สิ่งแรกที่ต้องบอกก่อนเลยก็คือ Mr. Harrigan’s Phone ไม่ใช่หนังสยองขวัญนะครับ แม้หน้าหนังจะชวนให้คิดไปแบบนั้นก็ตาม เพราะเอาเข้าจริงหนังมาในแนวชีวิตผสม Coming of age ที่มีฉากหลังเป็นหนังลึกลับระทึกขวัญ
เหตุในเรื่องเกิดที่เมืองเล็กๆ ในรัฐเมน (รัฐประจำของนิยาย Stephen King) เรื่องของเครก (Jaeden Martell) เด็กหนุ่มที่ได้รับจ็อบให้มานั่งอ่านหนังสือให้จอห์น ฮาร์ริแกน (Donald Sutherland) ฟัง เนื่องจากคุณฮาร์ริแกนสายตาเริ่มฝ้าฟางตามอายุ
อยู่มาวันหนึ่งคุณฮาร์ริแกนก็เสียชีวิตครับ แน่นอนว่าเครกย่อมรู้สึกเสียใจเพราะเขาก็รู้สึกผูกพันกับคุณฮาร์ริแกนอยู่เหมือนกัน และตอนที่เขาไปเคารพศพเขาก็แอบเอาโทรศัพท์มือถือใส่ลงไปในโลงของคุณฮาร์ริแกนด้วย
และเมื่อเขารู้สึกอ้างว้างต้องการคำปรึกษาจากใครสักคน เขาก็ส่งข้อความไปยังมือถือของคุณฮาร์ริแกน แล้วปรากฏว่าดันมีการตอบกลับมาถึงเขาด้วย… หรือคุณฮาร์ริแกนกำลังติดต่อเขามาจากโลกหลังความตาย?
โทนหนังรวมถึงการประกาศว่าดัดแปลงจากเรื่องของ King อาจทำให้คิดไปได้ไม่ยากครับว่าหนังน่าจะมาแนวสยอง แต่อย่างที่บอกครับว่ามันไม่ใช่ ดังนั้นใครคาดหวังความตื่นเต้นระทึกสยองก็อาจผิดหวังเอาได้ แต่สำหรับผมแล้วความรู้สึกถือว่ากลางๆ ครับ คืออาจไม่ได้สมหวัง แต่ก็ไม่ถึงกับผิดหวังอะไร
ถ้าว่ากันถึงตัวหนังแล้ว หนังยังไม่สุดสักเท่าไร คือหนังทำการมิกซ์ 2 แนวเข้าด้วยกันครับ แนวแรกคือแนวดราม่า Coming of age อีกแนวคือลึกลับระทึกขวัญ แต่มันก็ยังไปไม่สุดทั้ง 2 ทาง ในทางดราม่านั้นจริงๆ น่าสนใจครับ ที่หนังบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของเครก ซึ่งหนังให้เวลาในส่วนนี้ค่อนข้างมาก รวมถึงทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างเครกกับคุณฮาร์ริแกน แต่ภาพและการเล่าเรื่องทั้งหลายนั้นถือว่าออกมาในระดับกลางๆ ครับ ยังไม่สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกเราให้คล้อยตามได้แบบเต็มๆ
แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่าในแง่ดารานั้นไม่มีปัญหาเลย เพราะทั้ง Martell และ Sutherland ต่างทำหน้าที่ได้ดี เพียงแต่ภาพของแต่ละซีนและรายละเอียดแต่ละฉากนั้นมันยังสื่ออารมณ์ให้เข้มกว่านี้ได้อีกน่ะครับ อย่างที่บอกนั่นแหละว่ายังไม่สุด เลยทำให้ความเข้มข้นแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างเครกกับฮาร์ริแกนยังดูไม่มากจนถึงระดับที่หนังพยายามบอกกับเราสักเท่าไร
เอาเข้าจริงการที่หนังเน้นดราม่านี่ผมไม่แปลกใจเท่าไรครับ เพราะว่าตามจริงไฮไลท์อย่างหนึ่งสำหรับนิยายของ King สำหรับผมแล้วมันคือ “เรื่องการเติบโตของตัวละคร” โดยเฉพาะตัวเอกที่เป็นเด็กเป็นวัยรุ่นนี่มักจะมีความหมายเสมอในเรื่องของ King
