กล่าวถึงเนื้อเรื่องกันก่อนตัวหนังเปิดด้วยตำนานเมืองคูมันดราดินแดนยิ่งใหญ่ที่มีสายน้ำผ่านจนเกิดเป็นอวัยวะมังกร 5 เมืองได้แก่ กรงเล็บ เขี้ยว สันหลัง หัวใจ และ หาง แต่เมื่ออสูรร้ายอย่างดรูนบุกโลกเหล่ามังกรจึงพร้อมใจกันต่อสู้สละชีวิตทิ้งไว้เพียงอัญมณีแห่งมังกรที่เก็บอยู่ในเมืองของเผ่าหัวใจ
และเมื่อกาลผันผ่านร่วม 500 ปี เบญจา (แดเนียล แด คิมให้เสียงพากย์) หัวหน้าเผ่ามังกรคิดรวมเผ่าสร้างคูมันดราอีกครั้งจึงเปิดบ้านเชิญเผ่าต่าง ๆ เข้ามาและมันทำให้ รายา (เคลลี มารี ทราน ให้เสียงพากย์) เจ้าหญิงเผ่าหัวใจ ได้พบกับ นัมมาอารี (เจมมา ชานให้เสียงพากย์) เจ้าหญิงเผ่าเขี้ยว จนเกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อฝ่ายหลังใ้ช้มิตรภาพหลอกล่อเพื่อชิงอัญมณีแห่งมังกรจนแตกเป็นเสี่ยง ๆ และปลดปล่อยดรูนออกมากัดกินและทำให้ผู้คนถูกสาปแข็งเป็นหินอีกคร้้ง และเพื่อแก้ไขเรื่องทั้งหมดรายาจำต้องรวบรวมเศษอัญมณีจากเมืองต่าง ๆ เพื่อปลุกชีพมังกรและถอนคำสาปให้มนุษย์หินกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
เอาล่ะก่อนจะไปตัดสินว่ารายาเป็นคนชาติไหน ? เรามาทำความเข้าใจในหลักการคิดเรื่องเสียก่อน เอาเข้าจริงคือพลอตเรื่องนี่มาทาง Brave ของฝั่งพิกซาร์ไม่น้อยและมันก็ยังเดินตามไบเบิลหนังทำเงินของดิสนีย์แทบทุกกระเบียดนิ้วโดยเฉพาะตัวละครน่ารักที่มาแย่งซีนโดยเฉพาะ คราวนี้ Raya ก็ขนมาเพียบทั้งเจ้าตุ๊กตุ๊กสัตว์ที่ผสมทั้งความบ้องแบ๊วของหมาตัวเหมือนเม่นและกลิ้งได้เหมือน BB8 ใน Star Wars แถมด้วยเหล่าแก๊งจอมโจรผ้าอ้อมสุดแสบ นำโดยน้อยทารกสาวแสบที่เธอพบในเผ่ากงเล็บ ไม่นับรวมพวกแมวยักษ์ของเผ่าเขี้ยวอีก โอ้โหคือแทบจะสำลักความปุกปุยบ้องแบ๊วกันทั้งเรื่องก็ว่าได้
และแน่นอนว่าในสูตรสำเร็จดิสนีย์มักมีประเด็นที่ต้องการสื่อเสมอโดยเฉพาะ Raya เองก็มีประเด็นเรื่องความไว้ใจที่หนังเองก็ช็อกคนดูด้วยฉากเปิดเรื่องที่เต็มไปด้วยหายนะที่น่าตกใจไม่น้อย และมันให้ภาพด้านลบกับความไว้ใจมาก ๆ จนมันนำไปสู่เควสต์ของนางเอกที่ต้องกอบกู้สถานการณ์โดยประเด็นเรื่องความไว้ใจเป็นธีมที่ร้อยรัดกันไปทั้งเรื่องแต่สิ่งหนึ่งที่หนังไม่อาจสร้างความไว้ใจให้เราได้เลยคือโจทย์ของวัฒนธรรมที่หนังเอามานำเสนอนี่แหละ
