เจาะ “มายาพิศวง” จงแสดงไว้ให้โลกได้จดจำ

เจาะ "มายาพิศวง" จงแสดงไว้ให้โลกได้จดจำ

ผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิตของม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ในฐานะผู้กำกับ ที่รวบรวมบรรดานักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยมาประชันบทบาทสุดเข้มข้น ในหนังที่ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง Six Characters มายาพิศวง

“Six Characters มายาพิศวง” ได้รับการดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง “Six Characters in Search of an Author” ประพันธ์โดย ลุยจิ ปิรันเดลโล นักประพันธ์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวอิตาเลี่ยน และแปลเป็นภาษาไทยโดย รศ.สดใส พันธุมโกมล ศิลปินแห่งชาติ ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบทละครเรื่องนี้มักจะถูกนำมาเรียนในชั้นเรียนของภาควิชาการละครอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อพิจารณาในช่วงเวลาที่บทประพันธ์ชิ้นนี้ถูกแต่งขึ้นในปี 1921 (ประมาณ 100 กว่าปีก่อน) แต่เนื้อหากลับมีความร่วมสมัย ล้ำกาลเวลาและยังมีความสลับซับซ้อนในตัวเรื่องราวเอง เอกลักษณ์ในงานเขียนของปิรันเดลโล มักจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของจิตใจมนุษย์อยู่เสมอ และใน Six Character คือการหยิบเอาเรื่องความเป็นจริงกับมายา เอามาประชันกันและตั้งคำถามว่า สรุปแล้วอะไรคือความจริงและอะไรไม่จริง

สิ่งที่เกิดขึ้นใน Six Character คือการที่นักประพันธ์ ผู้กำกับการแสดง นักแสดง รวมไปถึงทีมงานเบื้องหลัง ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงปรุงแต่งเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในผลงานภาพยนตร์ที่พวกเขากำลังจะสร้าง ซึ่งพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข แต่กลับกลายเป็นคนที่ด้อยอำนาจเมื่อเหล่าตัวละครทั้งหกได้ปรากฏตัวขึ้นและบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา

จะว่าไปลักษณะของการเล่าเรื่องราวของ Six Character คือการเล่าแบบยกละครเวทีเอามาซ้อนทับวิธีการเล่าแบบภาพยนตร์อีกตลบหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ “ตัวละครทั้งหก” เล่าเหตุการณ์ย้อนอดีตของตัวเองกลับไป ซึ่งถ้าเป็นละครเวที ผู้ชมคงจะได้รับรู้เรื่องราวปูมหลังของตัวละครเหล่านี้ผ่าน “คำพูด” แต่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ใช้วิธีการเล่าด้วยภาพเพื่อให้คนดูเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายและลดกระบวนการในการตีความลงไป

วิธีการเปิดเรื่องราวมาในกองถ่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่มีผู้กำกับคำรณ สิงหะ (มาริโอ้ เมาเร่อ) สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ของเมืองไทย อดีตดาราภาพยนตร์ยอดนิยมฝ่ายชาย เจ้าอารมณ์ แต่มากฝีมือ ผู้กำลังเปิดกล้องหนังผีเรื่องใหม่ เขาต้องรับมือกับดาราเบอร์ต้นๆอย่างน้ำฟ้า ดารณี (แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์) ผู้เลอโฉม แต่ก็เรื่องเยอะและเอาแต่ใจตัวเองเป็นที่สุด ส่วนพระเอกของเรื่องอย่างอัคนี เกรียงไกร (นิว-ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) ก็ฤทธิ์เดชไม่แพ้กัน เพราะเขาเป็นดาราคู่ขวัญกับน้ำฟ้า ที่หลงในชื่อเสียงความโด่งดังของตัวเอง ในฐานะพระเอกตลอดกาล แต่กลับแสดงภาพยนตร์ได้เงอะงะและไม่ใส่ใจในวิชาชีพของตัวเองสักเท่าไหร่

