ร็อคกี้ บัลบัวร์ ถือเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นด้วยมือของ Sylvester Stallone (เพราะเขาเขียนบท Rocky เอง) และขณะเดียวกันบทร็อคกี้ก็ทำให้ Stallone โด่งดังค้างฟ้า เป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้
จาก Rocky ภาคแรกมาถึงตอนนี้ก็ปาเข้าไป 40 ปีแล้วนะครับ ถือเป็นตำนานที่ยาวนานมากจริงๆ
อันที่จริง Stallone ตั้งใจให้ Rocky Balboa อันเป็นภาค 6 ของหนังชุดนี้เป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดของนักชกฉายาม้าป่าอิตาเลี่ยนขวัญใจมหาชนคนนี้ (ซึ่งถ้าดูจากหนังแล้ว ก็ถือเป็นการปิดตำนานที่ลงตัวมากๆ ครับ)
แต่ขณะที่ Stallone ลงมือปิดตำนาน ก็มีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งชื่นชอบหนังชุด Rocky อย่างมากครับ มากถึงขนาดลงมือเขียนบทเรื่องราวต่อยอดจากบทสรุปของ Rocky Balboa แตกหน่อออกมา โดยโฟกัสไปที่เรื่องราวของทายาทอพอลโล ครีด อดีตคู่แข่งที่กลายมาเป็นเพื่อนของร็อคกี้ในภาคหลังๆ
ชายคนนี้มีนามว่า Ryan Coogler
ตอน Rocky Balboa ออกฉายเมื่อปี 2006 นั้น Coogler ยังไม่ได้เข้าวงการหนังเลยครับ แต่ด้วยใจรักในภาพยนตร์เขาเลยพยายามเดินตามความฝัน เดินหน้านำพาตัวเองเข้าสู่วงการหลังกล้อง
หลังจากฝึกปรือด้วยการทำหนังสั้น 3 เรื่อง เขาก็เขียนบทและกำกับหนังเรื่องแรกในชีวิตที่ชื่อ Fruitvale Station ซึ่งหนังออกมาดีมากครับ (ผมนี่ชอบโคตรๆ) และมันแจ้งเกิดให้กับเขาอย่างสวยงามมากๆ
แต่ที่หลายๆ คนไม่ทราบก็คือ ระหว่างทำ Fruitvale Station นั้น Coogler ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำภาคแตกหน่อของ Rocky อยู่ตลอด ถึงขนาดคุยกับ Michael B. Jordan พระเอกของเรื่อง FS ว่าหากในอนาคตเขาได้ทำหนังเกี่ยวกับลูกของอพอลโล ครีดล่ะก็ เขาก็จะให้ Jordan มารับบทนำ
แล้ววันหนึ่ง Coogler ก็สบโอกาสได้พบกับ Stallone ซึ่งเขาก็ไม่รอช้าที่จะเสนอไอเดียอันนี้ให้ Stallone ลองพิจารณาดู
ความคิดแว่บแรกของ Stallone หลังสนทนากับ Coogler เสร็จก็คือ “หมอนี่เป็นใครกัน?”
