Jim & Andy: The Great Beyond – Featuring a Very Special, Contractually Obligated Mention of Tony Clifton (2017) จิมและแอนดี้

24067901_1842131322484327_5990216062175429214_n

เคยสงสัยไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Jim Carrey? หากใครติดตามดาราหน้ายางคนนี้มาตลอด จะรู้สึกได้ว่าระยะหลังเหมือนเขาจะห่างหายไปจากวงการ ผลงานก็มีปังบ้างแป้กบ้างตามประสา แต่ที่แน่ๆ คือมันไมเ่หมือนสมัยก่อนตอนยุค 90 ที่ถือเป็นยุครุ่งเรืองของเขา

ผมนั้นออกตัวเลยครับว่าเป็นแฟนหนังเขา และเอาใจช่วยเขามาตลอด แต่ก็รู้สึกนะ… มันเป็นความรู้สึกลึกๆ อยู่ภายในว่า Carrey มีความเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการแสดงบทแอนดี้ คอฟแมน ในหนังเรื่อง Man on the Moon

และหนังสารคดีเรื่องนี้ก็ถือเป็นการตอบคำถามหลายๆ อย่างที่ผมมีในใจครับ ซึ่งคำถามสำคัญเลยก็คือ “เกิดอะไรกันกับ Jim Carrey ตอนที่เขาเล่นเป็นแอนดี้ คอฟแมน?”

ใครดูเรื่อง Man on the Moon แล้วก็น่าจะจำลีลาของพี่เขาได้นะครับ เขาแสดงได้ดีมากๆ แม้ในบางบริบทอาจดูล้นกว่าแอนดี้ตัวจริงบ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาทำให้เราเชื่อได้จริงๆ ว่านายคนนี้คือแอนดี้ คอฟแมนของแท้แน่นอน

จำได้ว่าสมัยหนังฉาย มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบครับ บางคนไม่ชอบหนังและไม่ชอบแอนดี้ คอฟแมนเลยก็มี ซึ่งก็ไม่แปลกครับ เพราะว่าตามจริงอเมริกันชนจำนวนมากก็ไม่ชอบแอนดี้ คอฟแมนเหมือนกัน

แอนดี้ คอฟแมนเป็นดาราตลกที่ล้ำหน้ากว่าใครๆ เขาถือเป็นต้นตำรับมุกอำสารพัด โดยเฉพาะมุกประเภท “จัดฉากทำให้เกิดสถานการณ์กระอักกระอ่วน” แบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ให้แก๊งสามช่าน่ะครับ มุกหักหลัง มุกใส่อารมณ์ ฯลฯ ทั้งหมดนี่ แอนดี้เล่นมาหมดแล้ว

มันจึงไม่แปลกครับที่จะมีคนไม่ชอบเขา เพราะคิดว่าเขาเป็นพวกเกเร เป็นพวกชอบหาเรื่อง หรือบางคนมองเขาว่าปัญญาอ่อนไปเลยก็มี แต่สำหรับแอนดี้แล้ว หากเขาเล่นแล้วคนฝังใจ (ไม่ว่าจะฝังเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม) มันคือความสำเร็จ และเป็นความสำเร็จแบบที่เขาต้องการมากกว่าแค่คนขำขันชั่วคราว แล้วพอรูดม่านลงคนก็ลืม

สำหรับหลายคนแล้ว แอนดี้ คอฟแมนคืออัจฉริยะระดับตำนาน แต่สำหรับหลายคน ก็มองว่าหมอนี่เป็นคนแย่ๆ ไม่น่าคบหา เหยียดเพศ เหยียวผิว ดูถูกคนอื่น หรือไม่ก็เป็นคนที่ทำงานด้วยยากเย็น จนเห็นหน้าแล้วก็อยากจะเดินหนีไปไกลๆ

ในสารคดีเรื่องนี้เราจะได้เห็นภาพเบื้องหลังของจริงเมื่อตอน Carrey ถ่ายทำ Man on the Moon ซึ่งสำหรับผมแล้ว ถือเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ นะ เพราะตลอดเวลาที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ เสมือนว่า Jim Carrey ได้หายไปจากโลกครับ และคนที่มาอยู่ในร่างของเขากลับเป็น แอนดี้ คอฟแมน แทน

ผมชอบตอนที่ Carrey บอกว่า หนัง Man on the Moon จริงๆ ไม่ได้มีแค่ในหนังเท่านั้น แต่ภาพเบื้องหลังทั้งหมดนี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนังด้วย เพราะไม่ว่าจะทีมงาน นักแสดง ผู้กำกับ หรือใครก็ตามล้วนเจอฤทธิ์เดชของแอนดี้ในร่างของ Jim Carrey มาแล้วทั้งนั้น

มีครั้งหนึ่งผู้กำกับ Milos Forman ก็เริ่มจะไม่ไหวกับการรับมือ “แอนดี้ในร่าง Jim Carrey” เลยบอกไปตรงๆ ว่าอยากให้ Carrey ลดๆ ความเป็นแอนดี้ลงบ้าง พอเขาได้ยินดังนั้น Carrey ก็ตอบว่า “คุณจะให้ผมไล่พวกเขาออก (หมายถึงแอนดี้ คอฟแมน และโทนี่ คลิฟตัน-อีกหนึ่งภาคของแอนดี้) ก็ได้นะ แล้วให้ผมแสดงเลียนแบบพวกเขาแทนก็ได้ ผมว่าผมทำได้ดีด้วย ว่าแต่คุณต้องการแบบนั้นจริงๆ ไหมล่ะ?”

