นี่ถือเป็นรีวิวที่ผมเขียน ณ เว็บแห่งนี้แบบเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรกครับ เพราะก่อนหน้านี้ก็ล้วนแต่เป็นบทความที่ย้ายมาจากบล็อก หรือไม่ก็จากเพจทั้งนั้น (และต้องบอกก่อนว่าบทความจะมีสปอยล์เรื่องราวของซีรี่ส์เป็นระยะๆ ครับ – ไม่อยากรู้ ไม่ควรอ่านครับ อ่านแค่ตรงนี้พอว่า “ซีรี่ส์นี้สนุก อบอุ่น คุ้มค่าแก่การรับชมครับ”)
และผมก็เพิ่งดู Gilmore Girls ปี 7 จบเมื่อกี้นี้เองครับ อยากบอกว่าผมรักซีรี่ส์ชุดนี้มากๆ จุดเด่นสำคัญเลยคือความน่ารักของตัวละคร และความอบอุ่นกินใจที่ถือว่าลงตัวกลมกล่อมมากๆ แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่เรื่องมันอาจจะเป๋ๆ ไปบ้าง แต่หากว่ากันโดยรวมแล้ว นี่คือซีรี่ส์ชีวิตผสมโรแมนติกและเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ
มันมีเหตุผลครับที่ผมเลือกดูปี 7 ให้จบในวันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2561) เพราะอีกไม่กี่วันผมกำลังจะย้ายไปบ้านหลังใหม่ ผมเลยตั้งใจจะจบความทรงจำดีๆ ที่บ้านหลังเก่าไว้ด้วยซีรี่ส์ชุดนี้ ซึ่งผมว่าผมคิดถูกนะ เพราะด้วยอารมณ์ของซีรี่ส์และด้วยอารมณ์ของตัวเราเองแล้ว มันเข้ากันพอดี (ส่วนปีพิเศษที่เขาทำออกมาทาง Netflix ไว้ผมค่อยไปดูต่ออีกทีที่บ้านใหม่ครับ ^_^)
การเขียนบทความอันนี้มันเลยผสมๆ กันระหว่างรีวิวซีรี่ส์ กับไดอารี่ที่บันทึกห้วงอารมณ์ที่ผมมีต่อชีวิตในอดีตและปัจจุบัน… แต่ถ้าจะให้ว่ากันตรงๆ แล้ว ผมว่าบทความที่ผมเขียนส่วนใหญ่มันก็ประมาณนี้อยู่แล้วล่ะครับ มันไม่ใช่บทความทางการมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันคือการบันทึกสิ่งที่เราคิด และความรู้สึกที่บังเกิดขึ้นมา เผื่อวันหน้าผมกลับมาอ่าน ผมก็อาจจะได้ทบทวนอะไรบางอย่างในตนเองก็ได้
สำหรับ Gilmore Girls ผมได้ยินชื่อเรื่องมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัยแล้วครับ แต่เนื่องจากผมไม่มีเคเบิ้ลเลยไม่ได้ดูกับเขา จนล่าสุดมี Netflix ก็ค่อยเอามาเปิดดู ซึ่งพอดูแล้วก็ติดแบบไม่ยากเย็นเลยครับ เรื่องราวหลักๆ ก็ว่าด้วยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ลอเรไล กิลมอร์ (Lauren Graham) กับลูกสาวคนเก่งนามว่า รอรี่ (Alexis Bledel) พวกเธอใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ น่ารักอย่างสตาร์ ฮอลโลว์มานานหลายปี
