หนังแอคชั่นฟอร์มใหญ่ของ Netflix เรื่อง The Gray Man ออกฉายในช่องสตรีมมิ่งสัปดาห์ที่แล้ว และเปิดฉายในโรงภาพยนตร์บางโรงในอเมริกาด้วย เพราะนี่เป็นหนังที่ Netflix หมายมั่นจะใช้เรียกความมั่นใจกลับมาหลังสถานการณ์ผู้สมัครใช้บริการลดลงจนเป็นข่าวใหญ่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
ถามว่าเรียกแขกได้มั้ย ก็คงได้ เพราะหนังใช้สองดาราดังเป็นแม่เหล็ก ไรอัน กอสลิ่ง ในบทนักฆ่าหน้าท้องผูก และ คริส เอแวนส์ ในบทผู้ร้ายโรคจิต เสริมกำลังด้วยดาราสาวที่กำลังงานชุก อานา เดอ อามาส (ล่าสุดเราเห็นเธอใน เจมส์ บอนด์ No Time To Die) แถม The Gray Man ยังเป็นโปรเจคท์ของสองผู้กำกับพี่น้องตระกูลรุสโซ ที่ดังมาจากการสร้างสีสันและความอลังการในฉากบู๊ให้กับจักรวาลมาร์เวล เอาเป็นว่าเล่นใหญ่ขนาดนี้ ไม่ดังก็ให้มันรู้ไป
แต่ลางเนื้อชอบลางยา ผู้เขียนดีใจที่ได้ดู The Gray Man ในจอทีวี เพราะถ้าดูโรงคงยิ่งผิดหวังมากกว่านี้ ถ้าเอาแบบมาตรฐานดาด ๆ หนังก็สนุกโครมครามพอใช้ได้ มีฉากแอคชั่นบ้าคลั่งวินาศสันตะโรให้เสพ พีน้องรุซโซเล่นใหญ่ เพราะเล่นเล็กไม่เป็น และเพราะ Netflix ให้เงินเว่อร์วังถึง 200 ล้านดอลล่าร์เป็นทุนสร้าง ดูไปพอสไป ก็พอทำให้ผ่านพ้นค่ำคืนวันเสาร์ไปได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง
The Gray Man เป็นเสมือนหนังบู๊หลาย ๆ เรื่องที่เราคุ้นเคยเอามาขยำรวมกัน เขย่า ๆ ใส่สีสด ๆ เข้าไป เติมด้วยบทพูดเล่นมุกยอกย้อน ตัวพระเอกชื่อ ซิกส์ (Six) ที่ไรอัน กอสลิ่งเล่น ก็ถอดแบบมาจากสายลับที่เราเห็นมาเยอะแล้ว หลัก ๆ คือเจมส์ บอนด์ แถมหนังยังแสร้งล้อตัวเองปนกลบเกลื่อนว่าพระเอกต้องชื่อ Six ก็เพราะ 007 มีคนใช้ไปแล้ว เรื่องการโดนหักหลังโดยหน่วยงานลับของตัวเองก็ไม่เข้มข้นเท่าหนังชุด The Bourne Identity ส่วนประเด็นที่พระเอกมีปมอยากปกป้องเด็กสาวผู้อ่อนแอก็แสนเชย ไล่กลับไปได้ถึง Leon และหนังแมน ๆ ที่อยากโชว์ความละเอียดอ่อนอีกไม่รู้กี่เรื่อง ส่วนพล็อตที่คุยไว้ว่าเป็นหนังสปายหักเหลี่ยมผสมหนังแอคชั่น เอาเข้าจริงไม่ได้มีความซับซ้อนใด ๆ ทุกอย่างเล่าตรงไปตรงมา ผู้ร้ายก็เห็นว่าเป็นผู้ร้ายแต่หน้าประตู ทั้งตัวคริส เอแวนส์ และ เรเก้ ฌอง-เพจ ที่ดังมาจากซีรี่ส์ Bridgerton ส่วนความเป็นหนังสปาย ต้องล้วงข้อมูลความลับอะไรนั้นไม่มีเอาเสียเลย
