Around the World in 80 Days (1956) 80 วันรอบโลก

1385827451

นี่ก็เป็นผลงานระดับออสการ์อีกเรื่องครับ คว้าไป 5 รางวัลรวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งหนังที่หลายคนมองว่าไม่น่าจะได้รางวัลที่ว่า เพราะปีนั้นมี The Ten Commandments เข้าชิงด้วย

แต่ก็นั่นล่ะครับ รางวัลก็แจกไปแล้ว เวลาก็ล่วงมาแล้วเกินครึ่งศตวรรษ ครั้นจะเอาเวลามาถกเถียงก็ใช่จะได้คำตอบ สู้มาชวนกันเสพภาพยนตร์ให้เกิดอรรถรสและค้นหาคุณค่าของมันกันดีกว่าครับ 

และก่อนที่ผมจะเข้าเรื่อง ก็ขอฝากชื่อๆ หนึ่งไว้ให้ทุกท่านจดจำก่อนครับ ชื่อนั้นคือ Michael Todd ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ ที่ถ้าหากไม่มีเขา ก็รับรองได้ว่าจะไม่มีหนังชื่อ Around the World in 80 Days เกิดขึ้นในปีนั้นอย่างแน่นอน

หนังดัดแปลงจากวรรณกรรมอมตะของ Jules Verne ว่าด้วยการเดินทางรอบโลกภายใน 80 วันของฟิเลียส ฟ็อกก์ (David Niven) สุภาพบุรุษผู้ดีชาวอังกฤษที่ทำอะไรเป๊ะทุกกระเบียด มีวินัยในตนเองอย่างที่สุด ซึ่งวันหนึ่งเขาได้เอ่ยปากรับพนันกับเพื่อนๆ ในรีฟอร์มคลับ ที่มีบางคนท้าว่าไม่มีทางหรอกที่มนุษย์จะเดินทางรอบโลกได้ใน 80 วัน ฟิเลียสเลยรับคำท้าอย่างมั่นใจครับ และเพียงไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เริ่มต้นเดินทางโดยมีผู้ติดตามคือ ปาสปาร์ตู (Cantinflas) คนรับใช้อดีตนักกายกรรมที่เพิ่งมาทำงานกับฟิเลียสได้แค่ไม่กี่วัน

และหลังจากนั้นเราก็จะได้เห็นการเดินทาง ผจญภัย ฟันฝ่าอุปสรรค และแข่งกับเวลาของพวกเขา ก็มาลุ้นกันครับว่าพวกเขาจะทำสำเร็จหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าหนังอาจไม่ได้มีสาระมากมาย ไม่ได้มีแง่คิดคมชัดลึก และไม่ได้มีปรัชญาอันลึกล้ำ แต่กระนั้นหากจะบอกว่าหนังไม่มีอะไรน่าพูดถึงก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว

คุณค่าประการสำคัญของหนังคือการบันทึกภาพของโลกในอดีตเมื่อ 57 ปีก่อน ใช่ครับ หนังได้เดินทางไปถ่ายทำตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก กว่า 13 ประเทศ เราจึงได้เห็นทิวทัศน์งามๆ บรรยากาศของบ้านเมืองต่างๆ ไหนจะการละเล่นและขนบธรรมเนียมประเพณี อีกทั้งวิถีชีวิตของผู้คน ในมุมหนึ่งหนังเรื่องนี้ก็เปรียบได้กับสารคดีรอบโลกที่มีเนื้อเรื่องเชิงบันเทิงแทรกลงไปนั่นเอง

1385833613

มันจึงเป็นเหมือนบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่ทรงค่าอยู่ในตัวครับ ซึ่งผมเองก็อาจชอบอะไรทำนองนี้ด้วย การได้เห็นภาพเมืองต่างๆ ในมุมสูง เห็นบ้านเรือนผูคนเรียงรายกันลิบๆ หรือฉากที่ผมชอบเป็นพิเศษคือตอนที่พวกเขานั่งรถไฟน่ะครับ เราจะได้เห็นบรรยากาศ 2 ข้างทาง เห็นรูปแบบชีวิต เห็นธรรมชาติที่ต่างไปจากสมัยนี้ เห็นช้างวิ่ง เห็นพระอาทิตย์อัสดง… ดูหนังเรื่องนี้เลยได้อารมณ์เหมือนไปเที่ยวรอบโลกกับฟิเลียส ฟ็อกก์ด้วยน่ะครับ 