MV5BY2ViMmI1MzgtOGEyOS00NjE1LTljNmEtMzUyZDJkN2Q3ZTM1XkEyXkFqcGdeQXVyNjY1NzcwODg@._V1_SX1777_CR0,0,1777,879_AL_

Forman เงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบว่า “ไม่” อันนี้ก็แสดงให้เห็นถึงสปิริตในการทำงานเลยครับ เพราะผมว่า Forman เครียดเหมือนกันกับการทำงานหนนี้ แต่เขาก็รู้ว่า Carrey เล่นเป็นแอนดี้ได้ดีมาก องค์แอนดี้มาลงประทับซะขนาดนี้ เลยทำให้เขาต้องยอมทนความเพี้ยนสารพัด เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

ถึงจุดนี้ผมชื่นชมทีมงานของหนังเรื่องนี้แบบทั้งกองเลยครับ เพราะพวกเขาทุ่มใจกันทำจริงๆ แม้การทำงานมันอาจจะมีอะไรให้หงุดหงิดใจอยู่บ้าง หรือการเป็นแอนดี้แบบเต็มร้อยของ Carrey จะทำให้คนเกิดความขุ่นเคืองอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็เดินหน้าทำด้วยกันจนเสร็จ และทำงานต่อไปด้วยความเข้าใจ (เพราะถ้าไม่เข้าใจล่ะก็ คงมีเรื่องกันถึงขั้นทำงานต่อกันไม่ได้แล้วน่ะครับ)

หนังเรื่องนี้เป็นสารคดีที่ทำให้เรารู้เบื้องลึกเบื้องหลังของหนัง Man on the Moon (ซึ่งการได้เห็นความทุ่มเทของทุกภาคส่วนแล้ว ทำให้ผมชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นไปอีกครับ) แล้วก็รู้จักแอนดี้ คอฟแมนมากขึ้น และนอกจากนี้หนังยังบอกเล่าชีวประวัติของ Jim Carrey ด้วยครับ

สำหรับผมแล้ว มันเป็นอะไรที่เลอค่ามากนัก เพราะเราได้รู้จักตัวตนของ Carrey ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง และที่สำคัญคือการสวมบทแอนดี้ ทำให้เขาพบจุดเปลี่ยนอย่างไรในชีวิต อันทำให้ผมได้พบคำตอบต่อคำถามที่มีในใจผมมาตลอดว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคุณครับ Jim?”

พอดูจบแล้วผมเข้าใจเลยนะ คือมันกลายเป็นว่าการแสดงเป็นแอนดี้ทำให้ Carrey ได้ค้นพบความจริงหลายๆ อย่าง ทำให้เขาเข้าถึงสารพัดนิยามของคำว่า “ตลก” ที่มันมีหลายมิติและหลายระดับเหลือเกิน มันเหมือนเขาไปถึงยอดเขาเอเวอเรสที่ดาราตลกหลายคนอาจไม่เคยไปถึง ผ่านการแสดงครั้งนั้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตลอดเวลาที่ Carrey เป็นแอนดี้ เขาก็จะเหมือนเป็นแอนดี้จริงๆ และบางช่วงเขาก็วิพากษ์ Jim Carrey แบบตรงๆ ว่าหมอนี่เป็นคนแบบไหน ต้องการอะไร จุดอ่อนคืออะไร คือถ้ามองในบางมุมมันอาจดูเหมือนบ้าน่ะนะครับ แต่ผมกลับมองว่า Carrey ใช้ความเป็นแอนดี้ (รวมถึงโทนี่) มาสำรวจตนเอง

ผมเชื่อว่าบางครั้ง Jim Carrey ก็นั่งคุยกับแอนดี้ คอฟแมนในร่างของเขาน่ะครับ (หรือไม่ก็นั่งให้โทนี่ คลิฟตันด่า) และจุดเปลี่ยนที่เขาเจอก็คือสิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ สิ่งนี่แหละที่ทำให้ Jim Carrey หลังจากปี 1999 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

มันเหมือนเขาเดินผ่านประตูแห่งชีวิตบานหนึ่งมาน่ะครับ มันคือประตูที่เขาไม่อาจย้อนกลับไปได้ เขาได้ค้นพบบางสิ่งที่น้อยคนจะเข้าใจ และตัวเขาเองก็อาจจะยังไม่เข้าใจมันด้วยซ้ำ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาก้าวข้ามประตูมาแล้ว เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่โตขึ้นเป็นต้นแล้ว ย่อมไม่สามารถย้อนคืนกลับเป็นเมล็ดเดิมได้อีก

