Guardians of the Galaxy Vol. 3″ งานปาร์ตี้สั่งลาเพื่อนเกรียน สนุกฮาซึ้ง คิดถึงแบบฟีลกู้ด

https://youtube.com/watch?v=jujZ90fS47Q%3Fversion%3D3%26rel%3D1%26showsearch%3D0%26showinfo%3D1%26iv_load_policy%3D1%26fs%3D1%26hl%3Den-US%26autohide%3D2%26wmode%3Dtransparent

สนับสนุนโดย Major Cineplex

ถ้านับตั้งแต่ช่วงเวลาหลังจากที่ ‘Guardians of the Galaxy Vol. 2’ ลงโรงฉายไปเมื่อปี 2017 ไม่น่าเชื่อว่านี่คือช่วงเวลานานถึง 6 ปีเข้าให้แล้ว ถือว่าเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรของ Marvel Studios ที่มีระยะห่างของภาคต่อที่ห่างมากอีกเรื่องเลยก็ว่าได้ (ถ้านับตามเฟส Vol. 2 นี่คืออยู่ในเฟส 3 เลยครับ) ถ้าไม่นับที่ยกโขยงไปช่วยทีม Avengers ใน ‘The Avengers Infinity War’ (2018) ดีหน่อยที่ช่วงคริสต์มาสที่แล้วก็เพิ่งมี ‘The Guardians of the Galaxy Holiday Special’ (2022) ที่น่ารักและอุ่นเครื่องก่อนมาเจอของจริงกับหนังเรื่องนี้ได้ดีเลย

ซึ่งถ้าใครยังจำกันได้ กว่าจะมาเป็น ‘Guardians of the Galaxy Vol. 3’ อย่างที่เราได้ดูกัน นอกจากจะนานแล้วก็ยังทุลักทุเลใช่ย่อย เพราะ เจมส์ กันน์ ผู้กำกับและเขียนบทประจำแฟรนไชส์นี้ ดันถูกขุดทวีตแนวตลกร้ายต่าง ๆ นานา จน Disney ที่รักษาภาพลักษณ์ด้านบวกยิ่งชีพถึงกับต้องปลดออก แม้หนัง 2 ภาคจะทำรายได้ไปไม่น้อย แต่สุดท้ายด้วยแรงหนุนจากทั้งคนดูและนักแสดง ก็เลยได้โอกาสที่ 2 ได้กลับมาสานฝันกับหนังเรื่องนี้อีกครั้ง แต่แล้วก็ยังต้องผัดผ่อนไปอีก เพราะระหว่างนั้น กันน์ก็ข้ามไปจักรวาล DC กำกับหนัง ‘The Suicide Squad’ (2021) และทีวีซีรีส์ ‘Peacemaker’ (2022) จนได้นั่งแท่นผู้บริหารร่วมของ DC Studios ด้วยซะเลย

ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้อยู่ในจุดที่ ถ้าว่ากันตามตรง ก็ถือว่ามีความคาดหวังสูงพอควรแหละนะครับ เพราะไหนจะภาพรวมของ MCU เฟส 4-5 ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หนังเปิดเฟส 5 อย่าง ‘Ant-Man and the Wasp: Quantumania’ ก็พังพาบไม่เป็นทรง และรวมทั้งการที่กันน์ตั้งใจว่าจะให้ ‘Guardians of the Galaxy Vol. 3’ นี้ เป็นภาคอวสานเรื่องราวของแก๊งการ์เดียนส์แบบจบบริบูรณ์ และเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของกันน์ที่จะกำกับให้ MCU ก่อนไปรับตำแหน่งผู้บริหาร DC แบบเต็มเวลา ประกอบกับที่ผ่านมา ‘Guardians of the Galaxy’ ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ และความชื่นชอบอย่างล้นหลาม ก็เลยย่อมอยู่ในฐานที่ถูกคาดหวังเยอะหน่อยเป็นธรรมดา

