Bridgerton

Bridgerton

“Bridgerton” น่าจะเป็นซีรีส์อีกเรื่องที่กลายเป็นกระแสให้พูดถึงในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลวันปีใหม่ที่ผ่านมา ออริจินัลซีรีส์เรื่องใหม่จากเน็ตฟลิกซ์ ที่มาในแนวโรแมนติกดราม่าพีเรียด พร้อมกับลูกเล่นแพราวพราวในการนำเสนอ โดยเฉพาะองค์ประกอบงานโปรดักชั่นดีไซน์และคอสตูมต่างๆ ที่ต้องยกนิ้วให้ แต่ว่าทำไมซีรีส์ฝรั่งที่มีกลิ่นน้ำเน่าลอยโชยเช่นนี้ถึงกลายเป็นที่ถูกใจคนดูกันนัก วันนี้ Movie.TrueID จะพาไปขยี้ตามจุดต่างๆ ที่โดดเด่นของเรื่องนี้กัน

ซีรีส์ Bridgerton ดัดแปลงมาจากนวนิยายโรแมนซ์ขายดีของนักเขียนสาวชาวอเมริกัน “จูเลีย ควินน์” ที่มักจะมีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์แต่งนินายรักแนวพีเรียดออกมาได้ชวนน่าติดตาม และแน่นอนว่านิยายชุด Bridgerton ของเธอ คือผลงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยผลิตออกมาเป็นซีรีส์ถึง 9 เรื่อง นับตั้งแต่ปี 2000 มาถึงภาคจบในปี 2013 โดยแต่ละเล่มนั้นจะแยกออกเป็นเรื่องราวความรักของพี่น้องแต่ละคนในตระกูลบริดเจอร์ตัน

Bridgerton เป็นเรื่องราวในยุคสมัยรีเจนซี่ ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่แต่ละตระกูลยังคงช่วงชิงฟาดฟันกับตำแหน่งและหน้าทางสังคมในการส่งผลผลิตทายาทของตัวเองให้โดดเด่นและได้ซึ่งมาตำแหน่งและหน้าที่อันสูงส่ง เช่นเดียวกับตระกูลบริดเจอร์ตัน ที่มีทายาทเป็นบุตร 4 คน ธิดา 4 คน ท่ามกลางการดูแลเพียงลำพังของเลดี้ไวโอเลต เนื่องจากสามีของเธอได้เสียชีวิตไปแล้ว

เธอจึงได้ภูมิใจนำเสนอลูกสาวคนโต เลดี้ดาฟนี่ เป็นตัวแทนในการเปิดฤดูกาลหาคู่ครองและเชิดชูวงสังคม กระทั่งทำให้เธอได้เป็นการหมายปองจากสมเด็จพระราชินี แต่ความสวยสง่าของดาฟนี่เป็นเหมือนลมปัดเป่า เพราะเธอมีพี่ชาย ลอร์ดแอนโทนี่ เป็นหน่วยคัดกรองและจัดแจงให้ทุกอย่างมาเป็นเพอร์เฟค หวังทำหน้าที่เป็นเสาหลักแทนผู้เป็นพ่อที่เสียไป

แต่กระนั้นโชคชะตาก็ได้นำพา ดยุคแห่งแฮสติ้งส์ สหายของลอร์ดแอนโทนี่ เข้ามารู้จักกับดาฟนี่ โดยทั้งคู่เริ่มต้นรู้จักกันไม่ค่อยสู้ดีนัก ต่างฝ่ายต่างรู้สึกเกลียดชัดเข้าไส้ แต่กลับมีไลฟ์สไตล์และแนวคิดที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้หญิงสาวที่กำลังจนตรอกในสังคมกับความงามที่ไม่มีใครหมายปอง กับชายหนุ่มผู้เพรียบพร้อมแต่เบื่อสังคม จับมือร่วมกันจัดฉากรักหลอกๆ ปลอกเปลือกใส่สังคม ที่หารู้ไม่ว่า…ฟ้าลิขิตเอาไว้แล้ว

บทละครน้ำเน่ากลิ่นหึ่ง แต่พุ่งตรงเข้าถึงคนดูได้ง่ายมาก

โอ้โห้…นี่มันคือสูตรสำเร็จน้องๆ ละครไทยเลยทีเดียว ขาดเพียงแค่ฉากนางร้ายกรีดร้องและโผเข้าตบเท่านั้น ซีรีส์มาเป็นแนวพีเรียดงามๆ สไตล์เจ้ายศเจ้านายตระกูลสูงส่ง ประมาณละครไทย ‘ปริศนา’ หรือ ‘วนิดาง’ ก็แน่นอนเลยว่า…น้ำเน่าพอประมาณ แต่กลายเป็นข้อดีที่ทำให้คอนเทนท์ย่อยง่ายตามไปด้วย

แต่ในเมื่อเป็นซีรีส์ฝั่งตะวันตกที่จะแตกต่างสิ้นเชิงกับละครชิงรักหักสวาทแบบในบ้านเรา ทำให้บทยังคงสร้างมิติออกมาได้อย่างพิถีพิถัน โดยภาพรวมของเรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายของหนังและซีรีส์ดังๆ หลายเรื่อยมาปนเปกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ‘Gossip Girl’ ผสมผสานกับสไตล์งานเขียนของ ‘เจน ออสติน’ อย่าง ‘Pride and Prejudice’ และยังเสริมความยั่วยวนรูปแบบ ‘Fifty Shades of Grey’ เข้าไปให้วาบหวิวด้วย