แต่ละปีที่ผ่านไป สองแม่ลูกกิลมอร์ก็พบเจอเรื่องราวหลากหลายครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างพวกเธอกับพ่อแม่ของลอเรไล (Edward Herrmann และ Kelly Bishop), เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของสองแม่ลูกที่ได้พบเจอกับหนุ่มๆ มาข้องแวะ บางหนุ่มผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่บางหนุ่มก็ยังมี “ลมพัดหวน” กลับมาข้องแวะพวกเธออยู่เป็นระยะๆ
ผมติดซีรี่ส์นี้ตั้งแต่ปีแรกครับ อันที่จริงหากถามว่าผมชอบปีไหนที่สุด ก็ขอตอบว่าผมชอบทุกปีนั่นแหละครับ แต่ปีที่ออกจะโดนผมมากหน่อยคือปีแรก ที่บรรยากาศในเมืองสตาร์ ฮอลโลว์ดูน่ารักและอบอุ่น และเรื่องความรักระหว่างรอรี่กับดีน (Jared Padalecki) ก็ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงตอนเรายังเด็กๆ น่ะครับ ตอนที่เรามีรักครั้งแรกๆ มันยังสวยงาม อ่อนหวาน เต็มไปด้วยเรื่องชวนฝันและรอยยิ้ม
ในแง่หนึ่งความรักของรอรี่และดีนมันก็คือ Puppy Love ที่อาจจะไม่ได้ลงเอยด้วย Happy Ending และความรักในวัยเยาว์นั้นก็อาจมีปริมาณของ “ฝันหวาน” มากกว่า “โลกความจริง” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าอารมณ์ในห้วงนั้นมันหวานฉ่ำอิ่มเอม และอาจจะเพราะผมอายุเยอะแล้วน่ะครับ (ตอนนี้แต่งงาน มีครอบครัว มีลูกเข้าโรงเรียนแล้วด้วย) มันเลย Touch กับพล็อตส่วนนี้ ที่ทำให้นึกถึงสมัยเรายังเด็ก สมัยที่เรายังสนุกไปวันๆ ไม่ได้คิดเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องอนาคต เรื่องความตาย ฯลฯ เราแค่เรียนไป หาอะไรทำไป ดูหนังไป คุยกับเพื่อนไป หรือพอมีแฟนก็เดินเล่นกับแฟน ในเมืองที่แสนคุ้นเคย
ปีแรกที่โดนใจผม ก็คงเพราะมันคือ First Impression ในบรรยากาศอบอุ่นของโทนซีรี่ส์และเมือง, เพราะการแสดงดีๆ ของดาราทุกคน แล้วก็เพราะอารมณ์รักใสๆ ของหนุ่มสาว (ที่ทำให้คนอายุเยอะอย่างเราคิดถึงและแอบอมยิ้ม) แต่ถ้าว่ากันถึงในแง่ปมต่างๆ ก็จะยังไม่เยอะครับ ต้องรอปี 2 ปมถึงจะเริ่มเยอะ เช่นเดียวกับชีวิตรอรี่ที่ต้องเจอกับหนุ่มคนอื่นๆ อย่าง เจสส์ (Milo Ventimiglia) หลานชายของลุค (Scott Patterson) ก่อนที่ปีหลังๆ จะมีโลแกน (Matt Czuchry) มาอีกคนด้วย ซึ่งพอดุจนจบปี 7 ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตกลงเธอจะลงเอยกับใคร
ชีวิตรักของรอรี่ถือว่ายังอยู่ในวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับความรัก ส่วนความรักของลอเรไลออกจะเดาทางได้ไม่ยากครับ เพราะอารมณ์มันชงให้เรารู้สึกตั้งแต่ต้นว่าเดี๋ยวลอเรไลกับลุคต้องมี Something Special กับแน่นอน ซึ่งคู่นี้ก็ต้องบอกว่าน่ารักดีครับ ดูเข้ากันดีมากๆ และยังถือเป็นคู่ทรหดอีกด้วย เพราะมีวิบากกรรมแทรกมาให้ต้องฟันฝ่ากันเป็นพักๆ แต่ลึกๆ เราก็รู้ว่ายังไงคู่นี้เดี๋ยวก็ต้องลงเอยกันแน่ๆ โคตรจะเข้ากันซะขนาดนี้