ตอนแรก Stallone ก็ไม่เห็นด้วยเท่าไรกับไอเดียนี้ครับ เพราะเขาถือว่าเรื่องราวของร็อคกี้มันจบไปแล้ว และเขาไม่ต้องการให้คนอื่นมาต่อยอดเรื่องราวของตัวละครที่เขาสร้างมากับมือ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป บวกกับความตั้งใจแบบเกินร้อยของ Coogler ก็ทำให้ Stallone ใจอ่อน ยอมอนุญาตให้ Coogler สานต่อโปรเจกต์ร็อคกี้ภาคแยก แล้วผลที่ได้ก็คือหนังเรื่อง Creed นี่เองครับ
Creed เล่าถึงเรื่องของ อโดนิส (Jordan) ลูกนอกสมรสของอพอลโล ครีด ที่ถูกชุบเลี้ยงโดยภรรยาของครีดตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งภรรยาของครีดนั้นก็ตั้งใจจะเลี้ยงลูกคนนี้ให้ดี และทำทุกอย่างให้เขาอยู่ไกลจากโลกของการชกมวยให้มากที่สุด (เพราะอพอลโล เสียชีวิตกลางสังเวียนชก)
แต่เลือดของพ่อเขาแรงครับ อโดนิสอยากชกมวยเป็นอาชีพ เขาเลยเดินทางไปขอให้ร็อคกี้ (Stallone) ช่วยเทรนเขาให้เป็นนักมวย ส่วนเรื่องราวหลังจากนั้นก็ว่าด้วยการพิสูจน์ตนเองของอโดนิสนั่นเอง
ก่อนดูหนังเรื่องนี้ ผมเอา Rocky 6 ภาคมาดูเรียงต่อกันครับ สิ่งแรกที่รู้สึกเลยคือ ผมรักหนังชุดนี้จริงๆ มันคือเรื่องราวง่ายๆ แต่บันดาลใจผู้ชมได้อย่างยอดเยี่ยม และเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังชุดนี้คือ หนังแสดงให้เห็นถึงความจริงของชีวิต ว่าหากเราพยายามทำอะไรสักอย่าง เราก็อาจจะสมหวัง (แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้)
ขณะเดียวกัน เมื่อเราทำสำเร็จแล้ว ก็ใช่ว่าความสำเร็จจะคงอยู่กับเราเสมอไป มันอาจมีวันที่เราท้อแท้ วันที่เราพ่ายแพ้ หรือวันที่เราตกระกำลำบากแบบที่คาดไม่ถึง อย่างตัวร็อคกี้เองก็ต้องเผชิญกับชีวิตขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด 6 ภาค
แก่นสำคัญของหนังชุดนี้จึงอยู่ที่ประโยคเด็ดที่ร็อคกี้พูดกับลูกว่า “ไม่สำคัญว่าเราหมัดหนักแค่ไหน แต่มันสำคัญว่าเรารับหมัดได้หนักแค่ไหนต่างหาก”
ตอนผมดู Rocky Balboa รอบล่าสุดนั้น อารมณ์มันมาจริงๆ ครับ มันเหมือนเราเหงา เราเศร้า เรายิ้ม และเราสุขไปกับร็อคกี้ มันประหนึ่งว่าชายคนนี้คือเพื่อนอีกคนที่เรารู้จักมาแสนนาน
พูดง่ายๆ คือผมผูกพันกับหนังชุดนี้ไปแล้วล่ะครับ พอดูจบภาค 6 อารมณ์มันเลยตื่นตันอย่างบอกไม่ถูก
แล้วมันก็ทำให้ผมเข้าใจนะ ว่าทำไม Stallone ถึงไม่โอเคในตอนแรก ก็เพราะตัวละครนี้เขาสร้างมาน่ะครับ เขาไม่อาจรู้ได้หรอกว่าคนอื่นจะเอาไปทำปู้ยี่ปู้ยำหรือไม่
แต่พอพูดคุยแลกเปลี่ยน (และส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าเป็นเพราะความดีงามของ Fruitvale Station) เลยทำให้หนังเรื่อง Creed ถือกำเนิดขึ้นมาได้ สมความตั้งใจของ Coogler
