ทำไมโปสเตอร์ของ Split ต้องเป็นรอยกระจกแตก? ตอนแรกผมไม่เอะใจนะ ก็คิดง่ายๆ ว่าคงเพราะเรื่องมันเกี่ยวกับบุคลิกที่แตกออกเป็น 23 ตัวตนของตัวเอก โปสเตอร์เลยทำเป็นรอยแตกซะ… แต่พอดูจบปุ๊บแล้วมาดูโปสเตอร์ใหม่ ก็ถึงบางอ้อเลยทีนี้
สำหรับผม หนังที่จะถือว่าเป็นผลงานที่ดีของพี่มาโนช (M. Night Shyamalan) ต้องมี 2 องค์ประกอบหลัก อย่างแรกคือ ต้องมีการเล่าเรื่องที่ดีครับ เพราะจริงๆ พี่เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งนะ ถ้าเรื่องไหนเขาแม่นๆ ล่ะก็ เขาจะสามารถกำหนดทิศทางของเรื่องได้อย่างแม่นยำ อันจะเป็นการกำหนดความคิดและอารมณ์ของเราไปในตัวด้วย (ว่าง่ายๆ คือดูแล้วจะโดนดึงเข้าไปสู่เรื่องราวที่พี่แกเล่านั่นเอง)
อย่างที่ 2 คือ ต้องมีแก่นเรื่องที่ดี พี่แกต้องมีแนวคิดที่แม่นเป๊ะว่าเรื่องที่เล่ามันเกี่ยวกับอะไร ธรรมชาติและจักรวาลของเรื่องราวคืออะไร หรือทฤษฎี+สมมติฐานตั้งต้นของเรื่องที่พี่แกจะเล่าคืออะไร หากเขาแม่นใน 2 องค์ประกอบนี้ หนังพี่แกก็จะออกมาดี ควรค่าแก่การลองชม
หลังจากพี่เขาไปหลงๆ ล้มๆ กับ After Earth เขาก็พยายาม Back to Basic ด้วยการทำหนังเขย่าขวัญทุนไม่สูง และหันมาเน้นที่การเล่าเรื่องแทน โดยเรื่องก่อนหน้าคือ The Visit ที่แม้จะไม่ดีเด่ แต่ก็ไม่เหลวแหลก จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง Split หนังที่เล่าถึงเควิน (James McAvoy) ชายที่มีบุคลิกแตกออกถึง 23 บุคลิก
แล้วเควินก็ไปจับตัวหญิงสาว 3 คนมาขังไว้ พวกเธอก็พยายามหาทางรอดเท่าที่จะทำได้ แต่ขณะเดียวกันพวกเธอก็มีคำถามว่าชายคนนี้จะจับเธอมาด้วยเหตุผลอะไรกันแน่? และเมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ความจริงก็ปรากฏออกมาทีละน้อยครับ…
หนังเรื่องนี้จัดว่าเป็นการคืนฟอร์มของพี่มาโนชครับ คือมันอาจไม่ใช่ฟอร์มสุดยอดเท่า The Sixth Sense นะ แต่สามารถเอาไปวางไว้ร่วมชั้นกับ Unbreakable และ Signs ได้เลย มันอร่อยกลมกล่อมในแบบของมัน มีทั้งเรื่องราวที่ดี การเล่าที่ดี และใช้องค์ประกอบอื่นๆ ที่มีอย่างพอเหมาะ
ผมรู้สึกว่า Split เป็นหนังลึกลับระทึกขวัญที่มีคลาสครับ มันสร้างบรรยากาศน่ากลัวมากขึ้นทีละน้อย และค่อยๆ ดึงเราให้จมเข้าสู่โลกของหนังได้อย่างเนียนทีเดียว แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าหากใครไม่เก็ทหรือไม่เชื่อใน “แนวคิด” ที่หนังพยายามบอก ก็อาจมองว่าหนังขาดความน่าเชื่อถือไปเลยก็ได้
แต่หากใครเชื่อหรือสามารถจินตนาการตามทฤษฎีที่หมอเฟลตเชอร์ (Betty Buckley) ร่ายไว้ล่ะก็ ผมเชื่อว่าท่านจะสนุกและอินไปกับเรื่องราวได้อย่างดีเลยครับ ซึ่งผมว่านั่นคืออีกหนึ่งความสนุกที่หาได้จากหนังของพี่มาโนช