ผมมีโอกาสได้ดูฉบับเต็มยาว 3 ชั่วโมงแบบไม่บันยะบันยัง เราก็จะได้เห็นทิวทัศน์ต่างๆ แบบที่ผมกล่าวไป ในขณะที่บางฉบับที่ยาว 165 นาทีนั้นเราจะไม่ได้เห็นภาพถ่ายทิวทัศน์ยาวๆ ดังนั้นเพื่อความครบถ้วนในอรรถรสแนะนำให้หาฉบับเต็มมารับชมนะครับ

ด้านเนื้อหาก็อาจไม่ได้เข้มข้นอะไรครับ แต่ถ้าถามว่าดูสนุกไหม ผมก็ว่าสนุกนะ จุดแข็งอย่างมากของหนังคือการแสดงของดาราอย่าง Niven ที่สุดยอดมากในบทนี้ครับ มาด ท่าทาง และการแสดงออกของเขาคือผู้ดีอังกฤษแท้ จนไม่แปลกใจที่แม้แต่ Niven เองยังบอกเลยว่าเขาโปรดปรานบทนี้ที่สุด และในสายตาผู้สร้างแล้ว Niven คือตัวเลือกที่เขาหมายตาไว้ตั้งแต่ต้น

ส่วน Cantinflas คือดาราตลกสัญชาติลาตินอเมริกันที่ดังมากๆ ในสมัยนั้น มีหนังเล่นเพียบครับ แต่เขาไม่เคยเล่นหนังฮอลลีวู้ดแม้แต่เรื่องเดียว ขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่มาตามเขาก็ไม่สน เพราะลำพังเขาเล่นหนังของตัวเอง แสดงเองก็ดังมากมายอยู่แล้ว ทำให้การที่ Michael Todd ผู้สร้างหนังเรื่องนี้สามารถไปดึงตัว Cantinflas มาแสดงได้เนี่ย เป็น เรื่องระดับตำนานอีกเรื่องในวงการฮอลลีวู้ดก็ว่าได้ครับ เพราะ Todd ใช้เวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ในการเจรจา ตามติด และชักชวน จนในที่สุด Cantinflas ก็นับถือในความพยายามและยอมรับบทในนี้ที่สุด ซึ่ง Cantinflas ก็สวมวิญญาณปาสปาร์ตูได้แบบยอดเยี่ยม มีชีวิตชีวาอย่างที่สุด

อันที่จริงตามบทประพันธ์แล้ว ปาสปาร์ตูต้องเป็นชาวฝรั่งเศสครับ ทำให้พอมีการประกาศว่าจะให้ดาราลาตินอเมริกันมาแสดง ก็มีแฟนนิยายออกมาต่อต้าน แต่พอเห็นการแสดงของ Cantinflas เท่านั้นก็เอ่ยปากชมเปาะว่าเหมาะแท้ แม้สัญชาติจนคนละฟากกันในนิยายก็เถอะ

และไฮไลท์ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ของหนังเรื่องนี้คือการร่วมปรากฏตัวของดาราดังๆ มากมายที่มาแสดงบทเล็กๆ ตามคำเชิญของ Todd อาทิเช่น Marlene Dietrich, George Raft, Frank Sinatra, John Gielgud, Charles Boyer, Cesar Romero, Sir Cedric Hardwicke, Charles Coburn, Peter Lorre, John Carradine และ Buster Keaton เป็นต้น

ในส่วนของการเดินเรื่องก็ถือว่าสนุก ดูเพลินน่ะครับ แต่ไม่ถึงขึ้นติดหนึบหรือทรงพลังมากมาย อย่างน้อยช่วงท้ายเรื่องก็มีอะไรให้ลุ้นแบบได้ผลพอสมควร ว่าในที่สุดแล้วพวกเขาจะชนะพนันหรือไม่ เพราะนอกจากจะมีอุปสรรคในการเดินทางแล้ว พวกเขายังแอบโดนขัดขวางลับๆ โดย สารวัตรฟิกซ์ (Robert Newton) ที่เข้าใจผิดคิดว่าฟิเลียสคือโจรปล้นธนาคารที่แอบหลบหนีมา ซึ่ง Newton ก็แสดงบทนี้ได้สบายๆ ครับ และยังถือเป็นการฝากผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิตไว้อย่างน่าพอใจ เพราะเขาจากโลกนี้ไปหลังเสร็จงานจากหนังเรื่องนี้เพียงไม่นาน

