Child Of Kamiari Month อนิเมะ Coming Of Age ที่เด็กต้องก้าวผ่าน หยิบยืมพลอตจาก Spirited Away

Child of Kamiari Month Netflix รีวิว เด็กเดือนตุลา ภาพยนตร์อนิมะญี่ปุ่น ที่นำเสนอเรื่องราวแสนงดงามตราตรึงระหว่างเด็กหญิงและแม่ โดยเล่าผ่านการเดินทางแนวแฟนตาซีที่เด็กหญิงจะต้องเข้าไปสัมผัสกับเหล่าเทพเจ้า ภูติผี ปีศาจ และสิ่งลี้ลับที่สถิตในแต่ละสถานที่ทั่วไป ซึ่งมันได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมยุคใหม่หลงลืมหรือมองข้ามกันไปแล้ว

เรื่องยังเล่นกับประเด็นความสูญเสียที่เด็กหลายคนทั่วโลกจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ เป็นแนว Coming of Age ในแบบ Bitter Sweet

ภาพยนต์อนิเมชั่นมีความความยาว 1.39 ชม. กำกับโดย ทาคานะ ชิราอิ รับชมได้เลยใน Netflix

Child of Kamiari Month Trailer

เด็กเดือนตุลา เรื่องย่อ

เรื่องราวเกี่ยวกับ เด็กสาวคนหนึ่งที่ชื่อ คันนะ เธอเป็นเด็กหญิงสดใสร่าเริงที่ชอบการวิ่งแข่งกับแม่ของเธอในป่าเขาอยู่เสมอ กระทั่งวันหนึ่งแม่ของเธอได้เสียชีวิตลงจากอาการเจ็บป่วย เธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นเด็กหญิงที่เริ่มปิดกั้นตนเอง และอยากจะเลิกวิ่ง กระทั่งวันหนึ่งเธอได้พบเจอเหตุการณ์ประหลาด พร้อมกับ กระต่ายสีขาวที่เลี้ยงไว้ในโรงเรียนชื่อ ชิโร่ ที่จู่ๆ ก็พูดได้แล้วบอกว่าตนเองเป็นเทพเจ้าที่มายืมร่างของกระต่าย และยังได้พบกับเด็กหนุ่มเผ่ายักษ์ชื่อว่า ยาฉะ ซึ่งนั่นทำให้เธอได้ค้นพบความจริงว่า แม่ของเธอเคยเป็น อิทาเดน ที่ต้องทำหน้าภารกิจส่งของบูชาไปให้ถึงเหล่าเทพเจ้าที่สถิตในอิซูโมะ ซึ่งเป็นดินแดนเก่าแก่โบราณที่สุดของอารยธรรมญี่ปุ่นและยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเหล่าเทพโบราณมาชุมนุมกัน เธอจำต้องรับภารกิจสืบทอดต่อจากแม่ ในขณะเดียวกันเธอก็มีความหวังว่าการเดินทางไปยังดินแดนที่มีเหล่าเทพอยู่จะทำให้เธอได้พบแม่อีกสักครั้ง

เรื่องนี้จัดว่าเป็นผลงานในฐานะผู้กำกับเต็มตัวเรื่องแรกของ ทาคานะ ชิราอิ ซึ่งเคยผ่านงานด้านอนิเมเตอร์ และงานผู้ช่วยมาจากหลายเรื่องแล้ว (หนึ่งในผลงานสำคัญที่เขาเคยร่วมทีมด้วยคือ The Tale of Princess Kaguya ของจิบลิ ส่วนผลงานล่าสุดที่มีส่วนร่วมคือ The Children of the Sea) ดังนั้นหากจะพบว่าเรื่องนี้มีกลิ่นอายผลงานของจิบลิและเรื่องอื่นๆ อยู่ก็ไม่ต้องแปลกใจเลยครับ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องแย่

