สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของหนังสัญชาติอิหร่าน ส่วนใหญ่คือการนำเสนอประเด็นการเมืองได้อย่างเข้มข้น ชาญฉลาด ผูกเส้นเรื่องได้อย่างน่าติดตาม และทิ้งคำถามจริยธรรมทางการเมืองไว้ให้คนดูได้คิดต่ออย่างท้าทาย และคุณสมบัติที่ว่ามาทั้งหมดนี้มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวผกก. อย่าง Asghar Farhadi ผู้เคยฝากฝังผลงานชั้นครูให้โลกประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ได้จารึกอย่าง A Separation (2011) ซึ่งว่าด้วยสองสามีภรรยาที่กำลังเดินมาถึงจุดแยกทางท่ามกลางบริบทสังคมที่ซับซ้อนของอิหร่าน ที่ทำให้ทุกอย่างดูยากและยุ่งเหยิงไปเสียหมด จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการร้อยเรื่องขมวดมิติทางสังคมของอิหร่านให้เราเห็นปัญหา ข้อถกเถียง คำถาม ได้อย่างแยบยล ซึ่งใน The Salesman เองก็เหมือน Asghar Farhadi ได้เอาองค์ประกอบเหล่านี้กลับมาทำอีกครั้ง
The Salesman เปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ว่าด้วยสองสามีภรรยา Emad กับ Rana ทั้งสองเป็นศิลปินที่จู่ๆ เช้าวันหนึ่งตึกของอพาร์ทเมนท์ที่ทั้งคู่อาศัยอยู่ก็จะถล่มลงมาเสียอย่างนั้น ด้วยการจัดสรรที่ดินบางอย่างที่หนังไม่ได้บอกชัด ทำให้จู่ๆ ก็มีรถแมคโครมาขุดดินข้างตึกจนตึกสั่นสะเทือนไปหมด ร้อนถึงสองสามีภรรยาต้องหาที่พักใหม่ และด้วยความมีน้ำใจของเพื่อนร่วมคณะละครเวที ที่ได้เสนอให้พวกเขามาอยู่ห้องเช่าที่ว่างอยู่ด้วยราคามิตรภาพ สองสามีภรรยาก็ตอบรับน้ำใจนั้น ด้วยไม่รู้ตัวว่ากำลังจะพาชีวิตไปสู่ความฉิบหายวายป่วง เมื่อพวกเขาไม่รู้ว่าผู้เช่าก่อนหน้านี้คือผู้หญิงทำงานกลางคืน ซึ่งมีผู้ชายมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาหา และเมื่อหนึ่งในผู้ชายซึ่งมีสัมพันธ์กับเธอได้เข้ามาในบ้านในวันที่ Rana อยู่เพียงลำพังและได้ใช้ความรุนแรงกับเธอ ชีวิตของสองสามีภรรยาจึงตกอยู่ในช่วงทุกข์ยาก ที่ต้องรับศึกกับทั้งบาดแผลในใจตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ และการที่เรื่องนี้ได้ตกเป็นประเด็นในสังคม เพื่อนร่วมอพาร์ทเมนต์และคณะละครเวที
หนังตั้งคำถามกับการแก้แค้นทวงคืนซึ่งการถูกทำร้าย เราจะเห็นว่าตัวละครไม่ได้เลือกที่จะพึ่งพากฏหมายบ้านเมืองในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างทางสังคม ก็ทำให้ตัวละครมีความอึดอัดใจอย่างมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น ได้ถูกรับรู้โดยคนรอบข้างในสังคม และเมื่อ Rana เรียกร้องให้ Emad ทำอะไรสักอย่างเพื่อเธอ เขาก็เลือกทางแก้แค้นจนตามตัวคนก่อเหตุจนเจอ เพียงแต่คนก่อเหตุที่เจอกลับเป็นคนที่เหนือความคาดหมาย จนปั่นป่วนความตั้งใจเดิมที่อยากจะแก้แค้น ทำให้ทุกอย่างซับซ้อนไปหมด ถึงตรงนี้ Asghar Farhadi ก็ได้ใช้ชั้นเชิงทางบทภาพยนตร์และภาษาภาพยนตร์เล่าเรื่องได้อย่างอยู่หมัดเชี่ยวชาญ
แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อมองภาพรวมของหนังเองก็มีจุดที่น่าสงสัยในตรรกะหลายจุดเหมือนกัน โดยเฉพาะตัวละครที่มีคาแรคเตอร์จงใจใส่ไปเสียหน่อย และแรงจูงใจของตัวละครที่แบกรับคำถามทั้งหมดไว้อย่าง Emad และ Rana ซึ่งตรรกะของบทเองตอบคำถามให้ตัวละครทั้งสองได้อย่างดูไม่มีน้ำหนักมากนัก จึงเป็นจุดที่ค่อนข้างน่าเสียดายที่หนังไปไม่ถึงจุดที่ A Separation เคยทำไว้ และอาจทำให้คนที่คาดหวังกับหนังของ Asghar Farhadi ผิดหวังไม่น้อย