สำหรับเรื่องย่อ ตัวหนังเหมือนจะต่อจาก ‘Guardians of the Galaxy Holiday Special’ แบบกลาย ๆ นะครับ เพราะมีบางจุดในหนังที่อ้างอิงอยู่บ้าง ถ้าใครดูแล้วก็จะเข้าใจและอินมากกว่าหน่อย โดยในภาคนี้ หัวหน้าแก๊งอย่าง ปีเตอร์ ควิลล์/สตาร์ลอร์ด (Chris Pratt) ที่ยังมูฟออนจากความสูญเสีย กาโมรา (Zoe Saldaña) จากเหตุการณ์ใน ‘The Avengers Infinity War’ (2018) ไม่ได้เหมือนเดิม แม้กาโมราจะกลับมาให้เจอก็จริง แต่เธอก็เป็นกาโมราในอีกไทม์ไลน์ที่จำอะไรไม่ได้เลย แถมยังไปเป็นสมาชิกแก๊งราเวนเจอร์กับ สตาคาร์ (Sylvester Stallone) อีกต่างหาก ร้อนถึงควิลล์เองต้องพยายามรื้อฟื้น ‘ความนัยที่รู้กัน’ ของทั้งคู่ขึ้นมาอีกครั้งแบบทุลักทุเล

ในขณะที่ ไฮ เรฟโวลูชันนารี (Chukwudi Iwuji) นักวิทยาศาสตร์ชั่วร้ายผู้คิดค้นการดัดแปลงสัตว์ให้มีสติปัญญาเทียบเท่ามนุษย์ เพื่อหวังสร้างสังคมใหม่ที่สมบูรณ์แบบบนอาณานิคมที่เรียกว่า เคาต์เตอร์เอิร์ธ (Counter-Earth) ได้บงการให้ สังฆราชินีอายีชา (Elizabeth Debicki) ผู้นำสูงสุดของอาณาจักรซอฟเวอเรน (Sovereign) และลูกชาย อดัม วอร์ล็อก (Will Poulter) วัยรุ่นดักแด้ทอง ไปชิงตัวร็อกเก็ต (Bradley Cooper) มาให้ได้เพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง แต่ระหว่างต่อสู้กัน ร็อกเก็ตเกิดบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นปางตาย ร้อนถึงเพื่อน ๆ แก๊งการ์เดียนส์ ทั้งสตาร์ลอร์ด, แดร็กซ์ (Dave Bautista), เนบิวลา (Karen Gillan), แมนทิส (Pom Klementieff), กรูท (Vin Diesel) ที่คราวนี้มาในเวอร์ชันล่ำ หรือ (Swole Groot) ที่ต้องย้อนไปถึงต้นกำเนิดและที่มาที่ไปของร็อกเก็ต เพื่อค้นหาวิธีการที่จะฟื้นชีวิตของร็อกเก็ตให้กลับมาอีกครั้ง

เหมือนกันน์เองก็รู้งานดีว่าทั้ง 2 ภาคแรกมีอะไรที่เป็นจุดเด่น และมีอะไรที่เป็นจุดด้อย ใน Vol.1 แม้จะติดสูตรสำเร็จหนังแนะนำตัวฮีโร แต่ก็มีงานแอ็กชันที่สนุกและเฉลี่ยกราฟความสนุกได้ดี ในขณะที่ Vol.2 มีดีในแง่ของการเล่าเรื่องปมของแต่ละตัวละคร และเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว หรือแม้แต่การผสมจังหวะอารมณ์ขัน ความอบอุ่น และประเด็นความเป็นคนนอกคอก ความเป็น Underdog และความคืบหน้าเหตุการณ์บางอย่างใน ‘Holiday Special’ ซึ่งพอหนังเรื่องนี้ถูกวางให้เป็นหนังภาคสุดท้าย กันน์ก็เลยประโคมทุกอย่าง ทุกปม ทุกเส้นเรื่องลงไปในภาคนี้ให้สิ้นสุดกันไปเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีปมใหญ่ที่เดินเรื่องในภาคนี้ก็คือเจ้าร็อกเก็ตนี่แหละ ที่ในตัวอย่างหนังกับโปสเตอร์ก็จะสังเกตได้ว่าจะมีเจ้าร็อกเก็ตเต็มไปหมด ซึ่งมันก็สอดคล้องกับที่กันน์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ร็อกเก็ตนี่แหละคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาอยากกลับมาทำ Vol.3