ที่เด่นหน่อยคือ อานา เดอ อามาส ในบทสายลับนักบู๊ ทั้งเตะต่อยต่อสู้กับบรรดาสมุนผู้ร้ายจอมโหด และใช้อาวุธหนักไล่ถล่มผู้ร้ายไม่ไว้หน้า ใน No Time To Die เธอได้ออกน้อยไปหน่อย มาในเรื่องนี้ เดอ อามาส ประกาศศักดาเลยว่าเธอเป็นสาวหน้าหวานที่ลุยแหลกได้ในทุกสมรภูมิ
ไรอัน กอสลิ่ง แสดงเป็นนักโทษที่ถูกหน่วยงานลับของ CIA เลือกมาเป็นมือสังหาร เปิดมาเราเห็น ซิกส์ กำลังปฏิบัติการเก็บเป้าหมายในกรุงเทพ (เป็นกรุงเทพ ที่ดูไม่ค่อยกรุงเทพ เว้นตอนที่ซิกส์ไปขโมยรถตุ๊กตุ๊ก ขับหนีไปเชียงใหม่ นายแน่มาก) ก่อนจะค้นพบว่าจริง ๆ แล้วหัวหน้าหน่วย CIA ของเขาซ่อนความลับไว้ในธัมป์ไดรฟ์ (เชยไปมั้ย) อันนำมาซึ่งการที่ซิกส์โดนตามล่าโดยฝูงผู้ร้ายและทหารรับจ้างนับร้อย จนต้องระเห็ดหนีไปหลายประเทศ ทั้งฮ่องกง เบอร์ลิน เวียนนา ปราก และเกาะในโครเอเชีย ทุกเมืองก็ต้องมีฉากไล่ล่า ถล่มเมืองไล่ยิงตึกให้ราบเพื่อความสะใจ ที่สนุกสุดก็คงเป็นฉากต่อสู้บนรถรางที่กำลังวิ่งอยู่กลางกรุงปราก
การดีไซน์ฉากต่อสู้ก็ตื่นเต้น เว่อร์ และไม่ต้องแคร์เหตุผลใด ๆ ทั้งตอนที่ซิกส์ต้องโดดหนีจากเครื่องบินที่กำลังไฟไหม้ หรือฉากยิงกันในเมืองต่าง ๆ ไม่นับการที่ซิกส์ราวกับจะมีของขลังแบบขุนพันธ์ ที่ทำให้โดนยิงโดนแทงเท่าไหร่ก็ยังมีแรงสู้ไม่ถอย ตรงนี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตุว่า ทำไมเราถึงไม่คล้อยตามความไร้เหตุผลของหนังเหล่านี้เมื่อเปรียบกับความไร้เหตุผลพอ ๆ กันของหนังอย่างเจมส์ บอนด์ หรือหนังชุดเจสัน บอร์น?
คำตอบคือ เพราะหนังไม่ได้ทำให้เราเชื่อในตัวละครซิกส์ ไม่ได้ทำให้เราเห็นปูมหลังหรือเข้าใจปมทางจิตใจของตัวละคร หรือไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้การหนีเอาชีวิตรอดของตัวเอกดูเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และไม่ได้ทำให้เขาดูมีชีวิตจริง ๆ นี่เป็นอีกครั้งที่ ไรอัน กอสลิ่ง รับบทผู้ชายที่ทำหน้าเหน็ดเหนื่อยกับความเป็นไปของโลก ทั้งปล่อยวางและทั้งยอมรับในชะตาชีวิตอันโหดร้ายของเขา (ลองนึกถึง Only God Forgives ที่ถ่ายทำในกรุงเทพเช่นกัน หรือแม้แต่ La La Land) แต่เพราะบทหนังของ The Gray Man ไม่มีเวลาหรือไม่สนใจจะทำให้ตัวละครนี้มีอะไรลึก ๆ มากกว่าที่เห็น และใช้เวลากับการสร้างฉากไล่ล่าต่อเนื่องกันจนตัวละครจมหายไปในซากปรักหักพังของการไล่ยิงกัน
เอาเป็นว่า ดูได้ครับแบบ “ไม่ต้องคิดมาก” ครับ ปกติก็ไม่คิดครับ แต่พอเริ่มคิดเท่านั้นล่ะ …