ครับ ปีแรกถือว่าเพลินและอร่อยลิ้น ปี 2 ก็สนุกขึ้น แต่ผมสารภาพจากใจครับว่าผมไม่ใคร่จะชอบเจสส์สักเท่าไร เขาดูเป็นตัวป่วนคนกวน เป็น Troublemaker มากๆ แม้ลึกๆ เขาจะไม่ใช่คนเลวร้าย (และอันที่จริงเขาเป็นคน “มีของ” มีความรู้ และรักการอ่านไม่น้อยอีกด้วย) แต่ด้วยความที่เขาล้ำเส้นคนนั้นคนนี้มากเกินไปในหลายวาระมันเลยทำให้ผมชอบเขาไม่ลงจริงๆ ยิ่งมาทำให้รอรี่ปันใจจากดีนด้วย ก็ยิ่งทำให้ไม่ชอบไปใหญ่ (พอดีตอนนั้นผมเชียร์ดีนน่ะครับ)
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าคาแรคเตอร์ของเจสส์สะท้อนให้เราเห็นถึงเด็กอีกมากมายที่จริงๆ มีศักยภาพ แต่เพราะการเลี้ยงดู เพราะสิ่งแวดล้อม เพราะอะไรหลายๆ อย่างเลยทำให้เขาสับสนและไม่มีต้นแบบให้เดินตาม คนแบบนี้จริงๆ ก็ต้องการใครสักคนมาเป็น Model มาเป็นครูคอยแนะแนวและให้คำปรึกษา และที่สำคัญคือต้องการใครสักคนที่เชื่อในตัวเขา มาให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้เขามีพลังในการกอบรวมตัวตนที่บอบช้ำและสบสน ให้กลับมามีที่ยืน และสามารถตั้งหลักให้กับตนเองได้ (คนแบบนี้ ยิ่งผู้ใหญ่ตั้งแง่ ก็รังแต่จะทำให้เขาเข้ารกเข้าพงหนักเข้าอีก – พูดถึงประเด็นนี้ ลุคเองก็ช่วยเจสส์ไว้ไม่น้อยเหมือนกัน แม้สุดท้ายลุคเองก็จะทนเจสส์ไม่ไหวก็เถอะ)
รู้มาว่าหลายคนเชียร์รอรี่ให้ลงเอยกับเจสส์ ซึ่งแรกๆ ผมก็ไม่โอนะ (บอกแล้วครับผมเชียร์ดีน และไม่ถูกกับนิสัยของเจสส์ด้วย) แต่พอผมคิดได้แบบที่ผมร่ายไปตรงบรรทัดข้างต้น ผมก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเจสส์เป็นผู้เป็นคนมากขึ้น มีหลักมีฐานในการยืนที่มั่นคงล่ะก็ ก็ต้องยอมรับครับว่าเจสส์มีอะไรหลายอย่างที่เหมาะสมกับรอรี่มากๆ (ถ้าทีมเขียนบทผูกประเด็นดีๆ ปูปมดีๆ และทำให้เราเชื่อได้ว่าเจสส์เปลี่ยนไป ผมเชื่อว่าเราคงยินดีให้รอรี่ของเราไปอยู่เคยงคู่กับเจสส์น่ะครับ)
ซีนของเจสส์ที่ได้ใจผม ก็ต้องยกให้ตอนปี 6 น่ะครับ อันนี้ขอพูดถึงปีอื่นๆ แทรกก่อนเล็กน้อยแล้วกันนะครับ คือผมมองว่าปี 2 – 5 นั้นเป็นปีที่ทำได้สนุกเลยล่ะครับ มีรสชาติครบถ้วน มีรอยยิ้ม มีน้ำตา มีความสุขและความเศร้าผสมกัน แต่ละตอนล้วนสนุกและน่าติดตามจนทำให้ผมดูต่อเนื่องกันแบบยาวๆ เลยทีเดียวล่ะ