เพราะจะว่าไป ร็อกเก็ตคือตัวละครหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยที่มาที่ไปเลย กันน์ก็เลยอยากให้ร็อกเก็ตเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวในภาคนี้ และเป็นเหมือนกับตัวแทนของกลุ่มคนไม่เอาไหนที่มารวมตัวกันเป็นแก๊งการ์เดียนส์ที่เป็นปึกแผ่น รวมทั้งที่มาของความอัจฉริยะของเจ้าแร็คคูนปากเก่งตัวนี้ด้วย ตัวหนังก็เลยจะตัดสลับกับเหตุการณ์ ณ ปัจจุบันที่ร็อกเก็ตนอนโคม่าอยู่บนยาน เดอะ มิลาโน (The Milano) ตัดสลับ Flashback กับเหตุการณ์ในวัยเด็กตอนที่ร็อกเก็ตยังเป็นแค่แร็คคูนตัวจิ๋ว ๆ ที่ถูกจับมาทดลอง ซึ่งที่นั่นเขาเองก็ได้เจอกับผองเพื่อนบรรดาสัตว์ทดลองที่กลายมาเป็นเพื่อนในเวลาต่อมา ซึ่งใน Flashback นี้ก็จะค่อย ๆ คลายปมปริศนาที่มาที่ไปของตัวเอง และเป็นมูลเหตุให้แก๊งเกรียนต้องเหาะข้ามจักรวาลเพื่อไปบุกรังของ ไฮ เรฟโวลูชันนารี เพื่อหาวิธีช่วยร็อกเก็ตไปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหลบหนี อดัม วอร์ล็อก ที่ก็กำลังออกตามหาร็อกเก็ตด้วยเหมือนกัน

แน่นอนแหละว่า ผู้เขียนก็เหมือนหลายคนที่มีความกังวลว่า พอเห็นโปสเตอร์ที่เน้นภาพของร็อกเก็ตเยอะ ๆ เห็นตัวละครอย่างสตาร์ลอร์ดร้องไห้ในตัวอย่าง ก็ยิ่งชวนให้เครียดไปใหญ่ว่าจะมีใครตุยหรือเปล่าเนี่ย พอยิ่งเป็นภาคสุดท้าย ก็ยิ่งเอื้อให้สามารถเขียนบทให้ใครบางคนตุยไปเลยก็ย่อมได้ และนั่นก็อาจจะทำให้แกนหลักในแบบที่ ‘Guardians of the Galaxy’ เป็นมาโดยตลอดนั่นก็คือ ความเกรียน ความรั่ว ความกวนเบื้องล่าง ความน่ารักก๊องแก๊ง จะถูกพังทลายจนสิ้นด้วยบรรดาเส้นเรื่องดราม่าตับพัง จนพาให้ภาพรวมออกมามีแต่ดราม่าน้ำตารื้น และเน้นฉากโหดที่ทรมานใจเด็ก ๆ และคนรักสัตว์ จนเสียรสเสียชาติความเกรียนไปแหง ๆ ยิ่งมีช็อตที่ร็อกเก็ตเปิดเพลง “Creep” (เวอร์ชันอคูสติก) ของวง ‘Radiohead’ ที่มีเนื้อเพลงสะท้อนภาพของ Underdog ขี้แพ้ บวกด้วยฉากแอ็กชันโหด ๆ ที่เปิดมาก็ยิ่งชวนให้สถานการณ์ยิ่งหม่นหมองหดหู่หนักเข้าไปอีก

แต่พอตัวหนังเริ่มเดินเรื่องการผจญภัยของแก๊งการ์เดียนส์ จึงเริ่มค่อย ๆ ผ่อนคลายความดราม่าตับแตก และเริ่มเข้าสู่โหมดเกรียนอีกครั้ง ซึ่งในภาคนี้ถ้าสังเกตดี ๆ ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละมุกที่เล่น หรืออารมณ์มวลรวมของแต่ละตัวละครมีความเคร่งขรึมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากบรรยากาศหม่น ๆ ธีมของบทที่จริงจังซีเรียสมากขึ้น การสะท้อนเรื่องราวของความเป็นครอบครัว ความเป็นคนนอกคอกไม่มีใครเอา รวมถึงตอกหน้าแนวคิดการมุ่งเน้นการสร้างโลกและสังคมที่สมบูรณ์แบบ (ที่แอบมีความเป็นการเมืองนิด ๆ ) รวมทั้งบรรดามุกห่ามร้าย มุกหยาบคายจากหลายตัวละครที่เริ่มเติบโตขึ้นตามเวลา

