รีวิว THE WOMAN KING: กษัตริยา วีรสตรี และการค้าทาสแห่งแอฟริกา

แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของกองกำลังนักรบหญิงในยุคค้าทาส

The Woman King ได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากประวัติศาสตร์ (แต่ไม่ได้เล่าตามความจริง 100%) ของ Kingdom of Dahomey (หรือสาธารณรัฐเบนิน (Republic of Benin) ในปัจจุบัน) ที่มีตำนานว่า ครั้งหนึ่งผู้คนเชื่อในกษัตริย์และกษัตริยา (ใช้คำว่า The Woman King ไม่ใช่ Queen) ว่ามีฐานะเท่าเทียมกัน

ในหนัง เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1823 ตรงกับยุคแรกเริ่มในรัชสมัย King Ghezo (ปกครองจริง ปี 1818-1859) (รับบทโดย John Boyega จาก Star Wars: Episode VII – The Force Awakens) ซึ่งถือว่าได้ถ่ายทอดบทบาทกษัตริย์ได้ค่อนข้างสมจริงในส่วนของ “การไม่ทำอะไรมากนอกจากสั่ง” และ “การเสพสุขสำราญในฮาเร็ม” ดังนั้น หัวใจสำคัญของหนัง The Woman King ก็คือ นายพล Nanisca (Viola Davis นักแสดงออสการ์จาก Fences) ผู้นำของกองทหารหญิง Agojie

ถึงแม้นายพล Nanisca จะเป็นเพียงตัวละครสมมติ แต่ Agojie (หรือ Dahomey Amazons) มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เพราะช่วงนั้นประชากรชายล้มหายตายจากเยอะจากสงครามและการค้าทาส (Slave Trade) โดย Agojie ยังเป็นต้นแบบของกองทหารหญิง Dora Milaje ในหนัง Black Panther และ Lupita Nyong’o หนึ่งในนักแสดงนำหญิงของ Black Panther เอง ก็เคยร่วมทำสารคดีเกี่ยวกับ Agojie

Agojie ได้รับการกล่าวขานว่าแข็งแกร่งที่สุดในช่วงรัชสมัยของ King Ghezo ซึ่ง ณ ตอนนั้น แอฟริกากำลังอยู่ในยุคค้าทาส และสิ่งที่น่าสนใจคือ คนแอฟริกันด้วยกันเอง รวมถึง Dahomey นี่แหละ ที่เป็นผู้ค้าคนผิวสีด้วยกันเองให้กับพวกคนขาว เพื่อแลกกับอาวุธสงคราม และเหล้ายาปลาปิ้ง โดยในหนัง เล่าว่าอาณาจักร Oyo นำโดย Oba (Jimmy Odukoya) เป็นตัวกลางการค้าทาสรายใหญ่ของพวกคนขาว และเป็นอริสำคัญของ Dahomey นอกจากนี้ นายพล Nanisca ก็พยายามโน้มน้าวให้ King Ghezo ก่อร่างสร้างความรุ่งเรืองโดยการค้าน้ำมันปาล์มแทนการค้ามนุษย์

การค้ามนุษย์ในยุคนั้นหาได้มีแต่การค้าทาส หากแต่ยังมีพ่อแม่ที่ขายลูกสาวตัวเองให้ไปเป็นเมียเศรษฐี โดยในหนังนี้ พ่อแม่ของ Nawi (Thuso Mbedu จาก The Underground Railroad) เด็กสาววัย 19 ปี ก็พยายามขายเธอให้กับเจ้าของสวนปาล์มที่แก่คราวพ่อและชอบทุบตีผู้หญิง แต่ Nawi ขัดขืน ทำให้พ่อต้องยกเธอให้ไปเป็นผู้หญิงของกษัตริย์ หรือไปเป็นทหารหญิง Agojie นั่นเอง (ในหนัง พูดถึง Agojie แค่ว่าเป็นทหารสู้รบ แต่ประวัติศาสตร์บางสำนักก็เขียนว่า Agojie เป็นทั้งองครักษ์และเป็นเมียชั้นสามขององค์ราชา)

“SOMETIMES, A TERMITE CAN TAKE DOWN AN ELEPHANT.”