ทีนี้พอจบปี 5 ผมก็หยุดดูไปพักหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกว่ารอรี่กำลังจะเปลี่ยนไปหลังคบกับโลแกน ที่หมอนี่ดูจะเป็นเด็กรวยที่นำพารอรี่ไปเสียคนได้ง่ายๆ ซึ่งในปี 6 ตอนต้นๆ มันก็มีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ครับ รอรี่เปลี่ยนไปจากสาวน้อยที่มีเป้าหมาย กลายเป็นสาวสังคม สาวปาร์ตี้ แล้วเธอยังคิดจะเลิกเรียนอีกต่างหาก ก็อย่างที่บอกครับว่าตอนแรกผมกลัวนะ แต่สักพักผมก็คิดขึ้นมาว่า “เอาน่า ผมมั่นใจในตัวรอรี่ เธอยังคงเป็นเด็กสาวที่มีสมองคนนั้นอยู่น่า”
ซึ่งก็จริงครับ พอถึงจุดหนึ่งรอรี่กลับมาคุมชีวิตตนเองได้อีกครั้ง และพลังสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเธอก็คือเจสส์นี่แหละ จำได้เลยฉากที่เจสส์สอนกึ่งตำหนิรอรี่ว่า “นี่เธอกลายเป็นใครไปแล้ว” ฉากนี้ผมหันไปพูดกับภรรยาเลยว่านี่แหละจุดที่รอรี่จะคิดได้ “ลองว่าขนาดเจสส์ยังตำหนิเนี่ย แสดงว่ารอรี่ถึงจุดต่ำสุดของเส้นกราฟแล้ว” แล้วหลังจากนั้นเธอก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้
ครับ ปี 6 ตอนต้นๆ ผมก็ยอมรับนะว่าแอบขัดใจกับสิ่งที่รอรี่เป็น แต่ก็เข้าใจน่ะว่าเธอยังเด็ก แล้วตายายยังให้ท้ายอีก แต่พอเธอกลับมาบรรยากาศน่ารักๆ ก็กลับมาอีกหนครับ แล้วความสนุกก็ไหลมาเทมาจนจบปี
แล้วพอถึงปี 7 อันเป็นปีที่ได้ยินจากหลายกระแสว่าคนผิดหวัง อีกทั้งเรตติ้งหล่นฮวบจนส่งผลให้ Gilmore Girls ถูกแคนเซิลไปโดยปริยาย ส่วนสำคัญก็คงเพราะ Amy Sherman-Palladino ผู้ให้กำเนิดซีรี่ส์นี้และเขียนบทมาตลอดไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง – แล้วผู้สร้างก็หันไปจ้างคนอื่นมาแทน – เลยทำให้รสชาติของปี 7 มันต่างออกไป
ว่าตรงๆ เลยคือ 10 ตอนแรกของปีเป็นอะไรที่อยากจะกรอเดินหน้า Fast Forward ให้มันผ่านไปไวๆ น่ะครับ เพราะมันน่าเบื่อมาก เนื้อเรื่องไม่ไปไหนเลย ซึ่งจริงๆ ผมเข้าใจนะ เพราะ 10 ตอนแรกของปี 7 น่ะเหมือนจะชี้ให้เราเห็นว่า “การเลือกของลอเรไลนั้นมันไม่ใช่ทางเลือกที่ถูก – มันทำให้เธอไร้ชีวิตชีวา” ก็เลยทำให้ 10 ตอนแรกมันดูไร้ชีวิต ดูผิดที่ผิดทาง ซึ่งขอย้ำครับว่าผมเข้าใจ
ตัวละครเจอเรื่องผิดที่ผิดทางน่ะเข้าใจได้ครับ แต่รสชาติของแต่ละตอนก็ดันผิดที่ผิดทางไปด้วย มันขาดความสนุก ขาดลูกเล่น ขาดโน่นขาดนี่จนเกินไป เหมือนทีมที่ก้าวเข้ามาทำปี 7 (แทนผู้สร้างสรรค์เดิม) ยังจับธรรมชาติของเรื่องราวได้ไม่โอเค มันเลยแปร่งๆ จืดๆ ไป และมันเปลี่ยนไปหมดจริงๆ นะ ไม่ว่าจะมุมกล้อง, ดนตรีกีตาร์ที่ปกติจะมีแทรกเป็นพักๆ ก็น้อยลง แล้วก็ถูกแทนที่ด้วยบทสนทนาที่ยาวเกินความจำเป็น คือแต่ละซีนตัวละครจะพูดกันยาวๆ แต่มันออกแนวน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงน่ะครับ ไม่เหมือนตอนอื่นๆ ที่ซีนแต่ละซีนจะไม่ยาว เวลาพูดก็จะเข้าประเด็นอย่างรวดเร็ว ไม่น้ำเยอะแบบนี้