แน่นอนแหละว่า มวลความกวนเบื้องล่างแบบเกรียน ๆ มีความเป็นการ์ตู๊นการ์ตูนในแบบที่เคยชอบใน 2 ภาคแรกมันอาจจะหายไปพอควร แต่มันก็แลกมาด้วยความรู้สึกเติบโตของตัวละครและเรื่องราวที่จริง ๆ มันก็การ์ตูนแหละ แต่อาจจะเป็นการ์ตูนที่โตขึ้นไปอีกขั้น อีกจุดที่เคร่งขรึมอย่างเห็นได้ชัดก็คือบรรดาฉากแอ็กชัน ที่คราวนี้เล่นใหญ่กว่าเดิมเยอะมากครับ ทั้งงานโปรดักชัน และวิชวลเอฟเฟกต์ ที่ยังเน้นสีสันจัดจ้าน ประหลาดล้ำแปลกตา แต่ก็มีการใช้วิชวลที่ดูน่าขยะแขยงน่าเกลียด รู้สึกหยึย ๆ แหวะ ๆ ไม่เหมือนในภาคก่อน ๆ ที่เน้นความสวยอลังการ และงานแอ็กชันที่ผู้เขียนคิดว่าดีกว่าในทุก ๆ ภาคครับ โดยเฉพาะในองก์ที่ 3 ที่เป็นแอ็กชันแบบลองเทกยาวเหยียดที่ทำออกมาได้แบบว่า โคตรโหดโคตรอันตรายจริง ๆ

แม้ภาพรวมของตัวหนังจะแอบมีความซีเรียส และมีฉากที่สะเทือนใจคนรักสัตว์นิดหน่อย แต่เอาจริง ๆ ผู้เขียนคิดว่ามันก็ไม่ได้ถึงกับดราม่าหม่นหมองร้องไห้ตับจะแตกอะไรขนาดนั้นครับ เพราะตัวหนังพยายามสลับอารมณ์ให้ถูกที่ถูกทางมากขึ้น ทั้งจังหวะฮาเกรียนตามแบบฉบับ และจังหวะหม่นน้ำตาซึม และรวมไปถึงการกระจายเส้นเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย เหมือนกันน์จะพยายามเทปมเรื่องของทุกคนออกมาทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้ายแบบไม่กลัวเสียดาย แม้เส้นเรื่องหลักจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ร็อกเก็ต แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมของตัวหนังก็คือ การแบ่งแอร์ไทม์อันแสนจะยุ่บยั่บให้กับตัวละครทั้งหมดได้อย่างสมดุลและมีจังหวะจะโคน จนทำให้แต่ละเส้นเรื่องไม่ได้ตีกันเองจนมั่วแหลก แต่เหมือนเป็นการรวมทุกปมของทุกตัวละครจากทุกภาค มาสรุปและหาทางลงให้ในภาคนี้ได้อย่างลงตัว

ใครที่รู้สึกว่า 2 ภาคแรก บางตัวละครแอร์ไทม์ดูน้อยไปหน่อย ด้วยความที่ภาคนี้ยาวที่สุด ภาคนี้ก็เลยจะได้เห็นตัวละครสมทบได้ฉายแสงกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตัวละครที่ผู้เขียนชอบมาก ๆ อย่างแมนทิส คอสโม และกรูท (เวอร์ชันล่ำ) ที่ปกติแล้วจะมีบทบาทไม่เยอะ หนังก็เลยให้ได้ยิงมุกฮาและแอ็กชันกันแบบจุใจไปเลย ส่วนตัวละครอื่น ๆ อย่างเช่น แดร็กซ์, เนบิวลา ฯลฯ ก็จะได้มีจังหวะขโมยซีนคม ๆ มากขึ้น ซึ่งก็ต้องแลกกับบทบาทของสตาร์ลอร์ดที่ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด (ภาคนี้เลยให้ร็อกเก็ตคุมเครื่องเล่นเพลงแทนเชียวนะ) รวมทั้งคู่หู แดร็กซ์-แมนทิส จาก ‘Holiday Special’ ที่ยิงมุกกันเข้าขาสุด ๆ เลย

