ไม่น่าเชื่อนะครับ อายุอานามหนังเรื่องนี้จะปาเข้าไปเป็น 20 ปีแล้ว… แหม นึกถึงตัวเลขจำนวนปีทีไร ก็อดมองตัวเองในกระจกไม่ได้… แก่แล้วหนอเรา ซึ่งสมัยที่ผมดูนั้น หนังได้รับคำชมเพียบครับ จนต้องไปตามวีดีโอมาเก็บกันเลยล่ะ
เนื้อหาก็ว่าด้วยเด็กชายบิลลี่ เอลเลียต (Jamie Bell) ลูกของครอบครัวคนงานเหมือง ที่อยู่มาวันหนึ่งก็ค้นพบว่าตัวเองรักในการเต้นบัลเล่ต์เป็นชีวิตจิตใจ แล้วตัวเขาเองก็มีพรสวรรค์ไม่ใช่น้อย บิลลี่เลยตัดสินใจแอบพ่อมาเรียนเต้นบัลเล่ต์กับมิสซิสวิลกินสัน (Julie Walters) ครูสอนบัลเล่ต์จอมเหี้ยบเป็นประจำ โดยเขาจำต้องโกหกพ่อว่า “มาซ้อมมวย”
แล้วทำไมบิลลี่ต้อง “แอบ” เรียนน่ะเหรอครับ เหตุผลนั่นก็เพราะพ่อของเขา (Gary Lewis) ไม่อนุญาตและไม่เห็นด้วยอย่างแรง เนื่องจากพ่อของบิลลี่เป็นคนงานเหมืองในเมืองยอร์คเชียร์ที่หัวเก่าเอาเรื่อง และคิดเสมอว่าที่ลูกดังนั้นการจะให้ลูกไปเต้นกินรำกินนี่ ไม่เคยอยู่ในความคิด แล้วนี่บิลลี่ยังไม่ใช่แค่เต้นธรรมดา แต่เต้นบัลเล่ต์ที่ใครๆ ก็มองว่ามันเป็นกิจกรรมของผู้หญิงชัดๆ เรียกว่างานนี้พ่อของบิลลี่ไม่อนุญาตร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อใจมันรัก มันชอบ และเป็นความฝันไปแล้ว บิลลี่เลยไม่ยอมแพ้ง่ายๆครับ เดินหน้าพิสูจน์ตัวเองให้พ่อได้เข้าใจและเชื่อว่า เขาจะสามารถเป็นนักบัลเล่ต์ที่ยิ่งใหญ่ได้จริงๆ… ซึ่งเขาจะทำได้หรือไม่ ใครยังไม่เคยดู ก็ลองตามไปเอาใจช่วยเขาได้ในหนังนะครับผม
หนังดีครับ นี่ว่ากันถึงหนังก่อนเลยนะครับ จุดแรกที่อยากชมคือดาราเล่นกันได้เจ๋งมาก โดยเฉพาะ Walters ที่ไม่แปลกใจเลยครับที่เธอได้เข้าชิงออสการ์จากบทนี้ ส่วนเจ้าหนู Bell ก็แจ้งเกิดเต็มๆ ครับ เต้นเก่ง แสดงอารมณ์เก่ง ดูแล้วก็ลุ้นเอาใจช่วยให้เขาไปถึงฝันให้สำเร็จ
แต่รายที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือ Lewis กับบทพ่อของบิลลี่ที่ดูแล้วเชื่อครับว่าเป็นพ่อลูกกัน แล้วเขายังถือเป็นตัวละครที่มีอะไรให้พูดถึงไม่น้อยอีกเหมือนกัน… บอกได้อย่างหนึ่งตรงนี้ว่า เขาเล่นบทพ่อจนเรานึกถึงพ่อ เข้าใจพ่อ และรักพ่อขึ้นมาอีกหลายขีดทีเดียว
เหตุที่ผมเอาหนังเรื่องนี้มาพูดเป็นเรื่องแรกในฐานะหนังสร้างแรงบันดาลใจเพราะตัวหนังทำออกมาดีครับ ยิ่งสาระที่สื่อถึง “องค์ประกอบแห่งการสร้างความฝันให้สำเร็จ” ก็มีหลายอย่างครับที่น่าพูดถึง
แน่นอนว่าที่เห็นได้ชัดๆ อย่างแรกก็คือ “ก่อนเจอความสำเร็จ มันต้องเจออุปสรรคและปัญหาเป็นของธรรมดา”