Child of Kamiari Month รีวิว

ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในทีมพากย์หลักของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ก็คือ ซายะ ซาคาโมโตะ นักพากย์และนักร้องสาวชื่อดังที่มีผลงานมานานกว่าสองทศวรรษ ได้มารับบทพากย์เป็น ชิโร่ กระต่ายขาวแสนน่ารักที่ต้องมาทำหน้าที่เป็นเสมือนไกด์นำทางให้นางเอกคันนะของเราในการเดินทางตลอดทั้งเรื่อง

ซึ่งบทของชิโร่ ก็คล้ายกับเป็นการหยิบยืมตัวละคร ไวท์แรปบิท จากเรื่อง Alice in Wonderland ที่มีหน้าที่เป็นผู้นำทางให้นางเอกอลิซในการเดินทางนั้นด้วย

พลอตที่ใช้ค่อนข้างคลาสสิกมากๆ คือเป็นการบอกถึงโลกที่ซ้อนทับอยู่ในสังคมมนุษย์ว่าไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่อยู่เหนือการมองเห็นของมนุษย์ นั่นคือเหล่าเทพเจ้า ภูติ วิญญาณ และอื่นๆ ที่ต่างก็ได้สิงสถิตยอยู่ร่วมกับโลกมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นในธรรมชาติ ผืนป่า ภูเขา แม่น้ำ ทะเล น้ำตก ผืนดิน สิงสาราสัตว์ เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ก็เริ่มให้ความใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ลดลงจนแทบจะไม่สนใจอีกต่อไป ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้เลยเสมือนต้องการเตือนคนดู โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ให้หันกลับมาสนใจในสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะธรรมชาติกันบ้าง ส่วนตำนานเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับเทพและภูติญี่ปุ่นก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรมาก มีหลายเรื่องเล่นกันเยอะแล้ว ตัวเรื่องยังมีการวิพากษ์สังคมยุคใหม่ที่ผู้คนเลิกใส่ใจต่อกันแต่หันไปใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น

ซึ่งที่จริงพลอตในลักษณะนี้เราจะเห็นบ่อยมากในอนิเมะญี่ปุ่น เข้าขั้นเป็นพลอตยอดนิยมเลยก็ว่าได้ แล้วหนึ่งในเรื่องที่เอาพลอตลักษณะนี้มาใช้ได้ดีที่สุดในวงการอนิเมชั่นของญี่ปุ่นและของโลก ซึ่งก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งสำหรับพลอตแนวนี้อยู่ในทุกวันนี้ก็คือ Spirited Away ผลงานอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมโดย ผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งสตูดิโอจิบลิ

สำหรับเรื่องเด็กเดือนตุลานี้เราจะเห็นกลิ่นอายของ Spirited Away แฝงอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกหลักที่เป็นเด็กหญิงวัยประถมปลายที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การต้องเผชิญหน้ากับภูติผีปีศาจ ทวยเทพต่างๆ ซึ่งเธออาจจะไม่เคยได้ใส่ใจมาก่อน การได้พบปะกับผู้คนใหม่ๆที่ไม่ใช่มนุษย์แล้วได้เปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติของเธอทำให้เติบโตขึ้นในแบบ Coming of Age เพียงแต่ใน Spirited Away เรื่องราวจะดูมีความดาร์กดิบแฝงอยู่มากกว่า จิกกัดประเด็นทางสังคมและโลกทุนนิยมในยุคปัจจุบันมากกว่า ส่วนในเด็กเดือนตุลาจะไปเน้นที่ “การก้าวผ่านการสูญเสีย” ซึ่งแม้ว่าการเสียคนสำคัญเช่นแม่ของเธอไปตั้งแต่วัยเด็กออกจะเป็นเรื่องโหดร้ายไปบ้าง แต่ในโลกความเป็นจริงก็มีหลายคนที่เผชิญเรื่องราวแบบเดียวกับคันนะ แล้วการที่จะต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้นั้นก็เป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ ซึ่งประเด็นนี้ถือว่านำเสนอแง่มุมหลากหลายออกมาได้ค่อนข้างดี และก็มีฉากเรียกน้ำตาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกที่หลายคนอาจจะน้ำตาตกได้แน่นอน

