The Bucket List หมายถึง “รายการที่อยากทำให้ได้ก่อนตายครับ” และหนังเรื่องนี้ก็มีเนื้อหาว่าด้วยชาย 2 คนที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งและอาจอยู่ได้อีกไม่นาน ดังนั้นแทนที่จะต้องนอนรอความตาย ทั้งสองเลยตัดสินใจออกท่องโลก ไปตระเวนทำในสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ใน Bucket List ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Jack Nicholson รับบท เอ็ดเวิร์ด เจ้าของธุรกิจโรงพยาบาล กับ Morgan Freeman มารับบท คาร์เตอร์ ช่างซ่อมรถที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อครอบครัวมาหลายสิบปี พวกเขาได้มาเจอกันเพราะพักอยู่ในโรงพยาบาลห้องเดียวกันครับ จากตอนแรกที่ต่างคนต่างอยู่ ก็ค่อยๆ ทำความรู้จักกัน และสุดท้ายก็กลายมาเป็นคู่ซี้ที่ไปไหนไปกัน เพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในโค้งสุดท้ายของชีวิต
สิ่งแรกที่อยากให้ทุกท่านทราบก็คือ Freeman เคยบอกไว้ครับว่ารายการหนึ่งใน Bucket List ของเขาคือ ชีวิตนี้อยากเล่นหนังร่วมกับ Nicholson สักครั้ง แล้วหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เขาขีดฆ่ารายการนี้ออกจากลิสต์ไปได้หนึ่งข้อ
ความดีความชอบของหนังส่วนใหญ่นี่ต้องยกให้ Nicholson กับ Freeman เลยครับ แค่พวกเขามาร่วมจอกันเกือบตลอดทั้งเรื่องก็ทำให้หนังน่าติดตามได้อย่างมากแล้ว เรื่องการแสดงไม่ต้องห่วงครับ ลื่นไหลตลอดตั้งแต่เริ่มจนจบ ส่วนหนึ่งก็เพราะต่างคนต่างก็ได้แสดงในบทที่เหมาะกับคาแรคเตอร์ประจำของพวกเขา Nicholson ก็มาในมาดชายเจ้าอารมณ์ เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เวลาจะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้ และถือว่าตนคิดถูกเสมอ ในขณะที่ Freeman ก็มาในมาดนิ่งๆ พูดน้อย แต่เป็นคนช่างคิด ชอบใคร่ครวญและพิจารณาสิ่งต่างๆ เรียกว่าบทเหล่านี้สำหรับพวกเขาแล้วหลับตาเล่นก็ยังได้ สบายๆ
ในส่วนของการเดินเรื่องนั้นก็ถือว่าเรื่อยๆ ครับ อย่างที่บอกว่าพลังสำคัญจะไปตกอยู่ที่การแสดง ในขณะที่ตัวบทและการเดินเรื่องอาจจะยังไม่สุดเต็มที่ คือหนังก็มีสาระและได้น้ำได้เนื้ออยู่น่ะครับ เพียงแต่อารมณ์อาจไม่ถึงขั้นลึกซึ้ง หรือชวนประทับใจแบบเต็มๆ แต่ในแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามสไตล์ของหนังตะวันตก ที่จะไม่ขยี้เรื่องราวหรือเน้นสถานการณ์ให้ดูฟูมฟาย ซึ่งจะต่างจากฟากตะวันออกอยู่พอตัว
หนังกำกับโดย Rob Reiner เจ้าของผลงานชั้นดีอย่าง Stand by Me, Misery, A Few Good Men กับเรื่องนี้ผมว่าเขาทำงานสบายเลยครับ เพราะได้ดาราระดับตำนานมาแสดงนำ ที่เหลือก็เพียงคุมทิศทางของหนังให้เหมาะสม ซึ่งก็อย่างที่บอกน่ะครับว่าสไตล์ก็เป็นไปตามแบบหนังตะวันตกแนวดราม่า