แต่ยังดีครับที่พอตอนที่ 11 อะไรๆ เริ่มเข้าทาง แล้วความสนุกก็ไหลมาไปจนถึงตอนที่ 22 ที่จบปี 7 ลงได้อย่างสวยงาม – ยกเว้นถ้าใครรู้สึกแย่เพราะ 10 ตอนแรกไปแล้ว ก็อาจจะแย่ยาวจนทำให้ไม่โอเคไปจนถึงตอนจบก็ได้ – แต่ผมนั้นอยู่ในข่ายชอบครับ ซีรี่ส์จบลงอย่างน่ารัก พอเหมาะ เรียกเสียงหัวเราะและน้ำตาได้แบบกำลังดี ซึ่งผมว่าเป็นตอนจบที่ดีมากๆ ยิ่งการที่ชาวเมืองรักรอรี่ขนาดนี้ มันตื้นต้นจนเกินบรรยายน่ะครับ
เป็นซีรี่ส์ที่ดูแล้วมีความสุขจริงๆ ครับ บรรยากาศมันอบอุ่น ชาวเมืองน่ารัก ซึ่งว่ากันตรงๆ แล้วผมว่าซีรี่ส์หลายเรื่องพยายามทำแต่ก็ทำไม่สำเร็จแบบ Gilmore Girls ครับ ดูจนเรารู้สึกเหมือนเป็นชาวเมืองไปด้วย รู้สึกเหมือนลอเรไลเป็นเพื่อน เหมือนรอรี่เป็นลูกเป็นหลานหรือเป็นน้อง เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมลงตัวจริงๆ
ดาราทุกคนคือพลังสำคัญด้วยล่ะครับ นอกจากตัวหลักๆ ที่ผมเอ่ยไปแล้วก็ยังมี Keiko Agena รับบท เลน เพื่อนตั้งแต่สมัยเด็กของรอรี่ที่พยายามจะประกาศอิสรภาพจากแม่ที่เข้มงวด (Emily Kuroda – แสดงได้ดีเช่นกัน) แต่ในที่สุดเธอก็เข้าใจครับว่าแม่เธอรักเธอขนาดไหน (อันนำมาสู่ความซึ้งอีกหลายวาระ)
Melissa McCarthy ที่ตอนนั้นยังไม่ดังทางจอเงินก็รับบทเป็นซูกี้ เพื่อนของลอเรไลที่คอยให้กำลังใจเธอ ซึ่งผมว่าเธอแสดงดีครับ แต่ก็แอบแปลกๆ ที่บทของซูกี้นี่เหมือนจะเด่นแต่กลับไม่เด่นเท่าไร (เพราะถ้าเป็นซีรี่ส์แนวนี้ส่วนใหญ่ เพื่อนนางเอกต้องดูเด่นกว่านี้เยอะ), Kelly Bishop ก็ไปได้สวยมากๆ ในบทแม่ของลอเรไล เธอดูมีความเป็นผู้ดีตีนแดงและหยิ่งพอตัว แต่ลึกๆ เธอก็รักลูกมากมายเหมือนกัน
Edward Herrmann ผู้ล่วงลับมารับบท ริชาร์ด พ่อของลอเรไล ซึ่งเขาก็ถ่ายทอดความอบอุ่นน่ารักได้แบบดีสุดๆ หลายฉากนี่ตรึงใจผมไปเลย อย่างตอนเขาป่วยหนัก (ปี 1) จนต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วลอเรไลก็ไปเยี่ยม ฉากนี้ 2 พ่อลูกไม่พูดอะไร แต่ถ่ายทอดอารมณ์ด้วยแววตาครับ และมันเป็นอะไรที่กินใจมากๆ แล้วเขาก็ถ่ายทอดบทนี้ได้อย่างดีจนถึงตอนสุดท้ายของปี 7 เลยล่ะครับ (เขาเสียชีวิตในปี 2014 ครับ นั่นทำให้เขาไม่ได้มาร่วมแสดงในปีพิเศษที่ทำหลังจากนั้น)
ทราบมาว่า Amy Sherman-Palladino นับถือ Herrmann มาก และเธอก็พยายามอย่างหนักที่จะขอให้เขามาร่วมแสดง นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไม Herrmann ถึงได้รับเครดิตตอนไตเติ้ลว่า Special Appearance ตลอดทุกตอน (เพราะสำหรับ Amy Sherman-Palladino แล้ว การยอมมาร่วมแสดงของ Herrmann คือความพิเศษมากๆ จริงๆ)