ด้านโปรดักชั่น งานภาพ CG จัดว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะงานฉากหลังถือว่าทำได้ดีมาก งานภาพสะอาด สบายตา คาแรคเตอร์ดีไซน์ทำได้ดีเลย เพลงเพราะมาก ฟังได้เพลิน เป็นงานสำหรับเด็กที่มีความทันสมัยพอสมควร พวกเทพและภูติต่างๆ ก็ออกแบบมาน่ารักดี น่าเสียดายที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรในเรื่องมากนัก นอกจากกระต่ายชิโร่ที่น่ารักและเป็นตัวเรียกสายตาได้ อาจจะมีแปลกๆหน่อยตรงเสียงพากย์ญี่ปุ่นของคันนะที่เสียงแปลกไปบ้าง

ด้านจุดด้อยก็จัดว่ามีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเดินเรื่องช่วงท้ายที่ค่อนข้างเรียบง่ายไปสักหน่อย การแก้ปัญหาก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แทบจะเป็นเส้นตรง อีกทั้งแม้ว่าเรื่องนี้จะเล่นประเด็นความสัมพันธ์ของแม่ลูก แต่กลับไม่ได้นำเสนอฝั่งพ่อลูกออกมาเท่าไรนัก ตรงนี้ถือว่าน่าเสียดายเอามากๆ แม้ว่าตอนจบเรื่องจะพยายามาใส่เข้ามานิดหน่อย แต่ก็ทำได้ไม่ถึงเท่าไหร่

แล้วจุดหนึ่งที่น่าเสียดายที่สุดคือในเรื่องมีการวางคอนเซปต์เกี่ยวกับ ความใฝ่ฝันของคนเป็นลูก ที่แบกรับความกดดันจากการตามรอยพ่อแม่ ที่จริงตรงนี้เรื่องนี้เปรยไว้ดีมากในช่วงกลางเรื่องว่าคันนะเลือกที่จะเลิกวิ่ง เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสบอกแม่ก่อนที่จะเสียชีวิตไป และเรื่องที่เธอวิ่งแล้วไม่ได้เข้าที่หนึ่งเพื่อให้แม่ดีใจ มันเลยเป็นปมค้างคาใจของเธอ อาจจะดูเป็นวิธีคิดที่เป็นเด็กๆ ไปสักหน่อย แต่มันก็ถือว่าสมจริงในแง่วิธีคิดของตัวละครที่เป็นเด็ก เพียงแต่ประเด็นเรื่องการเลือกที่จะวิ่งต่อหรือเลิกนั้น รวมถึงเรื่องที่ยาฉะแบกรับเรื่องภารกิจที่จะเอาเผ่าตนเองกลับสู่การเป็นเทพ ซึ่งเป็นการแบกรับหน้าที่จากบรรพบุรุษ โดยประเด็นที่คนรุ่นหลังต้องมาแบกรับอะไรพวกนี้แล้วก็รู้สึกว่าอยากจะเลิกเพื่อไปค้นหาสิ่งที่ตนเองต้องการมากกว่านั้น เป็นสิ่งที่เรื่องบอกเล่าออกมาได้น่าสนใจมาก เสียดายว่าเรื่องเลือกที่จะคลี่คลายง่ายๆ แบบตามสูตร เข้าใจว่าเพราะเวลาจำกัดและไม่ได้ต้องการให้เด็กดูแล้วคิดมากเกินไป ก็เลยเลือกแนวทางแบบนี้ ส่วนตัวก็ถือน่าเสียดายเล็กน้อย

Child of Kamiari Month สนุกและดีครับ

สนุกครับ และดีด้วย อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแนวแฟนตาซี Coming of Age สอนใจคนดู แต่ดูแล้วใครจะได้รับสารที่อนิเมชั่นต้องการสื่อถึงแค่ไหนก็คงแล้วแต่ประสบการณ์ผู้ชม