ผมมองว่าพี่มาโนชแกเป็นนักคิดน่ะครับ แกชอบมองและเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากัน อีกทั้งชอบมองในหลายๆ มุม ดังนั้นแนวคิดหรือสมมติฐานที่พี่แกเอามาพูดถึงในหนังนั้น หากใครเชื่อก็จะสนุกไปกับมัน แต่หากใครไม่เชื่อก็จะหุยฮาหาว่าไร้สาระไปเลยก็มี (อย่างใน The Happening น่ะครับ)
แล้วทีนี้ผมอยู่ในข่ายว่าชอบและสนุกไปกับการคิดบนสมมติฐานของพี่แกครับ เลยสนุกมากกับการติดตามเรื่องราวและสังเกตรายละเอียดของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาว่ากันยาวๆ ในช่วงสปอยล์นะครับ (แต่ตอนนี้ยังไม่สปอยล์ครับ ไม่ต้องห่้วง ถ้าปอยล์เมื่อไร ผมบอกแน่นอนครับ)
จุดเด่นของหนังสำหรับผมแล้ว นอกจากบทที่น่าสนใจ ก็คือการเดินเรื่องที่ชวนให้ติดตาม อีกทั้งบรรยากาศความลึกลับอึดอัดทั้งหลายที่เกิดขึ้น อันนี้ไม่รู้ใครเป็นไหมนะครับ แต่ตอนใดก็ตามที่หนังฉายเรื่องราวตอนที่พวกสาวๆ โดนจับไว้ในห้องแคบๆ มันจะบังเกิดความรู้สึกอึดอัด… มันทำให้เรารู้สึก “อยากออกไปจากที่นั่นให้ไวๆ”
แต่ครั้นพอหนังตัดมาที่ฉากภายนอก (เช่น ฉากบ้านของหมอเฟลตเชอร์หรือภาพส่วนอื่นๆ ในเมือง) อารมณ์มันจะผ่อนคลาย มันจะเหมือนเราหายใจได้โล่งขึ้น ความอึดอัดคลายไปเยอะ ซึ่งผมว่านี่เป็นทีเด็ดอย่างหนึ่งของหนังน่ะครับ มันมีการสลับระหว่างอึดอัด (ด้วยฉากแคบๆ) กับผ่อนคลาย (ด้วยฉากโล่งๆ) อยู่ตลอด ซึ่งมันก็ส่งผลต่ออารมณ์ของเราไม่น้อยเหมือนกัน
จุดนี้ต้องขอเอ่ยชมผู้กำกับภาพ Mike Gioulakis ที่เคยสำแดงฝีมือมาแล้วจาก It Follows มาเรื่องนี้การนำเสนอภาพของเขาก็ยังเจืออารมณ์แปลกๆ เอาไว้ และได้อารมณ์อึดอัดแม้ฉากนั้นจะไม่ได้วางกล้องในมุมที่แคบก็ตาม (แบบเดียวกับที่เราเคยอึดอัดใน It Follows ทั้งที่ฉากนั้นๆ ก็กว้างจะตายไป)
พลังสำคัญอีกอย่างคือการแสดงของ McAvoy ครับ พี่แกจิตแตกได้เก่งมาก แล้วพอดูๆ ไปจะพบว่าพี่แกไม่ใช่เล่นแค่เปลี่ยนบุคลิกไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่บางจังหวะมันมีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น (โดยเฉพาะฉากที่เขาคุยกับหมอเฟลตเชอร์ แล้วหมอพยายามพูดให้เขา “เปิดเผยตัวตนจริงๆ” ออกมา ฉากนั้นพลังเยอะมากจริงๆ ครับ)
ดาราคนอื่นๆ ก็เหมาะกับบทนะ Anya Taylor-Joy ในบทเคซีย์ สาวน้อยที่ดูแปลกแยก บทนี้ก็ซับซ้อนใช้ได้ครับ เธอดูแตกต่างจากอีก 2 สาวที่โดนจับไป (รับบทโดย Haley Lu Richardson และ Jessica Sula) แบบชัดมากๆ ไม่ใช่แค่หน้าตาท่าทาง แต่รวมถึงการคิดและการแสดงออกด้วย เลยทำให้บทของเคซีย์นี่กลายเป็นอีกบทที่น่าสนใจไม่แพ้เควินทีเดียว
แต่คนที่ผมชอบมากมายต้องยกให้ Buckley ครับ เธอเป็นคุณหมอได้อย่างน่าเชื่อ+น่ารัก และจะว่าไปแล้วฝีมือเธอก็จัดว่าสูงมากๆ นะครับ เพราะเธอต้องร่วมซีนกับ McAvoy ที่มีบุคลิกสุดซับซ้อน (บางฉากก็ “ซ้อนของซ้อน” อีกที) คือถ้า Buckley ไม่เจ๋งจริงก็คงรับส่งพลังกับ McAvoy ไม่ได้ล่ะครับ โดยเฉพาะฉากที่เธอน้ำตาไหลนี่ ผมยังเกือบน้ำตาไหลตาม เพราะมวลอารมณ์มันมาจริงๆ