การที่บิลลี่เจอสิ่งหนักๆ ล้อมหน้าล้อมหลัง ก็เป็นอะไรที่เหล่าผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เคยเจอกันมาแล้วทั้งนั้นครับ ไอ้เจ้าขวากหนามที่คอยมาบาดกายและใจเนี่ย อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็เคยโดนครูบอกว่าเป็นเด็กหัวช้า, บีโธเฟน ก็เคยโดนพ่อทารุณ, ชาร์ลี แชปลิน ก็โตมาในฐานะเด็กข้างถนนที่ดูไม่มีอนาคตใดๆ
แทบจะพูดได้ว่า ไม่มีคนใหญ่คนไหนที่ไม่เคยเจออุปสรรคใหญ่ๆ มาทดสอบว่าเราคู่ควรกับความสำเร็จที่เราหมายปองหรือเปล่า ซึ่งสารพัดอุปสรรนั้น มีไว้ทดสอบตนเอง ถ้าเราชนะมันได้ เราจะแกร่งขึ้น และใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น
อย่างที่บิลลี่ทำครับ แม้จะเจอเรื่องเยอะ แต่ด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น ก็ช่วยผลักดันให้เขา “ทำได้ ทำได้ และทำได้”… ถ้าเขาเลือกถอย ทุกอย่างก็เป็นอันจบกัน
พลังความมุ่งมั่นของคนนั้น ยิ่งใหญ่นะครับ โปรดอย่าดูถูกพลังความสามารถตนเอง และอย่าคิดว่าเราดีไม่พอ เพราะตราบใดที่เราไม่เคยทำให้เต็มที่ ทุ่มเทให้เต็มแม็ก เราจะไม่มีวันรู้หรอกครับว่า คุณไปได้ไกลแค่ไหน
ก่อนจะหยุดวิ่งไปสู่ความฝัน ลองวิ่งให้สุดฝีเท้าดูสักรอบก่อนสิครับ ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ค่อยหยุด… แต่โปรดอย่าหยุดทั้งๆ ที่ยังไม่ได้วิ่ง
ยังครับ ยังไม่หมด นอกจากความพยายามเต็มที่ของบิลลี่ที่นำเขาไปสู่ความสำเร็จแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ช่วยเขาอีก นั่นคือ การที่เขาได้ครูดี และ มีกำลังใจเต็มปรี่จากครอบครัวคอยหนุนเขาไว้
เด็กมากมายมีพรสวรรค์ มีความเก่งครับ แต่ส่วนหนึ่งของเด็กเก่งเหล่านี้ไม่สามารถไปถึงฝันได้ ก็เพราะไม่เจอครูดีๆ ช่วยชี้ทาง ช่วยแนะทางลัดให้ไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น หรือไม่ก็เจอครูร้ายๆ พาหลงทางไป (อย่างกรณี องคุลิมาล ซึ่งโชคดีอย่างยิ่งที่ในท้ายที่สุด ท่านยังได้เจอบรมครูอย่างพระพุทธเจ้า มาช่วยชี้ทางที่ถูกให้)
บิลลี่เองก็โชคดีครับ ที่ได้มิสซิสวิลกินสัน ครูแสนดีที่แม้จะเฮี้ยบไปหน่อย แต่ก็เฮี้ยบด้วยความหวังดี และความเฮี้ยบของเขาก็สมเหตุผลดีน่ะครับ เพราะบางครั้งการจะดึงเอาความสามารถที่แท้จริงของคนๆ หนึ่งออกมา มันก็ต้องเคี่ยวกันหน่อยครับ ไม่งั้นมันจะไม่ได้ที่
อดคิดไม่ได้เหมือนกันครับ สมัยเด็กๆ เรามักจะไม่ชอบครูดุ รำคาญครูที่ชอบจ้ำจี้จำไช ใครเฮี้ยบมาเราจะรีบพากันหลบ แต่พอมาพิจารณาดีๆ… หลายอย่างที่ทำให้เราได้ดีในทุกวันนี้ ก็ได้มาจากอาจารย์ที่เราชอบล้อเลียนและรำคาญนั่นแหละ สำนึกขึ้นมาจับใจเลยครับ