ความวุ่นวายในกองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้มีแค่ดารามากเรื่องมากความ แต่ระบบกองถ่ายที่ดูเหมือนผู้กำกับจะมีอำนาจในการสั่งการทั้งหมด จนทำให้บรรดาลูกจ้างคนเบื้องหลังได้แต่ก้มหน้ารับคำสั่งราวกับคนรับใช้ จนกระทั่งจู่ๆเครื่องปั่นไฟเกิดระเบิดและทำให้ไฟดับ ส่งผลให้กองถ่ายหนังเรื่องนี้ต้องหยุดชะงัก ไม่นานหลังจากนั้นก็มีบุคคลแปลกหน้าหกคน ได้เดินเข้ามายังสตูดิโอแห่งนี้พร้อมกับอ้างว่า พวกเขากำลังเดินทางมาตามหานักประพันธ์ ให้กลับมารับผิดชอบในการแต่งเรื่องราวของพวกเขาให้จบบริบูรณ์เสียที

เริ่มแรกคนในกองถ่ายภาพยนตร์มองว่า นี่คือการเล่นตลก หรือไม่ทั้งหกคนก็เป็นบุคคลวิกลจริตที่เข้ามาป่วนกองถ่าย จนกระทั่งเมื่อนายสุริยา (เจี๊ยบ-ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) เริ่มบอกเล่าเรื่องราวของเขาให้ผู้กำกับได้ฟัง บรรดาผู้คนในกองถ่ายหนังแห่งนี้ก็เหมือนกับต้องมนต์สะกด

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวคำบอกเล่าของนายสุริยาเต็มไปด้วย ชีวิตอันแสนแปลกประหลาด สลับซับซ้อนและดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งความสัมพันธ์ของเขากับอมร เพ็ชรรัตน์ (แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุข) อดีตนางงามประจำจังหวัด และภรรยาคหบดีที่มั่งคั่งที่สุด เรียกได้ว่าเป็นความแปลกประหลาด เมื่อหญิงงามรุ่นราวคราวลูกต้องมาแต่งงานกับชายวัยคราวพ่อ จนให้กำเนิดลูกชายมาหนึ่งคนที่ชื่อว่าภูผา (ฮัท-จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร) แต่แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นอมร กลับถูกกล่าวหาว่าเธอคบชู้จนต้องย้ายออกจากบ้านหลังนี้ไป

อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจก็คืออมรา (แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์) ลูกสาวของอมรกับชายชู้ ที่เติบโตมาด้วยความยากลำบาก หลังจากที่เธอกำพร้าพ่อและเมื่ออมราตัดสินใจย้ายกลับมายังบ้านเกิด ชะตากรรมอันแสนพลิกผันได้ทำให้อมราได้กลายเป็นโสเภณีเบอร์ต้นของจังหวัดไปโดยปริยาย และความตื่นตะลึงขั้นสุดคือวันหนึ่งเมื่อเธอได้รับลูกค้าคนสำคัญนั่นคือนายสุริยา อดีตสามีของแม่ตัวเอง!

ความพลิกผันและเรื่องราวเหนือความคาดหมายของผู้ชม คือการยั่วล้อกับความรู้สึกที่ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงของมนุษย์เราหรือเปล่า ยังไม่รวมไปถึงการตั้งคำถามว่า ระหว่างการถ่ายทอดเรื่องราวของเจ้าของเรื่อง กับการตีความของนักแสดงนั้น บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อมันถูกหยิบนำมาสื่อสารในรูปแบบที่ตัวนักแสดงเองไม่เข้าอกเข้าใจในเรื่องราวนั้นจริงๆ มันอาจจะผันเปลี่ยนแปรผันให้กลายเป็นความน่าตลกขบขันและน่าหัวเราะเยาะ จนกระทั่งเหล่านักแสดงต้องหยิบบารมีและชื่อเสียงของตัวเองมาแก้เขิน ว่าจริงๆแล้วความสามารถของพวกเขานั้นได้รับการการันตีความกระแสความนิยมชมชอบจากมหาชน โดยไม่ได้ตระหนักเลยด้วยซ้ำไปว่าสิ่งที่พวกเขาเอ่ยอ้างว่า “การแสดง” นั้นแท้ที่จริงแล้ว พวกเขาได้ไม่ได้เข้าใจมันเลยสักนิดเดียว

จริงๆแล้ว “มายาพิศวง” เองก็อาจจะกำลังยั่วล้อ “การแสดง” ของเหล่านักแสดงในหนังเรื่องนี้อีกตลบเช่นเดียวกัน ว่าตกลงแล้วการแสดงแบบไหนกันแน่ ที่เรียกว่าการแสดงอันแท้จริง!