ใครที่เคยอ่านนิยายอย่าง Christine, Carrie, The Body (ที่นำมาสร้างเป็น Stand by Me) หรือ It จะตระหนักครับว่ามิติตัวละครของวัยรุ่นในเรื่องนั้นบางครั้งก็จะสะท้อนตัวของ King สมัยเด็ก บางครั้งก็สะท้อนมุมมองของ King ที่มีต่อเด็กบางยุคสมัย นั่นทำให้เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละคร ได้เห็นพวกเขาโตขึ้น ได้เห็นความคิดในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เราได้แง่คิดสะท้อนชีวิตแล้ว อะไรเหล่านี้ยังทำให้เรารู้สึกผูกพันกับตัวละครเหล่านั้นที่ King สร้างขึ้นมาด้วย – ซึ่งนี่ถือเป้นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของผลงานของ King
กับเรื่องนี้จริงๆ ทิศทางก็เป็นแบบนั้นครับ หนังพาเราไปพบกับช่วงหนึ่งของชีวิตของเครก นอกจากจะเล่าเรื่องของเขากับคุณฮาร์ริแกนแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องของพ่อลูก เรื่องของเพื่อน เรื่อง Puppy Love เรื่องของคุณครู ฯลฯ เพียงแต่การนำเสนอบอกเล่าก็โอเคในระดัยบหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ถึงระดับเด็ด – ถ้าทำได้ถึงนี่ผมว่าหนังสามารถเดินเล่นเคียงคู่ Stand by Me ได้เลยล่ะครับ
ในขณะที่ส่วนของความระทึกนั้น เหมือนถูกใส่ลงไปเพื่อให้หนังดูมีความลึกลับ แต่ความลึกลับนั้นก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อเรื่องราว จนผมยังแอบคิดเลยครับว่าถ้าหนังตัดส่วนของเรื่องลึกลับออกไป แล้วเดินเรื่องในสไตล์ The Green Mile หรือ Hearts in Atlantis (เรื่องแนวชีวิตที่มีเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นส่วนผสม แต่ไม่ได้เน้นในเชิงระทึกขวัญ) หนังอาจมีพลังมากกว่าที่เป็นก็ได้
หนังโปรยฉากน่าสนใจไว้หลายฉาก เช่น ฉากที่คุณฮาร์ริแกนทำนายอนาคตของโลกโซเชียล (เรื่องการหลั่งไหลเป็นน้ำป่าของข้อมูลและ Fake News) หรือฉากที่เด็กนักเรียนนั่งร่วมโต๊ะกันที่โรงเรียนโดยแยกกลุ่มตามยี่ห้อมือถือที่ใช้ ซึ่งก็ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ เพียงแต่ประเด็นเหล่านั้นไม่ได้รับการสานต่อ เหมือนเล่านิดหน่อยแล้วก็ปล่อยไป
ฉากที่ผมชอบสุดผมยกให้ฉากที่พ่อลูกอำลากันหน้าบ้าน ก่อนที่เครกจะต้องไปเรียนต่อที่เมืองอื่น ฉากนี้มาสั้นๆ แต่อารมณ์ถือว่าพอเหมาะ ส่วนหนึ่งที่โดนสำหรับฉากนี้ก็คงเพราะผมเป็นพ่อคนน่ะครับ คิดเสมอว่าสักวันลูกก็คงจะต้องจากอ้อมอกไปมีชีวิตของเขาเอง ฉากแบบที่เห็นในหนังก็คงมาถึงในสักวันหนึ่ง เลยแอบอินอยู่ และฉากนั้นก็สื่อออกมาดีด้วยครับ คนเป็นพ่อไม่ต้องพูดอะไรเยอะ แค่แสดงออกทางสายตาก็พอ – ฉากนี้ Joe Tippett ที่เล่นเป็นพ่อแสดงได้กำลังดี
หนังกำกับโดย John Lee Hancock จาก The Rookie, The Blind Side, Saving Mr. Banks, The Founder เรียกว่าส่วนใหญ่งานของเขาจะออกแนวดราม่าครับ ซึ่งผมว่าเขาทำแนวดราม่าได้ดีนะ ในขณะที่แนวลึกลับระทึกขวัญ ก่อนหน้าเรื่องนี้เขาก็เคยทำ The Little Things ซึ่งผลก็ออกมากลางๆ และมาเรื่องนี้ก็เช่นกันครับ ผลออกมากลางๆ จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเขาเน้นดราม่าแบบที่เขาถนัดแบบเพียวๆ (โดยไม่ต้องแบ่งพื้นที่ให้กับความลึกลับ-ที่จริงๆ ไม่ต้องทำให้มันดูลึกลับก็ได้) หนังอาจกลมกล่อมมากกว่านี้ก็ได้
สรุปว่าหนังก็น่าลองอยู่ครับ ขอเพียงตั้งความคาดหวังให้ถูก ก็น่าจะโอเค
สองดาวครับ
(6/10)