ดังนั้นการที่เราจะได้ดี ก็ต้องมีครูคอยชี้แนะครับ อย่าคิดว่าเราเก่งที่สุด หรืออย่าลำพองว่าเราเก่งได้ด้วยตัวเอง หรือเรานั้นเหนือกว่าใคร เพราะเราอาจเก่งได้อีก หากมีใครมาช่วยชี้แนะ ซึ่งคำชี้แนะในบางเรื่องนั้น เราคิดเองไม่ได้ จุดอ่อนบางอย่างในตัวนั้น เรามองเองไม่เห็นครับ
และคำว่าครูในที่นี้ ผมไม่ได้หมายความถึงเฉพาะครูหรืออาจารย์โดยอาชีพ แต่ผมหมายถึงทุกสิ่ง (ทั้งเหตุการณ์, หนังสือ, ข่าว หรือแม้แต่ต้นไม้) และทุกคนรอบตัวเราครับ
ถ้าเปิดใจและเปิดกว้าง โลกทั้งใบจะพร้อมใจช่วยกันติวให้กับคุณ
อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้เรามีแรงวิ่งไปสู่ฝันได้ ก็คือ คนใกล้ชิดนั่นเองครับ ถ้าเรามีคนใกล้ตัวคอยให้แรงใจ คอยแนะนำ เราย่อมทะยานไปได้เรื่อยๆ อย่างที่หลายคนได้ความสำเร็จ ก็เพราะทางบ้านสนับสนุนนี่แหละ
สำหรับบิลลี่นั้น ตอนแรกเขาไม่ได้สิ่งนี้ครับ เพราะพ่อขวางเต็มตัว ไม่เห็นด้วยเต็มที่ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง พ่อนี่แหละที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อจะได้มีงานและมีเงินมาส่งเสียลูกให้ได้เรียนบัลเล่ต์สมใจ
อะไรทำให้พ่อของบิลลี่เปลี่ยนใจ? น่าคิดนะครับว่ามันคืออะไร แน่นอนว่าคำตอบหนึ่งก็คือ “ความรักที่มีต่อลูก” แต่ก็ยังมีอีกคำตอบหนึ่งครับ นั่นคือ “เพราะบิลลี่ได้พิสูจน์ให้พ่อเห็นว่า ลูกคนนี้ตั้งใจจริง”
ประเด็นนี้ในหนังถือว่าเป็นการชี้ทางออกให้กับใครหลายคน ที่กำลังเดินตามความฝัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพ่อแม่
เหตุผลสำคัญที่พ่อแม่คัดค้าน ไม่อยากให้ลูกทำตามความฝันไม่ใช่เพราะท่านอยากแกล้งเรา หรือไม่รักเราครับ แต่มันเพราะท่านรักเรานี่แหละก็เลยห่วงว่าความฝันของเรานั้น มันจะ “กินไม่ได้” มันจะไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเราได้
มันคือการมองคนละมุมนั่นแหละครับ ลูกๆ อาจมองบนมุมแห่งคนที่กำลังตื่นเต้นกับความฝัน แต่พ่อแม่ซึ่งเคยผ่านฝันมาหลายตื่น ก็เลยอยากให้ลูกพยายามมองตามจริงอย่ามองแค่ฝัน… มองต่างมุมแบบนี้ ก็นำมาสู่ความไม่เข้าใจระหว่างพ่อหรือแม่ กับลูกเสมอแหละครับ