หนังทำออกมาน่าติดตาม ได้รสลึกลับผสมด้วยพลังของเรื่องราว แต่ก็อย่างที่บอกน่ะครับ หนังของพี่มาโนชทุกเรื่องย่อมมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ และส่วนมากแล้วถ้าชอบก็คือชอบไปเลย แต่ถ้าไม่ชอบก็จะเฉยหรือไม่ก็เบือนหน้าไปเลยก็มี
ดังนั้นถ้าจะให้ผมแนะนำล่ะก็ เอาเป็นว่าสำหรับแฟนหนังพี่มาโนช ผมอยากให้ลองดูครับ หรือถ้าใครชอบ McAvoy ล่ะก็เรื่องนี้ถือว่าคุ้มค่าน่าดูมากๆ แต่หากใครไม่เคยถูกจริตกับหนังของพี่มาโนชเลย ก็เป็นไปได้อย่างสูงว่าท่านจะไม่โดนเรื่องนี้ด้วยเหมือนกันครับ
+++++++++++++++++++++++++++++++
+++++++++++++++++++++++++++++++
เอาล่ะครับ ผมจะเข้าสู่โซนสปอยล์แล้วล่ะนะครับ
+++ใครไม่อยากทราบ ข้ามไปได้เลยครับ +++
+++++++++++++++++++++++++++++++
+++++++++++++++++++++++++++++++
ผมสนุกกับการเล่าเรื่องของพี่มาโนชครับ พี่ท่านยังคงใช้วิธี “เล่าง่ายๆ แต่ได้อารมณ์ซับซ้อน” ส่วนเรื่องความน่ากลัว/ตื่นเต้น/สยองขวัญ พวกนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องรองครับ เพราะถ้าว่าตามจริงหนังไม่ได้น่ากลัวอะไรมาก แต่จุดที่น่าสนใจจริงๆ คือ “สิ่งที่พี่มาโนชพยายามบอก” นั่นเอง
ผมชอบสมมติฐานหลายๆ อย่างที่พี่มาโนชแกเอามาใช้ครับ อย่างเรื่องศักยภาพของมนุษย์ หรือเรื่องที่ว่าแต่ละบุคลิกจะส่งผลต่อร่างกายต่างกัน มันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจดีครับ เพราะจริงๆ เรื่องจิตของมนุษย์นั้นยังมีความลับที่รอการค้นพบไม่แพ้เรื่องนอกโลกอื่นๆ หรือเรื่องผีสางเทวดาทั้งหลายซะอีก
และหากจะว่าไปแล้ว เรื่องราวในหนังมันเหมือนเป็นการหยิบเอาแนวคิด “การบูชายัญ” มานำเสนอใหม่น่ะครับ เหตุที่เกิดมันใช่เลย ไม่ว่าจะหลายๆ บุคลิกที่อยู่ในตัวเควินเปรียบเหมือนชนเผ่าหนึ่งที่ต้องการอยู่รอดและต้องการผู้คุ้มครองให้ชนเผ่าของตนเองรอด เลยมีการวิวัฒนาการบุคลิกใหม่ขึ้นมาเป็นเหมือนผู้นำ, เทพเจ้า, ปีศาจ หรือหมอผีที่มีไว้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ
แล้วพวกสาวๆ ก็ถูกจับมาบูชายัญครับ มันก็ทำให้คิดนะ ว่าการบูชายัญนั้นมันเป็นพิธีกรรมที่มีความหมายในทางจิตวิทยาอย่างน่าสนใจ เพราะเมื่อใครสักคนลงมือฆ่าคน มันย่อมมีผลต่อจิตใจของผู้ฆ่าเองและจิตใจของผู้พบเห็น/รับรู้
ผมเชื่อครับว่าใครหลายคนมีคำถามว่าทำไมการบูชายัญถึงต้องฆ่ากันด้วย การฆ่าคนเพื่อบูชาความเชื่อที่งมงายมันออกจะเกินไปไหม มันแรงหรือเล่นใหญ่เกินไปไหม? แต่หากเรามองในเชิงจิตใจ ก็จะพบว่ามันมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น และมันมีเหตุมีผลที่น่าคิดตามทีเดียว