แน่นอนแหละว่าคงแบ่งแอร์ไทม์ให้เท่ากันแบบเป๊ะ ๆ ไม่ได้แน่นอน แต่การได้เห็นตัวละครทุกตัว ที่ล้วนแล้วแต่มีที่มาอันขมขื่น ได้มีจังหวะและความสำคัญเป็นของตัวเองในแบบที่ไม่มีใครถูกหลงลืม นี่คือเสน่ห์ของตัวหนังที่ผู้เขียนคิดว่าหาได้ยากนะครับในหนังฮีโรเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการใช้และรักษาธีมความเป็นหนังครอบครัว ความนอกคอกในแบบฉบับของ ‘Guardians’ ให้มีเรื่องราวที่ไม่ใช่แค่ฮาหรือแอ็กชันสนุก แต่เป็นเรื่องราวที่มีหัวจิตหัวใจ จนทำให้เรารู้สึกรักทั้งบรรดา ตัวละครแก๊งเกรียน และบรรดาตัวละครเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งบรรดาสัตว์แปลง เพื่อนของร็อกเก็ต รวมทั้งรู้สึกเอ็นดูสิ่งมีชีวิตดัดแปลงทุกตัวที่อยู่ในหนังได้อย่างไม่มีเงื่อนไข แม้แต่วายร้ายอย่างอดัม วอร์ล็อก ที่ตอนแรกนี่ถือว่าเป็นวายร้ายตัวตึงที่ทรงพลังไม่กระจอกเลยนะครับ เผลอ ๆ ทรงพลังกว่า ไฮ เรฟโวลูชันนารี อีกต่างหาก แต่ยังมีความน้อนอยู่ ก็เลยเป็นตัวขโมยซีนในหนังที่หลายคนน่าจะทั้งรักและเกลียดในเวลาเดียวกัน เพียงแต่พอถูกวางให้เป็นวายร้ายเบอร์รอง ก็เลยดูมึความเป็น Anti-Hero มากกว่าจะเป็นวายร้ายหลัก

อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ นั่นก็คือเพลย์ลิสต์ประจำภาค ที่คราวนี้ กันน์เลือกเพลงจากยุค 90s เป็นส่วนใหญ่นะครับ และก็ไม่มีมิกซ์เทป Awesome Mix แล้วด้วย แต่เป็นเพลย์ลิสต์ที่อยู่ในเครื่องเล่นเพลงแทน ซึ่งกันน์ก็ยังคงเลือกเพลงได้ดีไม่แพ้ 2 ภาคแรก และเขาก็ยังคง ยังคงจับคู่เพลงยุค 90s กับอุณหภูมิของแต่ละฉากได้อย่างแม่นยำมาก คล้ายกับ เควนทิน ทารันทิโน (Quentin Tarantino) ที่รสนิยมการฟังเพลงกว้าง ฟังเพลงดีหลากหลายแนว และจับคู่เพลงเข้ากับอุณหภูมิของแต่ละซีนในหนังของตัวเองได้ออกมาถูกควรจนกลายเป็นอัลบั้ม Soundtrack ประกอบหนังที่ขายดิบขายดีมาตลอด ก็หวังว่าอัลบั้มสุดท้ายนี้จะขายดีไปด้วยนะครับ เพลงเขาดีหลายเพลงอยู่นะ

สิ่งที่ผู้เขียนเองก็รู้สึกทั้งชอบและรู้สึกตะหงิดนิด ๆ ก็คือบทสรุปจบครับ เพราะพอเป็นการปิดเรื่องราวของพวกเขา ก็เข้าใจได้แหละว่า กันน์เองคงไม่ได้อยากจะยิงดราม่าทรมานใจแฟน ๆ มากเกินความจำเป็น (แม้จะมีบางฉากที่รู้สึกว่าใส่ดราม่าหักมุมแบบจงใจไปหน่อยนะ) คือใครที่หวังฉากจบแบบ Farewell ทิ้งท้ายแบบมหากาพย์เร้าใจ หรือจบช็อก Epic สลัด ๆ แบบที่จะถูกเอาไปคุยเล่นกันไปอีก 10 ปี เหมือนใน ‘Avengers: Endgame’ (2019) อันนี้น่าจะเกินความคาดหวังไปสักนิด เพราะตัวหนังเลือกที่จะจบแบบเรียบง่าย เหมือนงานปัจฉิมนิเทศโรงเรียนอะไรแบบนี้มากกว่า แม้จะออกไปทางเรียบง่ายจนดูแอบธรรมดาไปด้วยซ้ำ แต่ก็ถือว่าเป็นตอนจบแบบเน้นฟีลกู้ด ไม่เน้นพังตับ อารมณ์เหมือนอ่านหนังสือรุ่นที่กันน์ นักแสดง และทีมงานมอบไว้ให้คนดูเก็บไว้เป็นที่ระลึก คิดถึงเมื่อไหร่ก็เอากลับมาดูซ้ำได้เรื่อย ๆ น่าจะดีกว่ายิงเซอร์ไพรส์แรง ๆ แต่จบแล้วก็จบกันไป