Creed ถือว่าทำออกมาได้ดีครับ จริงๆ ถึงขั้นดีมากเลยล่ะ ถือเป็นหนังหมัดมวยที่ครบเครื่อง ในแง่ดราม่าก็ถือว่าถ่ายทอดได้ดี อาจไม่ถึงขั้นซึ้งน้ำตาแตก แต่ก็ถึงอารมณ์ในหลายๆ ฉาก
ครั้นมาดูในแง่แอ็กชันก็ถือว่าสะใจครับ ฉากต่อยมวยถือว่าทำได้ดีไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะฉากสังเวียนแรกของอโดนิสที่หนังถ่ายทำแบบ Long Take อันนี้ยอมรับเลยว่าผมโคตรอึ้ง คาดไม่ถึงอย่างแรง
Long Take นี่มันคือถ่ายเทคเดียว ยิงยาว ไม่คัตไม่ตัด ซึ่งทีมงานทุกคนต้องมือแม่นน่ะครับ ดาราก็ต้องแม่น ผู้กำกับก็ต้องแม่น ตากล้องก็ต้องแม่น ฝ่ายอุปกรณ์หรือบันทึกเสียงก็ต้องแม่น เพราะถ้ามีอะไรแปลกปลอม (เช่น ไมค์บันทึก หรือทีมงาน) แล่บเข้ามาในฉากเพียงนิดเดียวก็เป็นอันจบ แล้วมิหนำซ้ำกล้องยังต้องเหวี่ยงอีก (เพราะมันจับภาพคนต่อยกัน)
อันนี้ขอชมผู้กำกับภาพ Maryse Alberti เลยครับ คุมงานได้อยู่มากๆ จริงๆ พี่แกเคยทำให้ผมประทับใจมาแล้วใน The Wrestler แต่กับเรื่องนี้นี่มันประทับใจแรงขึ้นไปอีกขั้นจริงๆ
ฉากสังเวียนตอนท้าย เอาเข้าจริงๆ หากเปรียบกับฉาก Long Take ที่ว่านี้ก็อาจจะไม่เด่นเท่า แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้เร้าใจและชวนลุ้น ได้มาตรฐานหนังชุด Rocky ครับ
และที่ผมชอบอีกอย่างคือแต่ละฉากมันมีรายละเอียดเยอะครับ ประมาณว่าในขณะที่กล้องโฟกัสอยุ่ที่ตัวละครหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่ง มันก็มักจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลต่อเนื่องเรื่องอยู่ในซีนนั้น แต่จะเป็นฉากหลัง
เช่น ซีนที่ร็อคกี้ไปเจออโดนิสที่ยิม แล้วก็ตัดสินใจจะเทรนให้อโดนิส ซีนที่ว่าหากสังเกตดีๆ จะพบว่าพฤติกรรมของพีท (Ritchie Coster) เทรนเนอร์ประจำยิมจะมีอะไรเราตะหงิดๆ ก่อนที่ร็อคกี้จะพาอโดนิสไป โดยหลังจากนั้นกล้องก็แพนตามร็อคกี้กับอโดนิส แต่ที่ฉากหลังลิบๆ เราจะเห็นพีทมองมาที่ร็อคกี้กับอโดนิสแบบไม่วางตา (คือเห็นแบบลางๆ หลุดโฟกัส แต่รู้ว่าเขากำลังมองมาทางนี้)
ในเรื่องนี้มีฉากประเภทนี้อยู่ไม่น้อยครับ ประเภทว่าถ้าเราดแบบเก็บรายละเอียดดี จะพบว่าทั้งผู้กำกับและตากล้อง ประสานงานกันได้อย่างดี จนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างกลมกล่อมและให้อารมณ์สมจริงทีเดียว
ผลรวมของหนังเรื่องนี้ถือว่าโอมากๆ ครับ ถึงรสทั้งดราม่าและแอ็กชัน โดยหนังแอบแทรกโรแมนติกลงมานิดๆ ซึ่งก็ไม่เลว คือมันไม่ดูเป็นส่วนเกินน่ะครับ ดูเป็นโรแมนติกแบบบ้านๆ ไม่ได้หวานแหวว ไม่ได้น่ารักงุ้งงิ้ง แต่ก็จับใจอยู่ลึกๆ
ในแง่การแสดงก็ยอดหมดครับ Jordan จริงๆ เป็นนักแสดงฝีมือดีนะ แกเล่นหนังกี่เรื่องผมก็ชอบการแสดงของแกหมด (แม้แต่ใน Fantastic Four ก็เถอะ) กับเรื่องนี้เขาก็เหมาะในบทอโดนิสครับ เล่นได้ดี เล่นได้ถึง โดยเฉพาะฉากที่น้ำตาต้องไหลพรากนี่อารมณ์มันได้จริงๆ