ทำให้โดยสรุปแล้วว่า Bridgerton จึงออกมาเป็นรูปแบบซีรีส์โรแมนซ์เฟียร์สๆ ที่มีความพ่อแง่แม่งอนอยู่บ้าง และแอคติ้งแบบเวอวังอลังการตามท้องเรื่องเป็นองค์ประกอบ จึงเป็นคอนเทนท์ที่ผู้บริโภคจะเสพติดเข้าถึงได้ไม่ยากเลย และเผลอๆ ก็ติดตาม 8 ตอนรวดจบแบบไม่รู้ตัว

ตัวละครอัดแน่นยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ต้องมีสติให้การรับชม

ต้องยอมรับเลยว่า Bridgerton เป็นซีรีส์ที่ตัวละครเยอะถึงเยอะมาก เพราะแค่ดูลิสต์รายชื่อนักแสดงตามที่ข้อมูลทางโปรดักชั่นส่งมา ก็พบว่ามีตัวละครหลัก (Main Characters) มากถึง 20 ตัวละครเลยทีเดียว เปิดฉากมาในตอนแรกก็ต้องพูดเลยว่า…งงมาก ตัวละครเต็มไปหมด และไม่มีเวลาที่จะพาคนดูไปแนะนำตัวละครนั้นๆ เป็นรายบุคคลด้วย คนดูจะต้องซึบซัมและทำความเข้าใจเองในช่วงแรก

แต่พอผ่านพ้นระยะที่เกริ่นเรื่องราวมาได้แล้ว คนดูจะสามารถทำความเข้าใจได้โดยอัตโนมัติว่า ตัวละครตัวไหนบ้างที่เป็นแกนหลัก และต้องโฟกัสไปที่ตัวละครใด แต่ทั้งนี้ด้วยความที่คาแรกเตอร์ในท้องเรื่องมากมายเช่นนี้ ประกอบกับเนื้อหาซีรีส์เองก็พยายามให้ความสำคัญกับทุกบทบาท จึงกลายเป็นว่าทุกอย่างดูล้นไปสักหน่อย ตัวละครไม่จำเป็นดูมีเยอะเกินไป และพลอยทำให้คนดูรู้สึกไม่อินไปด้วย เพราะต้องโฟกัสอยู่ที่คู่พระนางมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการมีตัวละครเยอะแยะเช่นนี้ย่อมมีต้นสายปลายเหตุ เนื่องจากนิยายชุดนี้มีมากถึง 9 ตอนด้วยกัน ซีรีส์อาจจะต้องปูทางเอาไว้ให้กับซีซั่นต่อๆ ไป ที่น่าจะเป็นการผลัดเปลี่ยนเล่าเรื่องของตัวละครที่แตกต่างกันไปตามต้นฉบับที่เป็นเรื่องราวความรักของพี่น้องแต่ละคนในตระกูลบริดเจอร์ตันเรียงรายไปถึงบทสรุป

งานโปรดักชั่นและออกแบบเสื้อผ้า-แต่งหน้าทำผมดีเด่น

โดดเด่นจริงๆ คงเป็นองค์ประกอบงานโปรดักชั่นของซีรีส์เรื่องนี้ ที่ต้องยอมรับว่าสร้างสรรค์ออกมาได้ค่อนข้างละเอียดทีเดียว แม้ว่าบางส่วนจะต้องใช้เทคนิคพิเศษและซีจีเข้ามาช่วยอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉาก ออกแบบแสงสีต่างๆ ภายในเรื่องค่อนข้างน่าตื่นตา และทำให้คนดูรู้สึกหลงยุคเข้าไปอยู่ในสมัยรีเจนซีจริงๆ

เช่นเดียวกับ เสื้อผ้าหน้าผมของซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำออกมาได้ดี เสื้อผ้าไม่ต้องบรรยายอะไรมาก เห็นได้ชัดว่าผ่านกระบวนการทางความคิดและวิเคราะห์ตามคาแรกเตอร์ต่างๆ ออกมาได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าไปจนถึงสีของผ้า ทุกอย่างดูมีรายละเอียดและสะท้อนถึงอารมณ์ของตัวละครออกมาอย่างเด่นชัด

งัดลูกเล่นความทันสมัย ผสมผสานเข้ายุคได้อย่างชาญฉลาด

อีกหนึ่งจุดเล็กๆ ที่รู้จักชื่นชอบมากในซีรีส์ Bridgerton ก็คือ ความร่วมสมัย ซึ่งก็คือการใช้โปรดักชั่นยุคปัจจุบันใส่เข้าไปในละครพีเรียดที่กลายมาเป็นการร่วมสมัยที่ลงตัว โดยเฉพาะด้านงานดนตรีประกอบที่โดดเด่นมากๆ เพราะเพลงบรรเลงจากเครื่องสายที่มักจะเปิดคลออยู่ตามท้องเรื่องนั้น ล้วนแต่เป็นเพลงป๊อปและเพลงฮิตในยุคปัจจุบันทั้งสิ้น แต่มีการประพันธ์และดัดแปลงทำนองให้เข้ากับสมัย เสียงเพลงที่คุ้นหูนี่เอง จึงเป็นลูกเล่นที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าดูซีรีส์ย้อนยุคที่ไม่มีความโบราณหรือคร่ำครึอยู่ในนั้นเลย

ข้อมูลเกี่ยวกับซีรีส์ Bridgerton
ประเภท: โรแมนติก / ดราม่า / ย้อนยุค
สร้างสรรคโดย: คริส แวน ดูเซน (จาก Grey’s Anatomy)
นำแสดงโดย: ฟีบี เดเนอวอร์, เรเก้-ฌอง เพจ, โจนาธาน เบลลีย์, รูบี้ บาร์เกอร์
จำนวนฤดูกาล: 1 ฤดูกาล
จำนวนตอน: 8 ตอน
เข้าฉาย: 25 ธันวาคม 2020 (ทางเน็ตฟลิกซ์)