และบางอย่างที่ใส่ลงไปในหนังนั้นก็ได้มาจากไอเดียของ 2 ดารานำนั่นเองครับ อย่าง “แว่นกระจก” ที่เอ็ดเวิร์ดใส่นั้น ก็ได้มาจากประสบการณ์ตรงของ Nicholson ที่เคยมีเหตุให้ต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล เขาเลยหาแว่นแบบนี้มาใส่ เวลามองทีวีจะได้ไม่ต้องแหงนเงยหน้าขึ้นมา พอ Nicholson เสนอไอเดีย Reiner ก็ชอบครับ อีกทั้งมันยังเข้ากับคาแรคเตอร์ของเอ็ดเวิร์ดอย่างยิ่ง ก็เลยเอามาใส่ลงในหนัง
ที่น่าสนใจคือหลังจากทำเรื่องนี้ซึ่งว่าด้วยคน 2 คนเดินทางไปสู่จุดสุดท้ายของชีวิตแล้ว Reiner ก็ไปทำเรื่อง Filpped ต่อครับ ซึ่งเรื่องนั้นว่าด้วยความรักระหว่างเด็ก 2 คนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มวัยสาว เพิ่งริเริ่มเข้าใจความจริงของชีวิต ดังนั้นถ้าให้แนะนำแล้ว หลังจากดูเรื่องนี้จบก็ตามไปดู Flipped ต่อได้เลยครับ อาจไม่ใช่หนังในจักรวาลเดียวกัน แต่ผมถือว่าเป็น “หนังในวัฏจักรเดียวกัน” ครับ
แน่นอนว่าแก่นแกนหลักของหนังคือการชี้ชวนให้เราทบทวนชีวิตตน ว่าเราใช้ชีวิตคุ้มค่าหรือไม่ มีอะไรไหมที่เราอยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ หรือบางเรื่องเราอาจเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่งเพราะคิดว่ายังมีเวลาในชีวิตอีกถมถืด แต่ประเด็นคือเราไม่มีทางรู้ได้ครับว่าเราจะอยู่ต่อไปได้นานเพียงไร
ดังนั้นหากทำได้ เราจึงควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ควรประมาท และที่สำคัญคือควรใช้ชีวิตแบบที่ต่อให้เราต้องจากโลกนี้ไป เราก็จะไม่เสียใจที่ชาตินี้ได้เกิดมา ว่าง่ายๆ คือถึงตายก็ตายตาหลับนั่นเอง
ลองทำลิสต์ขึ้นมาครับว่าเราอยากทำอะไรบ้าง จะทำได้ครบหมดหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการตั้งหลักให้ชีวิตพอมีทิศทาง แล้วลิสต์นี้สามารถเพิ่มได้เสมอครับ ไม่จำเป็นต้องเขียนให้เสร็จภายในรอบเดียว เพราะระหว่างที่เราใช้ชีวิตนั้น เราก็อาจคิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่อยากทำเพิ่มขึ้นมาโดยที่ก่อนหน้านั้นเราอาจคิดไม่ถึงมาก่อนเลยก็ได้
ในแง่หนึ่งการทำลิสต์แบบนี้ก็อาจช่วยให้เราค้นพบสิ่งที่เราเป็น ค้นพบสิ่งที่เราอยากทำมากๆ ขึ้นมาได้เหมือนกันครับ เพราะมันจะช่วยโฟกัส จัดกลุ่ม คัดกรอง แยกแยะ อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตของเรา ทำให้เราเห็นตนเอง และเห็นสรรพสิ่งรอบตัวได้ชัดเจนมากขึ้น