ถึงแม้ Agojie จะเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทำให้ชาวโลกประจักษ์ว่า ผู้หญิงก็สามารถทำในสิ่งที่ผู้ชายทำได้ (เช่น การสู้รบ หรือการบริหารปกครองบ้านเมือง) แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Agojie คือ หลายคนไม่มีทางเลือกหรือไม่มีที่ไป จึงต้องเลือกอยู่ในวังและเป็น Agojie บางประวัติศาสตร์กล่าวด้วยว่า ทหาร Agojie มักเป็นหญิงที่ไม่เป็นที่ต้องการพ่อแม่หรือชายอื่น

อย่างไรก็ดี The Woman King ไม่ได้เล่าลงลึกเกี่ยวกับการค้าทาสและ Agojie นัก (แต่ก็เพียงพอให้เรารู้สึกกระหายอยากหาอ่านเพิ่มเติมต่อเอง) หนังเน้นเล่าถึงชีวิต การฝึกซ้อม และความสัมพันธ์แบบ sisterhood ใน Agojie แถมยังใส่ความเมโลดราม่า ทั้งประเด็นครอบครัว สงครามเย็นระหว่างมเหสีคนโปรดกับนายพลหญิง รวมถึงความรักชั่วข้ามคืนระหว่าง Nawi กับ Malik (Jordan Bolger จาก Peaky Blinders) หนึ่งในสมาชิกแก๊งค้าทาส ซึ่งเรารู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

ถึงแม้หนังจะปูให้ Malik เป็นคนขาวที่เป็นลูกครึ่งแอฟริกัน แม่เคยเป็นทาสมาก่อน (ซึ่งก็มีนายทาสเลือดผสมแบบนี้อยู่จริงตามประวัติศาสตร์) และโยนสถานะความเป็นนายทาสที่โหดเหี้ยมให้ Santo Ferriera (Hero Fiennes Tiffin จาก After) เพื่อนรักของเขาแทนไป ก็ไม่ได้กลบความพยายาม romanticize ได้นัก

ความแข็งแกร่งของทีมนักแสดงหญิงเชื้อสายแอฟริกัน

ความโดดเด่นของหนังคือ นักแสดงหญิงทุกคนถ่ายทอดบทบาทนักรบหญิงได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งมิติของการเป็นทหารและความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะ Viola Davis ที่ถ่ายทอดบทบาทผู้นำนักรบหญิงผู้มีอดีตอันเจ็บปวดได้ยอดเยี่ยมสมราคาออสการ์ จนได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ สาขา Best Performance by an Actress in a Motion Picture – Drama และ Lashana Lynch จาก No Time To Die) ผู้รับบท Izogie หนึ่งในนักรบหญิง ที่เป็นเสมือน mentor ของ Nawi ก็น่าจดจำในทุก ๆ ฉาก ไม่แพ้ตัวละครหลักอย่างนายพล Nanisca และ Nawi เลย

ทั้งนี้เหล่านักแสดงทุกคนต้องฟิตซ้อมอย่างหนักทุกวันเป็นเวลากว่า 4 เดือน เพื่อให้แสดงฉากต่อสู้ได้สมจริง และมีรูปร่างที่ฟิตเหมือนเป็นนักรบจริง ๆ ทำให้คนดูเชื่อว่าเป็นนักรบจริง ๆ ฉากสงครามและฉากต่อสู้ก็ออกมาดุดันและสนุกไม่แพ้หนังซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์เลยทีเดียว

#TheWomanKing #WomanKingMovie #มหาศึกวีรสตรีเหล็ก #kwanmanie