หากผมต้องอยู่ในสภาวะเดียวกับเขา ผมเองก็คงปฏิบัติตัวไม่ถูกเหมือนกันน่ะนะครับ เหมือนเรารู้และเข้าใจอะไรหลายอย่าง และเกิดคำถามต่อมาอีกหลายอย่าง แต่เราก็ไม่รู้จะยังไงต่อ เพราะบางทีความเข้าใจที่ผุดขึ้นในหัวเรา (ไม่ว่าจะเกิดจากการตกผลึก จากประสบการณ์ หรือจากการคิด) กับ “ปกติวิสัยของโลก” มันก็ขัดแย้งกันเหลือเกิน

ผมรู้สึกเห็นใจ Jim Carrey อยู่เหมือนกันครับ ในแง่หนึ่งสิ่งที่เขาได้มาก็คือการเปิดโลก มันอาจเป็นคำตอบที่เขารอมานานในฐานะนักแสดงตลกคนหนึ่งก็ได้ ซึ่งเขาก็เหมือนได้แอนดี้ คอฟแมนมาเป็นครูให้ แต่อีกแง่หนึ่งก็ทำให้เขามีช่องว่างเกิดขึ้นครับ ช่องว่างระหว่างตัวเขากับโลกใบนี้ ช่องว่างระหว่างวิถีที่เขาพบกับวิถีที่โลกเป็น ช่องว่างระหว่างการเป็นตัวของตัวเองกับการเป็นคนของสังคม ที่ต้องแสดงหรือทำตนในแบบที่คนดูคาดหวัง

jim-andy_improv

การดูสารคดีนี้ก็ชวนให้เราย้อนดูตนเองครับ ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนต้องเจอกับประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิต ที่เปิดมุมคิด หรือพลิกโลกทั้งใบที่เราเคยรู้จัก ซึ่งมันอาจเป็นประโยชน์และทำให้เราเข้าใจอะไรต่างๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่เราเข้าใจนั้น คนรอบข้างอาจไม่เข้าใจก็ได้ และมันอาจกลายเป็นจุดเริ่มของ “ช่องว่าง” ก็ได้เหมือนกัน

มันเป็นเรื่องย้อนแย้งที่น่าขันอยู่ในที บางทีการเข้าใจโลกแบบที่มันเป็น มันเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่เรากลับต้องพยายามทำเป็นลืมๆ ทำเป็นยอมๆ “กระแสสังคม” เอาแค่เรื่องง่ายๆ อย่าง “การโกหก” ที่เรามักถูกสอนว่ามันไม่ดีอย่างไร แต่เอาเข้าจริงหากเราจะใช้ชีวิตให้อยู่รอดในบางสถานการณ์เราก็ต้องยอมโกหก… ผมเชื่อว่าท่านคงพอนึกภาพออกน่ะนะครับ มันคือความย้อนแย้งที่จริงๆ คนทั้งหลายก็ใช่จะไม่รู้นะ แต่พวกเราเลือกที่จะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ยอมให้โลกมันหมุนต่อไปด้วยคำลวง ความเท็จ การเสแสร้ง ตีสองหน้า ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หรือการทำดีเพื่อหวังผล… บางทีเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราก็ใส่หน้ากากเข้าหากัน…

บางทีสิ่งที่แอนดี้ทำ ก็เป็นการทำเพื่อ Break อะไรบางอย่างในใจคนดู ทำให้คนดูรู้สึก ฉุกคิด หรือทบทวนสิ่งต่างๆ ทำให้คนดูเห็นความน่าขันของสิ่งที่คนในสังคมชอบทำตามๆ กัน เราอาจมองว่าแอนดี้คือนักแสดงตลกสุดเพี้ยน แต่ผมว่าแอนดี้เองอาจจะมองสิ่งที่พวกเราทั้งหลายทำกันอยู่ทุกวี่วัน มองว่าเราเป็นตัวตลกที่น่าขันเสียยิ่งกว่าการแสดงเพี้ยนๆ แปลกๆ ของเขาเสียอีก

โดยรวมแล้วนี่ถือเป็นสารคดีที่ทำออกมาได้ดีครับ ดูแล้วรู้จักแอนดี้มากขึ้น รู้จัก Jim Carrey มากขึ้น และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือประเด็นชวนคิดที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งผมบอกได้เลยว่านี่เป็นสารคดีที่มีเมล็ดพันธุ์ทางความคิดและมุมคิดที่อุดมมากเรื่องหนึ่งทีเดียว

คุ้มค่าแก่การดู โดยเฉพาะแฟนตัวจริงของ Jim Carrey ครับ

สามดาวครับ

Star31

(8/10)