ดาราอีกคนที่ตอนนั้นยังไม่ถึงกับมีชื่อ แต่ต่อมาก็เป็นดาวดังอีกคนของวงการนั่นก็คือ Shirley MacLaine ในบทเจ้าหญิงอาวด้าที่ฟิเลียสกับพวกไปช่วยไว้ระหว่างเดินทางผ่านอินเดีย ซึ่งในเรื่องเธอยังไม่ฉายรัศมีความโดดเด่นเท่าไรนัก แต่สำหรับ MacLaine แล้ว เธอมักพูดเสมอว่าประสบการณ์จากการแสดงหนังเรื่องนี้ สอนเธอให้เก่งมากขึ้น จนผลงานระยะหลังๆ ของเธอเป็นที่น่าจดจำในสายตาผู้ชม

โดยรวมแล้วนี่จึงเป็นหนังที่ให้ความบันเทิง พร้อมเป็นสารคดีบันทึกภาพโลกในอดีตให้เราได้เห็น ได้จดจำ ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น หนังเรื่องนี้จะถือกำเนิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีชายชื่อ Michael Todd

1385833657

Todd เป็นที่รู้จักในวงการบรอดเวย์ และในฐานะผู้ร่วมผลิตระบบฉายภาพยนตร์แบบ Todd-AO อันเป็นเทคโนโลยีการฉายภาพยนตร์แบบจอกว้าง (Widescreen) ที่มาพร้อมความคมชัดระดับสูงและเก็บภาพรายละเอียดด้านข้างได้ครบถ้วนสมจริง ซึ่งหนังเรื่องแรกที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ Oklahoma! (1955) ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเรื่องต่อมาก็คือ 80 วันรอบโลก นี่แหละครับ

หลังจากการร่วมผลิตระบบฉายภาพยนตร์แบบ Widescreen เสร็จแล้ว Todd ก็ประสบกับสภาวะขาลงในการสร้างสรรค์งานละครบรอดเวย์พอดี ด้วยเหตุนี้เขาเลยตัดสินใจจะหันไปทำอะไรอย่างอื่นแทน และอย่างอื่นที่ว่าก็คือการสร้างภาพยนตร์ เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่เคยทำหนังมาก่อน เขาเลยลองควานหาบทหนังดีๆ สักเรื่องมาทำ

ระหว่างนั้นเขาก็มีโอกาสไปเจอบทหนังเรื่องนี้บนโต๊ะของ Sir Alexander Korda และคำแรกที่ท่านเซอร์บอกกับเขาก็คือ อย่ายุ่งกับบทหนังเรื่องนี้เลย เพราะเขาพยายามดัดแปลงเกลามาหลายปี ก็ยังไม่ได้เรื่องสักที แต่สำหรับ Todd แล้ว เขาเล็งเห็นว่าหนังที่ว่าด้วยการเดินทางรอบโลกใน 80 วันนี้ น่าจะเหมาะกับการฉายด้วยเทคโนโลยีภาพยนตร์จอกว้างของเขาเป็นที่สุด

แล้ว Todd ก็ซื้อสิทธิ์เรื่องนี้มาครับ และแม้ว่าตอนนั้นเขากำลังอยู่ในช่วงลำบาก เงินทองร่อยหรอ (อย่างที่บอกครับว่าเพิ่งผ่านช่วงขาลง) แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ยังพยายามเจรจาหานายทุนมาสร้างหนังเรื่องนี้จนสำเร็จ โดยมีการวางงบคร่าวๆ ไว้ที่ $3 ล้าน ส่วนหน้าที่เขียนบท Todd มอบให้ S.J. Perelman ที่มีชื่อเสียงในด้านบทภาพยนตร์แนวตลก เช่นเรื่อง Monkey Business ของพี่น้องตระกูล Marx ว่ากันว่าบทที่ Perelman เขียนนั้นโดน Todd โยนทิ้งลงตะกร้าหลายรอบมาก แต่เขาก็ไม่เคยคิดเคืองครับ ยังเดินหน้าสร้างบทใหม่ต่อ และด้วยความที่ Perelman เขียนบทหนังตลกมามากจึงทำให้หนังเรื่องนี้มีมุขขำๆ แทรกอยู่มากมาย ซึ่งมุขตลกคำพูดทั้งหลายที่ออกจากปากตัวละครนั้นก็มาจากปลายปากกาของ Perelman นี่แหละ (เช่น มุข “ผมเป็นผู้ชำนาญเรื่องบอลลูนอันดับ 2” หรือการจิกกัดสมาคมรีฟอร์มคลับ ที่ชื่อแปลว่าปฏิรูป แต่คนในคลับกลับทำอะไรอนุรักษ์นิยม ไม่ยอมปฏิรูปดังชื่อสมาคม เป็นต้น)