ผลต่อตัวผู้พบเห็นก็คือบังเกิดความกลัวเกรง มันจะเกิดพลังในการควบคุมบางอย่าง (“คนที่ฆ่าคน” จะดูมีอำนาจเหนือ “คนที่ไม่ฆ่าคน” ขึ้นมาทันที) ซึ่งหากเรามองไปถึงเรื่องในวิถีเชิงสังคมแล้ว “คนที่ฆ่าคน” ก็จะถูกรับรู้เสมือนหนึ่งเป็นผู้นำ/เจ้าพ่อ/แตะไม่ได้/น่ากลัว ฯลฯ ในแง่หนึ่งมันจึงสื่อถึงอำนาจและการควบคุม
ส่วนผลต่อตัวผู้กระทำเอง ก็อาจเหมือนในเรื่อง Harry Potter น่ะครับ ที่เขาบอกว่าการฆ่าคนคือการฉีกทึ้งวิญญาณตน ในแง่หนึ่งมันคือการทำลายบางส่วนในจิตวิญญาณของมนุษย์ (ทำลายคุณธรรมความดี, ทำลายหิริโอตตัปปะ และเมตตากรุณา) และในบางแง่มันคือการ “ก้าวข้าม” หรือ “ทำลายกรอบกติกาขีดจำกัดของตน” มันคือการอัพเลเวลทะลวงขีดจำกัดของตน (ที่สยองขวัญอย่างยิ่ง)
ดังนั้นเมื่อ “อสูรในร่างเควิน” ลงมือฆ่าคน (มันฆ่าไป 3 ศพในเรื่องนี้) แล้วจากนั้นก็มีการกระพือข่าวออกไปโดยสื่อ แน่นอนว่ามันย่อมทำให้ประชาชนอกสั่นขวัญแขวนและกลัวอสูรตนนี้ขึ้นมาอย่างจับจิต ทำให้ “การฆ่าบูชายัญ” ของอสูรส่งผลต่อชาวเมือง (หรือผู้รับรู้) อย่างยิ่ง… อสูรและบุคลิกอื่นๆ ในร่างของเควินต้องการให้คนกลัวและยำเกรง… มันได้รับสิ่งนั้นแล้ว
และต่อตัวบุคลิกอื่นๆ ที่สนับสนุน “อสูร” พวกนั้นก็ได้ความสบายใจและความรู้สึกปลอดภัย หลังจากที่พวกเขาต้อง “กลัว” สังคมภายนอก ต้องกลัวคนอื่นจะรู้ แต่ตอนนี้พวกเขาเป็นฝ่ายทำให้คนอื่นกลัว เป็นฝ่ายที่เชื่อว่าตนเองอยู่เหนือคนอื่นเป็นที่เรียบร้อย (ใครไม่เห็นด้วยก็แค่จัดการซะ…)
บางครั้งคนเราก็ทำเรื่องเลวร้าย ไม่ใช่เพื่อความสะใจ และไม่ใช่เพราะความจำเป็นบังคับ แต่เพราะเราอยากยกตนให้เหนือคนอื่น ยกตนเองไปสู่ “ยอด” ของอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัย… เส้นทางสายมืดแบบนี้ มักทำได้ง่ายกว่า และได้ผลรวดเร็วเสมอ (เหมือนที่ดัมเบิลดอร์บอกกับแฮร์รี่ว่า “สักวันเธอจะต้องเลือก ระหว่าง “สิ่งที่ถูกต้อง” กับ “สิ่งที่ง่าย”)
และภายในตัวเรานั้น จริงๆ ก็มีหลายคนอาศัยอยู่ครับ มันสลับกันเป็นเจ้าเรือนในตัวเราเสมอ บางครั้งก็เป็นเราเมื่อวัยเด็ก บางครั้งก็เป็นเรา “คนที่เคยเจ็บปวดเพราะอะไรบางอย่างในอดีต” หรือบางครั้งก็เป็นตัวตนในอุดมคติที่เราพยายามจะเป็น… และแน่นอนครับ บางครั้งก็เป็น “อสูร” ที่พร้อมจะทำลายทุกสรรพสิ่ง… บางทีการตระหนักถึงเรื่องพวกนี้เอาไว้ ก็อาจช่วยเราได้ในบางสถานการณ์ (โดยเฉพาะยามที่อสูรจะออกมาอาละวาด)
หรือมุมมองเรื่องเกี่ยวกับ “สาวบริสุทธิ์” ของหนังเรื่องนี้ก็ต่างออกไป (สาวบริสุทธิ์มักเป็นเหยื่อในการบูชายัญเสมอ) แต่ปกติสาวบริสุทธิ์จะหมายถึงสาวจิ้นที่ไม่เคยมีสัมพันธ์กับชายใด เป็นสาวบริสุทธิ์ผุดผ่องอะไรประมาณนั้น แต่กับ Split สาวบริสุทธิ์คือสาวที่ “อ่อนต่อโลก”
“อ่อนต่อโลก” ในที่นี้ ไม่ใช่ไร้เดียงสาหรือไม่ประสีประสานะครับ แต่พี่มาโนชแกมองว่า สาวอ่อนต่อโลกคือ “สาวที่ไร้ประสบการณ์จากชีวิตที่แท้จริง” โดยประสบการณ์ที่สาวอ่อนต่อโลกเหล่านี้ได้รับมันเป็นแค่ “ประสบการณ์สำเร็จรูป” ที่ถูกแพ็ควางขายอยู่ตามห้าง หรือไม่ก็เป็นประสบการณ์ที่พ่อแม่จัดหาให้โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องลำบาก