แม้ Bucket List ในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องของคนที่ใกล้จะถึงจุดจบของชีวิต แต่การเขียน Bucket List ในชีวิตจริงของเรานั้น อาจนำพาเราไปพบกับจุดเริ่มต้นที่จะทำให้รู้ว่า “เราจะอยู่อย่างไร ให้ชีวิตคุ้มค่ามากขึ้น” ก็เป็นได้ครับ
Bucket List จึงไม่ได้มีไว้เพื่อเขียนเฉพาะตอนใกล้ตาย แต่ยังเหมาะแก่การเขียนไว้เพื่อตั้งไข่ให้กับชีวิตด้วย
หนังถือว่ามีความ Feel Good อยู่พอตัวครับ แม้บทสรุปจะเดาได้ว่ามันอาจไม่ได้แฮปปี้นัก แต่พอดูจบแล้วมันรู้สึกอิ่มเอมนะ เหมือนพอเราได้เห็นการเดินทางร่วมกันของเอ็ดเวิร์ดและคาร์เตอร์ มันทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างในชีวิตของเรา ทำให้ตระหนักถึงอะไรบางอย่างในโลกกลมๆ ใบนี้ และแม้เรื่องราวจจะเจือด้วยความเศร้า แต่เราก็เห็นความงดงามได้จากเรื่องราวนี้
อีกตัวละครที่ผมชื่อคือ โธมัส ผู้ช่วยของเอ็ดเวิร์ดครับ (ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้ชื่อโธมัสด้วยซ้ำ) รายนี้มาแบบนิ่งๆ แต่รู้สึกได้ว่าเป็นคนที่เอ็ดเวิร์ดไว้ใจได้มากที่สุด Sean Hayes แสดงบทนี้ได้อย่างพอเหมาะ ไม่มากเกินและไม่น้อยเกิน ถือเป็นอีกส่วนที่เพิ่มความพอเหมาะให้กับหนังเรื่องนี้ และอีกคนที่ผมคิดถึงเป็นการส่วนตัวคือ Rob Morrow ที่มาแสดงเป็นหมอประจำตัวของเอ็ดเวิร์ดน่ะครับ รายนี้จริงๆ ก็แสดงหนังได้ดี เคยได้รับบทเด่นใน Quiz Show แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ดังครับ เลยไม่ค่อยได้เจอหน้า พอได้มาเจอในเรื่องนี้เลยรู้สึกดีเล็กๆ
Marc Shaiman คอมโพเซอร์ขาประจำของ Reiner ที่ปกติดนตรีของเขาจะออกแนวเร้าอารมณ์ แต่มาเรื่องนี้เขาเลือกที่จะใช้แนวทาง “เสริมบรรยากาศ” โทนของดนตรีจะออกแนวแจ๊สเบาๆ มาพร้อมเปียโนพลิ้วๆ สอดแทรกลงไปในแต่ละฉากเหมือนฉากหลังที่เสริมอารมณ์ให้เรื่องราวในฉากนั้น โดยที่ตัวดนตรีเองจะไม่เด่นเกินหน้านักแสดงหรือเหตุการณ์ และผลลัพธ์ที่ได้ก็ถือว่าเขาทำได้ดีเช่นเคยครับ
ตัวหนังจัดว่าประสบความสำเร็จสวยอยู่ครับ ลงทุนราว $45 ล้าน แล้วทำเงินในอเมริกาไปราว $93 ล้าน หากนับรายได้ทั่วโลกก็จะเป็น $175 ล้าน เป็นหนึ่งในหนังดราม่าผสมตลกที่ทำรายได้ดีทีเดียว
ตอนดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ผมสูดหายใจเข้าแบบลึกสุดๆ ก่อนจะหายใจออกอย่างผ่อนคลายครับ รู้สึกเหมือนเพิ่งเรียนจบคาบ “วิชาชีวิต” บางแง่คิดแม้จะเคยรู้แล้ว แต่ก็รู้สึกดีที่ได้รู้ซ้ำ – บางแง่คิดเคยรู้แล้ว แต่ก็เหมือนจะลืมไป นี่ก็ดีอีกเหมือนกันที่ได้ระลึกและใคร่ครวญถึงมันอีกครั้ง
ถือเป็นอีกหนึ่งหนังเกี่ยวกับชีวิตที่น่าดูอีกเรื่องครับ
สองดาวครึ่งครับ
(7/10)