ในภายหลังก็ได้ James Poe และ John Farrow มาช่วยเขียนบท โดยตอนแรก Farrow กินตำแหน่งกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยครับ แต่ปรากฏว่า Farrow ทำงานได้ไม่ถึงอาทิตย์ เขาก็ตัดสินใจออกจากตำแหน่งกำกับ เพราะเขามั่นใจว่าทำงานกับ Todd ไม่ไหวแน่นอน แต่กระนั้นฉากที่ Farrow ทำไว้ก็ยังถูกใส่ลงมาในหนัง นั่นคือฉากตอนอยู่ลอนดอนและบางส่วนของเหตุการณ์ในสเปน

ในเวลาต่อมา Todd เลยติดต่อ Michael Anderson ที่เคยผ่านงานอย่าง Nineteen Eighty-Four ที่สร้างจากนิยายของ George Orwell ซึ่งในความคิดของ Todd แล้ว เขาอยากร่วมงานกับผู้กำกับที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของฮอลลีวู้ด มีแนวทางของตนเอง และสามารถบรรเลงหนังได้เฉกงานศิลป์ที่พริ้วไหว ไม่ต้องลงสูตรแบบตายตัว พอเจรจากันไป Anderson ก็รับทำให้ครับ โดยที่คราวนี้พวกเขาร่วมงานกันได้อย่างดี จนในที่สุดงานหนังเรื่องนี้ก็สำเร็จออกมา

1385880443

และสำหรับชาวไทยนั้นยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจดจำครับ นั่นคือในหนังนั้นจะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ฟิเลียสเดินทางผ่านมายังประเทศไทย ซึ่งหากใครอ่านบทประพันธ์จะทราบดีครับว่ามีการดัดแปลงเกิดขึ้น เพราะตามบทประพันธ์นั้นฟิเลียสจะเดินทางผ่านสิงคโปร์เพื่อไปยังฮ่องกง แต่ในเรื่องเราจะได้เห็นฟิเลียสนั่งเรือชื่อ S.S. Rangoon ผ่านกรุงเทพเพื่อไปยังฮ่องกงแทน โดยเราจะได้เห็นภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ปรากฏในภาพยนตร์

ซึ่งเหตุผลที่ Todd ตัดสินใจดัดแปลงบทภาพยนตร์ให้ฟิเลียสเดินทางผ่านประเทศไทยนั้น ก็เนื่องจาก Michael Todd เป็นพระสหายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั่นเอง

อันว่าสัมพันธไมตรีนี้ได้เริ่มต้นย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1949 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นเจ้าชายภูมิพล โดย Todd ได้อ่านพบข่าวว่าพระองค์ทรงเป็นนักดนตรีแนว Jazz ผู้มีปรีชา จึงติดต่อไปและในเวลาต่อมา Todd ก็ได้รับพัสดุห่อหนึ่ง ภายในมีเพลงโดยเจ้าชายภูมิพล อยู่ด้วยกัน 6 เพลง ซึ่ง Todd ได้นำเพลงเหล่านั้นไปใช้ประกอบละครบรอดเวย์ในเวลาต่อมา

และนั่นคือจุดเริ่มแห่งสัมพันธไมตรีอันทำให้ Todd ชื่นชอบในประเทศไทย และตัดสินใจดัดแปลงบทภาพยนตร์ให้ชาวโลกมีโอกาสได้รู้จักประเทศไทย แม้จะเป็นเพียงเวลาไม่นานบนจอ แต่นั่นก็คือความตั้งใจของ Todd (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมนี้ ต้องขอขอบคุณบทความของ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล อย่างยิ่งครับ ที่ทำให้ผมได้ทราบข้อมูลละเอียดขึ้น)

สำหรับสาขาอื่นๆ ที่หนังได้ออสการ์ไปก็ได้แก่ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม และ ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ซึ่งรางวัลหลังนี่เห็นด้วยมากๆ ครับ บทเพลงที่ Victor Young ใส่ลงไปในหนังไพเราะมากๆ ให้อารมณ์ “ท่องรอบโลกอันสวยงาม อย่างสุนทรีย์ยิ่ง” ได้เหมาะเจาะจริงๆ

แน่นอนครับถ้าว่าในแง่คุณภาพ ความลึก ความครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ หนังเรื่องนี้อาจไม่ถึงระดับนั้นเสียทุกส่วน แต่ก็พูดได้เต็มปากครับว่านี่คือหนังที่มีคุณค่า น่าลองลิ้มลองชมสักครั้งครา

เฉียดสามดาวครับ

Star22

(7.5/10)

SHARE THIS: