รีวิวซีรีส์ “Mine”

Mine

ปิดฉากลงไปเรียบร้อยกับซีรีส์ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันแพรวพราว ที่อาจจะไม่ใช่ลูกเล่นที่โดดเด่นตรงกับกระแสคอซีรีส์เกาหลีแกนหลักสักเท่าไหร่ แต่สำหรับซีรีส์ “Mine” ทางช่อง tvN กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาประดับวงการซีรีส์ได้อีกเรื่อง ที่นอกจะได้แอคติ้งที่แสนคมคายของเหล่านักแสดงในเรื่อง ยังมีบทละครที่เข้าขั้นยอดเยี่ยมและเฉียบขาดที่ต้องยกให้เป็นอันดับต้นๆ ของปีนี้เลยทีเดียว

null

ซีรีส์ Mine เริ่มต้นออกอากาศมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เปิดฉากมาด้วยความแซ่บระดับหนึ่งที่มีความเชือดเฉือนและเล่ห์เหลี่ยมอยู่ในตัวแบบที่น่าติดตาม หากพิจารณาดูแบบผิวเผินแล้ว ในช่วงแรกๆ ของ Mine มีความคล้ายกับละครไทยอยู่ไม่น้อย แต่แตกต่างกันที่ไม่มีจริตจะก้านเบอร์ใหญ่เหมือนของบ้านเรา องค์ประกอบของซีรีส์ครบสูตรความน้ำเน่า คุณหญิง-คุณนาย เรือนใหญ่-เรือนเล็ก หรือแม้กระทั่งบรรดาคนใช้มีซีนทั้งหลาย

ซีรีส์เรื่องนี้ออกสตาร์ทได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการโปรยปมปริศนาในตอนท้ายเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนจะค่อยๆ ขยี้ให้ปมนั้นเริ่มปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น ผ่านพฤติกรรมและความคิดของตัวละครต่างๆ ที่แฝงเอาไว้ได้อย่างแยบยล ต้องบอกเลยว่าในช่วง 6-7 ตอนแรกของซีรีส์ ค่อนข้างเฉือนคมและเขียนบทออกมาได้ค่อนข้างสนุก กระแทกใจคอละครไทยเป็นอย่างดี

null

แต่พอเริ่มปูทางเข้าสู่แกนหลักของเรื่อง Mine ก็ค่อยๆ ยกระดับความซีเรียสจริงจังขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กับบทละครที่ยังคมคายไม่เปลี่ยน ปรับจากโหมดเชือดเฉือนมาผสมโรงกับความดราม่าต่างๆ และยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า Mine เป็นซีรีส์ที่เดินโดดเด่นด้วย “พลังของผู้หญิง” โดยที่ “ความเป็นชาย” เป็นแค่ส่วนประกอบเสริมเท่านั้น

แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของ Mine จะปรับโหมดกลายเป็นซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนปมฆาตกรรมไปเกือบจะเต็มรูปแบบ แต่บทละครก็ยังไม่ทิ้งประเด็นอื่นๆ ที่โรยปูทางมาเลยสักจุดเดียว ก่อนจะมาถึงอีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการซีรีส์เกาหลี นั่นก็คือ การขับเคลื่อนด้วยตัวละครหลักที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการทีวีเกาหลีใต้

null

ประเด็นความหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้ยังไม่ใช่สิ่งที่สังคมท้องถิ่นเปิดใจให้การยอมรับมากเท่าที่ควรนัก แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลุ่มคนเพศทางเลือกก็ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวตนของตัวเองได้อย่างโจ่งแจ้ง เช่นเดียวกับสิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านตัวละครนำของซีรีส์เรื่องนี้ ที่มีต้องอำนาจและยศที่ต้องแบกรับ แต่กลับไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ มีเพียงความกล้าและความมั่นใจในตัวเองเท่านั้น ที่จะทำให้เธอลุกขึ้นยืนในแบบที่เป็นตัวเองได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า Mine ในช่วงท้ายๆ ที่นอกจากจะผสมโรงกับความเครียดในการเปิดเผยปมเบื้องคดีฆาตกรรมแล้ว ยังมีการแฝงข้อคิดต่างๆ เอาไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความรัก, ความโลภ, ความหลง และ ความเป็นตัวของตัวเอง วนเวียนเป็นวังวนหลักของซีรีส์เรื่องนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทั้งเชิงรูปธรรมและเชิงสัญลักษณ์ล้วนแต่แฝงความหมายที่ลึกซึ้ง

null

ซีรีส์ Mine จึงได้ทำการปิดฉากลงไปด้วยบทสรุปประเด็นที่แสนจะคมคาย นั่นก็คือ “การเป็นตัวของตัวเอง” ที่แน่นอนว่าเริ่มต้นได้จากการรักตัวเองก่อนเสมอ เหมือนกับที่ตัวละครหลักๆ ของเรื่องช่วยขับเคลื่อนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น “ซอฮีซู” ที่เลือกเส้นทางที่เป็นตัวของเธอเอง “จองซอฮยอน” ได้เลือกตามใจและความรู้สึกของตัวเองในท้ายที่สุด “ฮีฮเยจิน” ได้ค้นพบสิ่งที่ยึดเหนี่่ยวตัวเองได้อย่างแท้จริง “คิมยูยอน” กับสมการที่ต้องปรับตัวกับชีวิตใหม่ของเธอ “แม่ชีเอ็มมา” ที่ปล่อยวางสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั่ง “คุณนายยางซุนฮเย” ก็ยังรู้จักความเป็นตัวของเธอเอง

null

และในท้ายที่สุด คงต้องยกย่องให้กับนักเขียนบท “แบคมีกยอง” และทีมของเธอ ที่ถ่ายทอดความคมคายของ Mine ออกมาได้สมบูรณ์ โดยเฉพาะความกล้าที่จะหยิบเอาประเด็น LGBTQ ขึ้นมาทำให้โดดเด่นในช่วงท้ายของเรื่องได้อย่างเด่นชัด เป็นการส่งท้าย Pride Month ได้อย่างงดงาม นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่แทบจะยังไม่เคยเกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์เกาหลีใต้ และเชื่อว่านี่อาจจะเป็นการจุดประกายในการให้การยอมรับในประเด็นนี้มากขึ้นในสังคมด้วย

สุดท้ายแล้ว “การที่รักตัวเองได้ แม้ว่าจะสูญเสียทุกสิ่งไป” นั่นคือประโยคคำตอบทิ้งท้ายเอาไว้ของซีรีส์ Mine ที่สรุปเอาไว้ได้อย่างลงตัว แบบที่ตัวละคร ซอฮีซู ได้กล่าวทิ้งทายเอาไว้…