถือว่ามาแชร์พื้นที่จากหนังไปเยอะเหมือนกันครับ ซึ่งผมมองว่าหลายสิ่งที่เธอทำมันคือความพยายามที่จะทำให้ Death Note ฉบับนี้ฉีกไปจากของเก่า

แต่พอเลือกแบบนี้ มันก็เลยเป็นการลดความเด่นระหว่างไลท์กับแอลไปโดยปริยาย และผมสารภาพเลยว่าบางฉากที่หนังพยายามจะสร้างความโรแมนติกระหว่างไลท์กับมิอานั้น มันออกจะดูไม่โรแมนติกเท่าไร (บางอารมณ์มันรู้สึกเลยว่า ที่พวกเขาโรแมนซ์กันนี่มันคือ “คนเขียนบทกำหนดมาใช่ไหมล่า” อะไรประมาณนั้น) คือมันดูกลายเป็นประดักประเดิดและไม่ชัดเจนในเจตนาของตัวละคร

สำหรับนักแสดง ผมไม่โทษพวกเขานะ จริงๆ ผมว่าเขาทำหน้าที่ได้ดีตามที่บทกำหนดด้วย คือบทอยากให้เล่นแบบไหน ปั้นหน้าแบบไหน ทำหน้าเครียด ทำหน้าซึ้ง ทำให้ตกใจ หรือทำท่าระเบิดอารมณ์ พวกเขาทำได้หมดล่ะครับ คือการเล่น ณ แต่ละช็อตน่ะดี จนพอเอามาเรียงกันเป็นหนังแล้วนั่นแหละ ที่มันมีหลายจุดดูไม่เข้ัากัน

=================================

6)
จริงๆ ผมว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรให้เขียนถึงเยอะนะครับ เพราะมันทำให้ผมรู้สึกเหมือนกินอาหารสักจานที่รสมัวๆ ซัวๆ เหมือนจะมีทุกรส เหมือนหลายรสจะเด่น แต่ก็ยังไม่เข้ากัน แต่ถ้าจะบอกว่ามันไม่เข้ากันซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะที่เข้ากันมันก็มี เป็นหนังที่ผมส่วนที่ผมว่าโอเค แล้วก็มีส่วนที่มันดูขัดๆ กัน… มีหนังไม่กี่เรื่องนะที่ทำให้ผมรู้สึกแบบนี้ ส่วนใหญ่ถ้าชอบหรือไม่ชอบก็จะชัดไปเลย

ในมุมหนึ่งผมก็คิดน่ะนะครับว่าเหตุผลหนึ่งที่ตัวละครไลท์ดูขัดๆ อาจเพราะทีมงานยังไม่กล้าฉีกกฎ มันเลยยังติดภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ของหนังฝรั่งที่ไม่ค่อยทำให้ตัวเอกกลายเป็นผู้ร้ายสักเท่าไร ประมาณว่าพระเอก ยังไงก็ต้องยังเป็นพระเอกอยู่

จริงๆ ไลท์ต้องบ้าอำนาจขึ้นตามลำดับ แต่มันเหมือนมีคำว่า “พระเอก” ค้ำคอ บทมันเลยขัดๆ เพราะหลายพฤติกรรมก็เหมือนจะให้ไลท์เป็นพระเอก แต่ขณะเดียวกันพฤติกรรมของไลท์มันก็ไม่ใช่พระเอก แต่เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ก้าวพ้นกรอบศีลธรรมที่ตนเองเคยเชื่อ ผลที่ได้มันเลยดูสับสน คือถ้าเป็นว่าตัวเอกมีความสับสนมันก็เรื่องหนึ่ง แต่กรณีนี้มันคือ “บทหนังทำให้คนดูรู้สึกสับสน ว่าตกลงไลท์เป็นยังไงกันแน่”

=================================

7)
ดูจากทรงแล้ว หนังก็น่าจะมีภาคต่อออกมาล่ะครับ ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังไงต่อ เพราะดูเหมือนจะมีคนไม่ปลื้มกับหนังเรื่องนี้ซะเยอะ แต่ผมก็เชื่อนะว่าถ้ามีภาคต่อล่ะก็ หนังน่าจะเป็นแนวเฉือนคมมากขึ้น เพราะตอนท้ายมันก็ทิ้งเชื้อไว้แบบนั้น

ถ้ามีตอนต่อมาก็พร้อมดูครับ ผมนั้นยังชอบฉบับหนังญี่ปุ่นอยู่ และว่าจะเอามาดูซ้ำอีกในวันสองวันนี้ ในขณะที่ฉบับนี้ ถ้าล้างใจล้างหัวลืมภาพเดิม แล้วเปิดใจมาดูซะ มันก็ดูได้เพลินๆ ครับ มันอาจไม่ใช่ความเพลินที่กลมกล่อมอะไร แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินรับ

อีกอย่างคือ สำหรับผมแล้ว Death Note ฉบับนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับหัวข้อ “การดัดแปลงผลงานจากวัฒนธรรมอื่นมาเป็นอเมริกัน” มีหลายแง่มุมที่สะท้อนการทำงาน, การพยายาม “แปลงองค์ประกอบ” จากวัฒนธรรมหนึ่งมาสู่วัฒนธรรมหนึ่ง, อะไรคือหลักคิดที่เขายึดถือเพื่อใช้ในการดัดแปลง, อะไรคือข้อจำกัดในการดัดแปลง, ในหนึ่งองค์ประกอบ อาจถูกตีความออกมาต่างกัน เมื่อผู้มองมีความต่างทางวัฒนธรรมและสังคม ฯลฯ

นาฬิกาที่ตายแล้ว ยังบอกเวลาได้ถูกต้องถึง 2 ครั้งในหนึ่งวัน

หนังที่มีจุดบกพร่อง ก็มีจุดที่ถูกต้องให้เรามองเช่นกันครับ ^_^

ไม่ถึงสองดาวครับ

Star12

(5.5/10)