จริง ๆ จะบอกว่าเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบได้ไหม ก็ไม่ขนาดนั้นครับ เพราะก็ยังมีข้อสังเกตที่ชวนตะหงิดหลายจุด ทั้งจังหวะการเล่าเรื่องบางจุดที่ไม่เข้าที่เข้าทาง บ้างเร็วไป บ้างช้าจนยืด บางจุดก็ซ้ำทางจากภาคที่แล้ว รวมทั้งการตัดต่อจังหวะอารมณ์แบบฉับ ๆ จนแทบไม่ได้ให้เวลาได้ซึมกับอารมณ์ในแต่ละฉากได้มากเท่าที่ควร รวมทั้งบางฉากที่จังหวะแอบยืดย้วยไปนิด สามารถกระชับเนื้อเรื่องบางจุดให้กระชับลงได้อีก และความเคร่งขรึมบางอย่างที่อาจจะไม่คุ้นเคยจากภาคก่อน ซึ่งถ้าใครไม่ชอบก็จะดูแปร่ง ๆ แหละ และจังหวะดราม่าบางอันที่ปูเพื่อเข้าสู่จุดหักมุมบางอันก็ดูตั้งใจจนผู้เขียนเองรู้สึกว่ามันฝืนไปสักนิด

มันอาจจะไม่ใช่หนังที่ดีสมบูรณ์แบบไปเสียทุกด้าน แต่อย่างน้อย ๆ ‘Guardians of the Galaxy Vol. 3’ ก็ถือเป็นปาร์ตี้สั่งลา เป็น Farewell ของทั้งเจมส์ กันน์ บรรดานักแสดง และอวสานแฟรนไชส์ชุดนี้ได้อย่างน่าประทับใจ ถ้ามองโดยภาพรวมของ MCU ก็อาจจะพูดได้ว่า นี่คือหนังที่ทำได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของยุค The Multiverse Saga เป็นหนังที่ยังรักษาหัวใจและสไตล์ของตัวเองได้อย่างครบถ้วย ในขณะที่ก็ยินยอมให้ตัวเองเติบโตขึ้น เคร่งขรึมขึ้น เป็นหนังที่ผู้เขียนคิดว่า เจมส์ กันน์ คงรักมันมาก ๆ และน่าจะมีความสุขตอนทำไม่น้อย เลยสามารถเล่าเรื่องออกมาได้อย่างมีหัวจิตหัวใจ และทำให้คนดูรู้สึกรักเหล่าการ์เดียนส์ ได้เหมือนกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง (เอาจริง ๆ รักกว่า Avengers ซะอีกนะตอนนี้ 555) ที่แม้ว่าตอนนี้อาจจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว แต่เราจะคิดถึงเพื่อนเกรียน ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ แก๊งนี้มากแน่ ๆ เลย

ปล.1 ตัวหนังมี Mid-Credits และ Post-Credits แค่ 2 ตัวครับ (ไม่ได้บ้ามี 5 ตัวเหมือนภาคที่แล้วนะคราวนี้ 555) ตัวแรกก็น่ารักดี ส่วนตัวหลังก็ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการเปิดเผยอนาคตต่อไปจากนี้ของ MCU ด้วย และส่วนตัวผู้เขียนเชียร์ให้ดูเครดิตไปด้วยนะครับ เขาทำออกมาน่ารักและย้อนความทรงจำดี