แม้จะถูกหลายคนค่อนขอดว่าผลงานล่าสุดเรื่องนี้ของมาลิคดูจะมีความซ้ำกับสองผลงานหลังของตัวผกก.เองอย่าง The Tree of Life และ To the Wonder ทั้งในแง่ของรูปแบบภาพยนตร์ ภาพถ่ายเน้นแสงธรรมชาติสวยๆ การเคลื่อนกล้องพริ้วไวหรับกับการเคลื่อนไหวของตัวละคร การตัดต่อร้อยเรื่องอย่างหลวมๆ และแก่นสารที่พูดถึงการตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ จุดกำเนิด การเดินทาง และจุดหมายปลายทางสุดท้ายของจิตวิยญาณ
เป็นเรื่องที่น่าย้อนแย้งเพราะในขณะที่ฟอร์มภาพยนตร์ของมาลิคได้รื้อทำลายและสร้างรูปแบบการเล่าเฉพาะของตัวเองขึ้นมา แต่เนื้อสาส์นกลับไปตั้งคำถามถึงประเด็นที่ไม่ได้ร่วมสมัยมากนักอย่างอภิปรัชญา สนทนาเรื่องจุดกำเนิดและความหมายชีวิตมนุษย์ หรือพระเจ้า ในยุคที่สังคมได้ค่อยๆ เบือนหน้าต่อคำถามเหล่านั้นเข้าสู่ปรัชญาวัฒนธรรรมที่พูดถึงสังคมการเมืองและวิถีวัฒนธรรมที่สัมผัสจับต้องได้มากขึ้น สิ่งที่มาลิคทำคือการแต่งองค์ทรงเครื่องในเนื้อสาส์นเก่าแก่อย่างพระเจ้ากลับมาโลดแล่นเฉิดฉายบนจอภาพยนตร์ยุคปัจจุบันอีกครั้ง มันอาจจะเวิร์คมากๆ อย่างใน The Tree of Life และค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อมาลิคยังเน้นรูปแบบการเล่าแบบเดิมและวนเวียนอยู่กับเนื้อหาเดิมๆ มาจนถึงเรื่องนี้
แต่หากมองข้ามความซ้ำซากและถอยห่างออกมามองภาพรวม เราจะเห็นการเดินทางของเนื้อหาที่ความเปลี่ยนแปลงไปคลับคล้ายคลับคลาว่าภาพยนตร์สามเรื่องหลังเสมือนบนบันทึกของชีวิตมาลิคเองในวัยที่ตกตะกอนแล้วจากการพูดถึงชีวิต ความรัก ที่เน้นเรื่องภายในสายสัมพันธ์ครอบครัว คนรักที่สะท้อนภาพชีวิตส่วนตัวของมาลิคเอง มาจนถึงการตั้งคำถามถึงสิ่งที่นามธรรมสากลกว่าอย่างความสุข การเดินทาง การแสวงหาที่ดูจะไม่มีวันสิ้นสุด ตราบเท่าที่ชีวิตมนุษย์คือการดิ้นรนเดินทางไปอย่างหลงจุดหมาย ทั้งภายนอกและภายในจิตใจ