หนังสะท้อนชัดมากผ่านตัวละครแคลร์ (Richardson) สาวสวยกระแสนิยมที่คิดว่าตัวเองรู้อะไรหลายอย่าง คิดว่าตัวเองเป็นคาราเต้ คิดว่าเราต้องเป็นฝ่ายคว้าโอกาสโจมตีก่อน ฯลฯ แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่าในตอนต้นเรื่อง (ก่อนโดนจับมา) เธอกลับเอาแต่เม้าท์แตกจนไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่รู้กระทั่งว่าพ่อโดนทำร้ายที่หลังรถ และไม่รู้กระทั่งว่ามีใครก็ไม่รู้เปิดประตูมานั่งอยู่เบาะหน้า
สิ่งที่จะก่ออันตรายให้กับตัวเราได้มากที่สุด อาจไม่ใช่ปัจจัยอื่นภายนอก แต่เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราเอง ไม่ว่าจะความประมาทเลินเล่อ, การคิดว่าตัวเราเก่งแล้ว แน่แล้ว, การไม่รู้จักสังเกตเปิดหูเปิดตา สังเกตสรรพสิ่งรอบตัว หรือการที่มองแต่ตนเอง อยู่ในโลกแคบๆ ของตนเอง จนเผลอคิดไปเองว่า “นี่คือโลกทั้งใบ” (ถ้าใช้ภาษาเก่าๆ ก็คือ กบในกะลา ครับ)
คิดในแง่หนึ่ง นี่ก็คงเป็นมุมมองที่พี่มาโนชมีต่อเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เหมือนกันนะครับ มันออกแนวเสียดสี และตั้งคำถามชวนให้คิด เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะ คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น คนแต่ละวัยก็มองว่าวัยของตนมีดี แต่ประเด็นคือไม่ว่าวัยไหนหรือ Generation ใดต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งในตนเองทั้งสิ้น
ดังนั้นการมองแต่ว่า “Generation เราดีกว่าๆ” และมองว่า “Generation อื่นด้อยกว่าๆ” โดยไม่พิจารณามองให้รอบด้านครบมุม มันย่อมไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และการที่เรายึดว่า “ฉันเก่ง ฉันดี” แบบไม่ลืมหูลืมตา ก็อาจเป็นหนทางที่นำเราไปสู่หายนะก็ได้
ประเด็นพวกนี้เมื่อมองรวมกับหนังอย่าง Unbreakable แล้ว (ทฤษฎีเกี่ยวกับคนเหนือมนุษย์, การ์ตูนหรือเรื่องเล่าตำนานบางทีก็ถูกปรุงจนเกินจริง แต่ยังไงก็อิงจากเค้าโครงความจริงบางอย่างเสมอ, คนที่เป็นขั้วต่างกัน ฯลฯ) หากมองดีๆ เราสามารถนำมาวิจัยมนุษย์ได้แบบยาวๆ ทีเดียว
และแน่นอนว่าการหักมุมสำคัญที่สุดคือการเชื่อมเรื่องราวเข้ากับ Unbreakable ครับ เป็นอะไรที่ดีใจมากๆ เพราะผมอยากให้มีการทำตอนต่อมานานแล้วครับ จำได้ว่าตอนแรกพี่มาโนชบอกเลยว่าเขาอยากทำ Unbreakable เป็นไตรภาค แต่พอมันไม่ทำเงินโปรเจคท์ก็เลยเหมือนจะเงียบไป จนกระทั่งสิบกว่าปีต่อมานี่แหละครับ ฝันถึงได้เป็นจริง (เพราะแบบนี้แหละครับโปสเตอร์ถึงเป็นภาพแตก… แบบเดียวกับ Unbreakable นั่นเอง)
สำหรับ Split เรื่องนี้ ถือว่ามีดี ดูแล้วไม่ผิดหวัง
สองดาวสามส่วนสี่ดวงครับ
(7.5/10)