สำหรับบิลลี่แล้ว เขาพยายามอธิบายในตอนแรก แต่แน่ล่ะครับ คำพูดบางครั้งมันก็เบาเกินไปที่จะทำให้คนเป็นผู้ใหญ่เชื่อได้ สุดท้ายบิลลี่เลยจัดให้หนึ่งซิงเกิ้ล เต้นโชว์ให้พ่อเห็นเลยว่าเขาทำอะไรได้ แล้วนั่นล่ะครับ จึงทำให้พ่อของบิลลี่ยอมเปลี่ยนใจ และช่วยให้ลูกได้ไปถึงฝั่งฝัน ไหนๆ จะเป็นนักบัลเล่ต์แล้ว ก็ไปให้ไกลเต็มที่ไปเลย
ดังนั้นทางที่ดีทางหนึ่ง ที่เราจะทำให้พ่อแม่สนับสนุนให้เราเดินตามความฝันก็คือ พิสูจน์ตัวเองครับ อย่ามัวแต่อธิบาย อย่ามัวแต่วาดกราฟสร้างภาพลมๆ อย่ามัวแต่ออกแรงทะเลาะ แต่จงทำจริง ทำให้ได้ ทำให้เต็มที่ ช่วงแรกจะโดนว่าก็ขอให้ทน จงใช้ทุกความไม่เห็นด้วยของคนรอบตัวเป็นแรงผลักดัน ไปให้ไกล
ขณะเดียวกันเราก็ต้องประเมินตัวเองด้วยว่า เราทำได้จริงไหม ไหวจริงไหม จงเดินตามความฝันด้วยความจริง ไม่ใช่ใช้แต่อารมณ์นะครับ
ทำให้พ่อแม่เชื่อในตัวเรา ด้วยการทำให้ท่านเห็นว่า เราทำได้ เราสร้างความมั่นคงได้ แบบที่บิลลี่ทำ แล้วเมื่อนั้นอะไรๆ จะเปลี่ยนไป (ในทางที่ดี)
อย่าตำหนิคนที่คิดว่าเราจะทำไม่ได้ครับ แต่จงทำให้เขาเข้าใจและเห็นจริง ว่าเราไม่ได้แค่ฝัน แต่เราเกิดมาเพื่อสิ่งนั้น!
Billy Elliot นอกจากจะมีเนื้อเรื่องและสาระที่ให้แรงบันดาลใจแล้ว ที่มาของหนังก็มาจากแรงบันดาลใจเช่นกันครับ เริ่มจากคนเขียนบท Lee Hall ที่มีไอเดียอยากสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับบัลเล่ต์ขึ้นมาซักเรื่อง เขาก็เลยไปค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วเขาก็ได้พบกับ Philip Marsden นักบัลเล่ต์ฝีมือดีแห่ง Royal Ballet
Hall กับ Marsden จึงมีโอกาสได้พูดคุยกันครับ จน Hall ได้ทราบถึงประวัติของ Marsden ว่ากว่าเขาจะมาเป็นนักบัลเล่ต์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเขาเติบโตมาในครอบครัวคนงานเหมืองครับ เลยต้องฟันฝ่าสารพัดขวากหนาม ไหนจะต้องพิสูจน์ตัวเองอีก Hall ก็เลยนำเรื่องของ Marsden มาเป็นเค้าโครงให้กับ Billy Elliot
รู้อย่างนี้แล้ว Billy Elliot คงไม่ใช่แค่เรื่องแต่งในความรู้สึกคุณอีกแล้วสินะครับ
ความดีของหนัง นอกจากยกนิ้วให้นักแสดงแล้ว Hall คนเขียนบทก็นับว่าเก่งไม่แพ้กันครับ เช่นเดียวกับ Stephen Daldry ที่สำแดงฝีมือกำกับได้อย่างเปี่ยมคุณภาพมากครับ (นี่เป็นงานหนังใหญ่เรื่องแรกของเขาด้วยนะครับ)
หนังดีๆ ที่แฝงแรงบันดาลใจและให้แง่คิดนั้นมีอีกมากครับ ซึ่งผมก็จะเอามาแนะนำอีกเรื่อยๆ ตลอดเดือนนี้นะครับ
ผมก็หวังให้ทุกท่าน มีแรงใจและก้าวต่อไป ท่ามกลางความวุ่นวายที่รุมล้อมพวกเราอยู่น่ะนะครับ เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยครับผม
สามดาวครับ
(8/10)