แต่รายที่ผมรักสุดๆ คือพี่สไลครับ (Stallone นั่นแหละ แต่ผมชอบเรียกชื่อเล่นแก) เขามาสานต่อบทร็อคกี้ได้อย่างดี ซึ่งในแง่หนึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า ก็พี่แกมาเล่นบทเดิมเป็นหนที่ 7 ก็ต้องดีสิ อันนั้นผมก็ไม่เถียงครับ แกเล่นซ้ำจนต้องเล่นดีแล้วล่ะ แต่ถ้ามองแบบไม่นับว่าแกเล่นมากี่หน ก็ต้องบอกว่าเขาคือพลังสำคัญของหนังจริงๆ
แอบเสียดายที่พี่แกไม่ได้ออสการ์เหมือนกันนะ แต่ไม่แน่ว่ากรรมการอาจคิดแบบที่หลายๆ คนคิด (คือพี่แกเล่นบทเดิมเป็นรอบที่ 7) แต่ถ้าเป็นการส่วนตัวแล้วผมให้พี่แกไปเลย เพราะนอกจากพี่แกจะพยายามกับบทนี้มากแล้ว นี่ยังถือเป็นการแสดงที่ดีมากๆ จากนักแสดงคนหนึ่งที่กำลังอยู่ในห้วงอารมณ์เศร้าอย่างที่สุดด้วย
ที่ว่าเศร้านั่นก็เพราะ ก่อนเปิดกล้อง Creed ลูกชายคนโตของพี่สไลที่ชื่อ Sage Stallone เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยอาการหัวใจวายครับ ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้พี่สไลแทบไม่อยากทำอะไรต่อทั้งสิ้น ไม่เหลือแรงทำอะไรต่ออีก แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง (หนึ่งในนั้นคือ Coogler) จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาเล่นบทนี้ต่อได้
Sage Stallone นั้นเคยรับบทเป็นลูกของร็อคกี้ใน Rocky V ครับ และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่มีการกล่าวถึงลูกชายของร็อคกี้ในหนังเรื่อง Creed เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (และรูปถ่ายที่อโดนิสไปเจอในห้องของพอลลี่นั้น คือรูปพี่สไลถ่ายคู่กับ Sage นั่นเองครับ)
เกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ร็อคกี้ในภาคนี้ทำหน้าที่เทรนเนอร์แบบเดียวกับที่มิคกี้ (Burgess Meredith) เคยเทรนให้เขาใน Rocky ภาคแรก ซึ่งอายุของพี่สไลในตอนนี้คือ 69 เท่ากับ Meredith ตอนเล่นเป็นมิคกี้เป๊ะเลยครับ
อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญคือ Tessa Thompson ในบทคนรักของอโดนิสซึ่งเธอก็เก่งอยู่นะครับ สามารถแบ่งพื้นที่บนจอจาก 2 ดารานำได้ แม้บทจะยังไม่เด่นถึงขนาดนั้น แต่ก็ถือเป็นส่วนเสริมของเรื่องราวที่ดีทีเดียว
พูดได้เต็มปากครับว่า Creed เป็นภาคต่อและภาคแยกที่สมศักดิ์ศรีมากๆ สำหรับหนังชุด Rocky โดยหากให้จัดเรียงลำดับแล้ว ผมชอบภาคแรกสุด รองลงมาคือภาค Balboa แล้วก็ต่อด้วย Creed นี่แหละครับ
ที่บอกแบบนี้ไม่ได้แปลว่า Creed ดีน้อยกว่า Balboa นะ หากมองกลางๆ แล้วผมว่า Creed เข้มและข้นกว่า แต่หากพูดถึงในแง่ความรู้สึกแล้ว ในฐานะคนที่ตามดู Rocky มานาน ก็ย่อมรู้สึกผูกพันและอินกับภาค Balboa มากกว่าเป็นธรรมดา