แต่ถ้าพูดถึงตัวขโมยซีนก็ต้องยกให้ Sean Gunn (น้องของ James Gunn ผู้กำกับ Guardians of the Galaxy) ที่คาแรคเตอร์เพี้ยนๆ ของเขาเสริมความฮาให้กับหนังได้อย่างน่าจดจำ, Liza Weil รับบท ปารีส เด็กสาวหน้ามุ่ยที่ปีแรกๆ ทำตัวเป็นคู่แข่งที่โรงเรียนกับรอรี่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเธอก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ซึ่งผมชอบตัวละครแบบนี้นะครับ ประเภทตอนแรกเป็นศัตรูกัน แล้วพอรู้จักกันไปนานๆ ก็กลายเป็นเพื่อนกันแทน ผมว่ามันเป็นมิตรภาพที่มีเอกลักษณ์ไปอีกแบบ
นอกจากนี้ก็ยังมี Yanic Truesdale ในบทพนักงานต้อนรับจอมจิกกัดที่ทำงานร่วมกับลอเรไล รายนี้ก็คล้ายซูกี้ คือเหมือนจะเด่น แต่ก็ยังไม่เด่นมากพอ และที่ลืมไม่ได้คือ Liz Torres (มิสแพตตี้) และ Sally Struthers (บาเบตต์) 2 สาวผู้สูงวัยแห่งเมืองที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นคนชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน แต่จริงๆ แล้วพวกเธอเต็มไปด้วยความห่วงใยและจริงใจมากกว่าที่ใครจะคาดคิด และ Michael Winters ในบท เทย์เลอร์ ผู้นำชาวเมืองที่สร้างความปั่นป่วนให้ชาวเมืองเป็นพักๆ (555)
จนถึงนาทีนี้ ความสุขที่ตกค้างหลังจากดูปี 7 จบยังคงอยู่ในใจผมครับ ตอนจบเป็นอะไรที่น่ารักมากๆ กินใจมากๆ การได้เห็นชาวเมืองมาจัดงานเพื่อรอรี่ (ทั้งที่เวลาจำกัดสุดๆ) นี่มันสุดยอดแห่งบทสรุปจริงๆ มันทำให้ผมแทบจะลืมความรู้สึกเบื่อๆ จาก 10 ตอนแรกของปี 7 ไปเลยน่ะครับ เรียกว่าโกยคะแนนนิยมกลับมาได้เพียบ (เพราะตอนแรกนึกว่าจะผิดหวังกับปี 7 ซะแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังชอบอยู่ดี)
นี่คือซีรี่ส์แนวรักผสมตลกผสมชีวิตน่ะนะครับ แต่หากจะให้ผมนิยามเป็นพิเศษล่ะก็ ผมอยากจะขอนิยามว่าซีรี่ส์แนวนี้คือ “ซีรี่ส์ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง” แบบเดียวกับ Friends และ Parks and Recreation เลยครับ ซึ่งผมก็บอกได้เลยว่าผมชอบไม่น้อยหน้า 2 เรื่องที่ว่านั่น เลยอยากเอามาบอกครับว่าหากใครอยากดูซีรี่ส์สไตล์นี้ (สไตล์ที่ดูแล้วแก้เหงาได้ ดูแล้วเหมือนมีเพื่อนมาเล่นมุก มาข้องแวะเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขาให้ฟัง ฯลฯ) ต้องดูให้ได้เลยครับ เพราะมันจะช่วยคลายเหงาและเติมเต็มอะไรบางอย่างให้กับคุณได้แน่ๆ