ทีนี้สิ่งที่คิดว่าน่าสนใจและชวนคิดต่อมากคือการพยายามสร้างโลกและเรื่องราวที่อิงกับความเป็นอาเซียนนี่แหละ ที่ดิสนีย์ก็ไม่ได้เอาวัฒนธรรมมาทื่อ ๆ หรอกนะครับแต่ปน ๆ กันให้เราจับนู่นผสมนี่คิดเอาเองว่ามาจากชาติไหนดังนั้นเราจึงเห็นหน้าตาตัวละครที่โครงหน้าคล้ายคนฮาวายจาก Stitch & Lilo มาอยู่ในชุดคล้ายคนอินโดนีเซียมั่ง เวียดนามมั่ง เดินอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศแบบเกาะบาหลี แต่ชื่อตัวละครปน ๆ มีทั้งลาว – ไทยอย่าง น้อย ทอง บุญ ตุ๊กตุ๊ก (แต่มังกรชื่อ ซิซู นะ) บวก ๆ มั่ว ๆ กับชื่อประหลาด ๆ ที่ไม่คุ้นเลยว่าจะเป็นคนอาเซียนแต่หากมองดูดี ๆ เราจะพบว่า Raya อาจกำลังวิพากษ์บางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์มากสำหรับคนอาเซียนนั่นคือการหาเรื่องทะเลาะกันเอง
ที่แน่นอนเลยว่าแต่ละชาติย่อมจะต้องตีความเข้าข้างตัวเองแน่นอนว่าดิสนีย์หยิบวัฒนธรรมของชาติตนอะไรบ้างไปแอปพลายนำเสนอในแอนิเมชันที่จินตนาการจัด ๆ แบบนี้ลำพังอย่างชื่อตัวละครน้อยเด็กทารกที่ไม่พูดเลยและอยู่แต่กับลิงเนี่ยชวนสงสัยมากเพราะเอาจริง ๆ จะน้อย จะทอง จะบุญ หรือตุ๊กตุ๊กก็ยากจะตัดสินแล้วว่าชื่อแบบนี้คือชื่อคนไทยหรือลาวเพราะเรามีวัฒนธรรมร่วมที่มีความใกล้เคียงกันมากหรือกระทั่งอินโดนีเซีย มาเลเซียเองก็มีความคล้ายกันมาก ๆ จนในสายตาฝรั่งที่แม้ทีมงานบทจะมีชื่อคนเชื้อสายเอเซียอยู่ ก็ยากจะแยกออกจนทำให้หนังดูมีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่กลมกลืนกันจนยากจะแยกว่าเอามาจากชาติไหน
แปลกไม่น้อยที่หนังหยิบเอาประเด็นการรวมกันเป็นปึกแผ่นมาพูดควบคู่ไปกับประเด็น “ความไว้ใจ” ที่หนังเอาเป็นธีมหลักของเรื่องราวยิ่งพิจารณาจากนโยบายเขตเศรษฐกิจอาเซียนที่ตั้งแต่ก่อตั้งปี 2510 ยาวมายัน 2553 หรือ 11 ปีก่อนเราแทบ “ไม่เคยมีหัวใจเดียวกัน” สักเรื่องไม่ว่าจะเป็นกำหนดการเปิดเรียนหรือการตกลงเรื่องการค้าที่เป็นรูปธรรมเราได้แค่ “เศษเสี้ยว” ของผลประโยชน์ไม่ต่างจากอัญมณีแห่งมังกรที่หล่นแตกตอนต้นเรื่องดังนั้น Raya and the last dragon ก็เหมือนบทเรียนอาเซียนในอุดมคติที่อเมริกาเหมือนแซะเราว่า “เมื่อไหร่จะมีใครเริ่มเสียที”