แต่ก็ต้องดูกันต่อไปครับ ว่า Creed ภาคต่อจะมีทิศทางเป็นยังไง บอกได้แค่ว่า ถ้าทำออกมาอีก ผมก็ตามดูแน่ล่ะครับ (แต่ขอให้ทีมเดิมทำก็แล้วกัน)
ในส่วนของแง่คิดแล้ว มีหลายอย่างเลยล่ะครับที่ผมชอบ ที่ชอบมากๆ อันหนึ่งคือฉากที่ร็อคกี้สอนอโดนิส โดยการให้อโดนิสเดินไปที่กระจก แล้วบอกให้มองไปที่คนในกระจก (ซึ่งก็คือตัวอโดนิสเอง) ก่อนจะบอกว่า “นั่นแหละคือคนที่นายต้องเอาชนะให้ได้”
ถือเป็นคำสอนง่ายๆ ที่โดนมากครับ มันจริงนะ ตัวเราเองนี่แหละที่เป็นได้ทั้งคู่แข่งหรือไม่ก็ศัตรูตัวฉกาจ ตัวเรานั่นเองที่สามารถทำสารพัดสิ่งเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้ตัวเราเองได้ หรือไม่ก็สามารถทำได้สารพัดสิ่งเพื่อถ่วงตัวเราให้ไม่สามารถเดินไปสู่ความสำเร็จได้
ทำให้การแข่งที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช่การแข่งกับคนอื่น แต่คือการแข่งกับตัวเอง การหมั่นฝึกปรือให้ตัวเราเหนือกว่าตัวเราเมื่อวันวาน อีกทั้งต้องเอาชนะความเกียจคร้าน ความท้อแท้ หรือทัศนคติลบๆ ที่บังเกิดได้เสมอในสมองน้อยๆ ของเรา
นอกจากนี้การรู้จักตนเองคือพื้นฐานที่สำคัญสู่ความสำเร็จในภายหน้าครับ การที่ร็อคกี้ให้อโดนิสจ้องตัวเองให้ดีๆ สังเกตเวลาขยับ เวลาออกหมัด สังเกตแววตา สังเกตท่าทาง ก็คือการรู้จักตนเองให้ดี สังเกตว่าเราคือใคร เราเป็นอย่างไร เรามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไร
ซึ่งประเด็นที่ว่านี่ก็สอดคล้องกับธีมของเรื่องล่ะครับ แม้อโดนิสอยากเป็นนักชกอันเนื่องจากความต้องการภายใน แต่เขาก็ไม่ยอมรับอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตนเอง อย่างการเป็นลูกของอพอลโลนี่เขาก็พยายามจะหลบเลี่ยง หลายครั้งเหมือนกันที่เขารู้สึกต่อต้านความเป็นลูกของอพอลโลด้วย เรียกว่ามันย้อนแย้งกันอยู่ในทีครับ เขามีทั้งภาวะที่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น (อยากเป็นนักมวย ฯลฯ) และภาวะที่หลีกหนีจากตัวตนที่แท้จริง (ไม่ว่าจะเพราะไม่ยอมรับหรือไม่กล้ารับก็ตาม)
ดังนั้นธีมหลักธีมหนึ่งของหนังคือการรู้จักยอมรับตนเองครับ ค้นให้เจอว่าเราคือใคร เราต้องการอะไร เราอยากจะไปให้ไกลแค่ไหน และอะไรคือสิ่งที่เรายอมทุ่มเททุกสิ่งในชีวิตเพื่อให้ได้มันมา
การจะรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้อาจไม่ใช่ของง่าย แต่ก็เป็นไปได้เสมอหากเรามีความตั้งใจอย่างแท้จริง ^_^
สรุปอีกหนครับว่านี่คือหนังที่ดีมากอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะหนังดราม่าหมัดมวย หรือหนังภาคแยกของหนังระดับตำนานอย่าง Rocky
สามดาวครับ
(8/10)