แล้วก็นึกถึงวันเก่าๆ ครับ ก่อนผมจะมีภรรยา มีลูก ผมก็เหงานะครับ เพราะผมเป็นลูกคนเดียว มักจะอยู่คนเดียวและใช้ชีวิตคนเดียวเป็นหลัก แต่การที่ผมผ่านพ้นช่วงเหงาๆ หงอยๆ เหล่านั้นมาได้ก็เพราะหนังและซีรี่ส์นี่แหละครับ
ไม่รู้ใครเป็นไหมน่ะนะครับ แต่มันจะมีบางวัน บางโมเมนต์ที่อารมณ์มันนิ่งๆ เหงาๆ ไม่รู้จะทำอะไรต่อดี ไม่รู้ว่าจะไปไหนหรือคุยกับใครด้วย แล้วพอมองตัวเองในกระจกก็พบว่าเรายืนอยู่ในห้องเงียบๆ เหงาๆ พออยู่ไปสักพักมันเริ่มทนไม่ได้ ต้องเปิดวิทยุ เปิดทีวีให้มีเสียงดังๆ เปิดอะไรก็ได้ที่มีภาพคนเคลื่อนไหวและสนทนากัน และมันจะช่วยคลายความเงียบเหงาที่กำลังเกาะหลังเราให้ลดลงไปได้
อย่างผมนี่แหละครับ พอถึงโมเมนต์นั้นก็ยัดวีดีโอ (สมัยนั้นยังดูวีดีโออยู่) ใส่ซีรี่ส์ Friends เข้าไป ม้วนไหนก็ได้ขอให้ได้เจอพวกเขาก็พอ… แล้วผมก็จะผ่านเวลาเหงาๆ ตึงๆ แบบนั้นมาได้
ผมเชื่อว่า Gilmore Girls ก็จะเป็น “ซีรี่ส์แก้เหงา” สไตล์นั้นให้กับใครหลายคนได้ ผมเลยอยากเอามาบอกเล่าเพื่อทำให้คุณและซีรี่ส์ชุดนี้ได้เจอกันครับ คุณจะได้ใช้มันช่วยคลายเหงา ช่วยตั้งหลักตั้งสติได้…
โอเค กลับมาเรื่องซีรี่ส์ต่อนะครับ สรุปอีกทีว่าผมรักซีรี่ส์นี้ครับ รักทั้งในฐานะซีรี่ส์ชีวิต ผสมตลก ผสมโรแมนติกที่ทำได้กลมกล่อม สนุกตั้งแต่ปี 1 ยันปี 7 (อาจจุมียกเว้นตอนต้นๆ ของปี 6 ที่บางคนอาจไม่โอกับทางเลือกของรอรี่ และตอนต้นๆ ของปี 7 ที่หลายอย่างผิดที่ผิดทางจนมันดูน่าเบื่อเกินไป) ดูแล้วเพลิน น่าติดตาม ดาราเล่นดี ดนตรีไพเราะ โดยเฉพาะสารพัดดนตรีกีตาร์บรรเลงที่จับใจผมอย่างมาก อีกทั้งเข้ากับบรรยากาศของฉากต่างๆ อย่างยิ่ง
จริงๆ ซีรี่ส์นี้ยังมีตอนพิเศษออกมาอีกครับ แต่ผมกะว่าย้ายบ้านก่อน แล้วไปเริ่มต้นดูที่บ้านใหม่ เพื่อให้อารมณ์มันสอดคล้องครับ เพราะจะว่าไปแล้วตอนนี้ผมก็คงเหมือนรอรี่นั่นแหละ ที่เธอกำลังจะต้องไปยังที่ใหม่ เริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ทำให้เธอต้องไปไกลจากสตาร์ ฮอลโลว์, เพื่อน และครอบครัวที่อยู่กับเธอมานานแสนนาน
มันก็แปลกดีน่ะนะครับ จังหวะมันบังเอิญดี เพราะผมจะเลือกดูซีรี่ส์อะไรก็ได้อีกเยอะแยะ แต่ผมก็เลือกดู Gilmore Girls แล้วก็มีการดูๆ หยุดๆ จนมาดูจบเอาพอดีตอนผมกำลังจะย้ายบ้าน มันแปลกดีที่ผมไม่ดูให้จบๆ ไปตั้งนานแล้ว หรือไม่เลือกดูซีรี่ส์อื่นๆ แต่กลับดูเรื่องนี้ และดูจบเอาวันนี้ก่อนย้ายบ้าน
แต่มันสวยงามดีนะครับ มันกลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ผมมีต่อบ้านหลังเก่า ความรู้สึกของตัวละครในซีรี่ส์กับความรู้สึกและชีวิตผมมาบรรจบกันพอดี…
ดีใจที่ได้รู้จักนะครับ Gilmore Girls…
สี่ดาวครับ
(9/10)