ถ้าใครยังไม่เข็ดกับความพยายามผลักดันและกลับมาเปิดตลาดหนังสัตว์ประหลาดแบบไทย ๆ ก็ขอเรียนเชิญมากองรวมกันเอาไว้ตรงนี้ เพราะนี่คืออีกหนึ่งความหวังของวงการไทจู กับหนังที่ใคร ๆ ก็เฝ้ารอคอย เพราะใช้เวลาสร้างมายาวนานถึง 5 ปี กับ “The Lake บึงกาฬ” ที่โฆษณาเอาไว้ว่าใช้ทุนสร้างถึง 88 ล้านบาท นับว่าเป็นอีกโปรเจกต์ใหญ่อีกเรื่องของวงการหนังไทย เพียงแต่ว่า..ผลลัพธ์โดยรวมที่ออกมานั้น หนังเรื่องนี้จะปังหรือพังกันแน่…ไปพิสูจน์กันสิ
The Lake บึงกาฬ เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชาวบ้านที่ชื่อ เมย์ พบไข่ยักษ์ปริศนาและได้เก็บกลับมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็น “หายนะ” ตัดขาดผู้คนจากโลกภายนอก เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่บังเอิญเข้ามาทำการวิจัยในไทย จึงต้องระดมกำลังทุกอย่างที่มี เพื่อจับสัตว์ประหลาด “ไทจู” คลั่งตัวนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ผลงานหนังเรื่องล่าสุดของนักสร้างหนังรุ่นใหม่ที่กำลังคร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังไทยตอนนี้ อย่าง “ลี ทองคำ” ที่มาในเรื่องนี้เขาทุ่มเทให้กับแทบจะทุกองค์ประกอบของหนัง นับตั้งแต่การจุดประกายหาไอเดียสร้างสรรค์ปลุกปั้นเรื่องนี้ขึ้นมากับมือ นั่งเก้าอี้ผู้กำกับดูแลงานสร้าง เขียนบทเอง ซ้ำยังรับหน้าที่ตัดต่อหนังเองทั้งหมดด้วย บนพื้นฐานความแพสชั่นส่วนตัวของเขา มีอยากจะแต่งเติมจินตนาการวัยเด็กกับฉากหลังเป็นพื้นที่บ้านเกิดของเขา
แม้ว่าเราจะสัมผัสได้ถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจที่แน่วแน่มาก ๆ ในความพยายามที่ตัวสร้าง “ไทจู” หรือ หนังสัตว์ประหลาดแบบไทย ๆ ออกมาสักเรื่อง ที่ยอมรับเลยว่าแพสชั่นตรงนี้ในหนังมีอยู่ล้นเปี่ยม เพียงแต่ว่าเมื่อได้ลองนำเอาองค์ประกอบต่าง ๆ มาประกอบรวมร่างเข้าด้วยกันทั้งหมดดูแล้วนั้น มันกลายเป็นปัง…ที่ไม่ให้ปังเพราะประทับใจ แต่เป็นปังที่เกือบจะพังครืน เพราะแทบจะทุกส่วนในหนังเรื่องนี้นั้น ยังไม่สามารถสื่อสารถึงคนดูได้ และสารของหนังยังค่อนข้างอ่อน..ถึงอ่อนมาก
เริ่มต้นที่บทหนังของ The Lake บึงกาฬ ที่แทบจะหาแก่นสารใด ๆ ไม่ได้เลย หนังไม่ได้มีการเกริ่นกล่าวนำเรื่องราวใด ๆ มาก่อนทั้งสิ้น แบบว่ามาถึงก็จับโยนสัตว์ประหลาดและฟาดฟันบุกเมืองแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยทั้งนั้น แม้ว่าในฐานะคนดูก็พยายามที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้สร้างอยากจะสื่อสารแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่า..เอ๊ะ สรุปก็ไม่ได้ไปทางนั้น แล้วก็ไม่ได้ไปทางนี้ กลายเป็นบทหนังที่แกว่งเคว้งไปมา เหมือนไม่รู้จะไปทางไหน แม้กระทั่งช่วงท้ายในตอนบทสรุปก็เกือบจะหาทิศทางไม่เจอว่าจะไปจบลงตรงไหนดี
ในเมื่อบทหนังออกมาแบบนี้ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปเป็นลูกโซ่เกือบจะทั้งหมด บทที่ดีไม่ดีก็ไม่สามารถส่งตัวละครให้โดดเด่นขึ้นได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก ๆ เพราะว่า The Lake บึงกาฬ แทบจะไม่ได้เห็นบทบาทการแสดงที่น่าจดจำใด ๆ เลยสักซีนเดียว ทั้งที่ได้นักแสดงระดับยอดฝีมือมาเรียงแถวกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “ตุ้ย ธีรภัทร์”, “ออม สุชาร์” หรือ “ปู วิทยา” ที่ทั้งหมดถูกนำมาวางแบบไร้ตำแหน่ง แทบจะหาความเป็นตัวละครยืนนำ (Protagonist) ไม่ได้ ทั้งที่ทุกคนมอบการแสดงมาอย่างเต็มที่ก็ตาม
และอีกส่วนที่กลายเป็นจุดที่ฉุดรั้งให้ภาพรวมของ The Lake บึงกาฬ สะพรึงพรั่งพรูดิ่งหนักยิ่งเข้าไปอีก ก็คืองานตัดต่อ (Editing) และการลำดับการเล่าเรื่องราว (Segment) ที่ผู้สร้างรับหน้าที่นี้อีกเช่นเดียวกัน กลายเป็นการว่าหนังมีแค่เพียงประมาณ 15 นาทีแรก ที่เปิดฉากขึ้นมาและพอจะสร้างอรรถรสน่าสนใจขึ้นได้ แต่เมื่อมาถึงฉากสั่งน้ำที่ใคร ๆ ต้องจดจำเมื่อได้ดูนั่้งเรื่องนี้ นั่นคือสัญญาณของความสะพรึงเริ่มต้นขึ้นแล้ว
การตัดต่อหนังเรื่องนี้แทบจะยังไม่ราบเรียบและไม่คล้องจ้องกับเนื้อเท่าที่ควร หรือหากจะให้พูดแบบตรงไปตรงมาจริง ๆ จุดนี้คือหายนะของหนังหายนะเรื่องนี้จริง ๆ หนังต้องพังพินาศลงเพราะการลำดับเรื่องที่โดดไปมาบ่อยครั้ง ซ้ำรายกับมุมกล้องที่พยายามเร้าอารมณ์แต่กลับทำให้ปวดหัว อีกทั้งยังมีฉากซีนที่ไม่ต่อเนื่อง ตัดฉับไปมาขัดอารมณ์ผู้ชมบ่อยครั้ง แทนที่หนังจะดึงอารมณ์ขึงขังให้อยู่กับคนดู กลายเป็นความขบขันมาแทนที่ เพราะงานตัดต่อที่บางจุดไม่น่าจะปล่อยผ่านมาแบบนี้ได้
โดยเฉพาะในหนัง The Lake บึงกาฬ ที่บรรยากาศแวดล้อม (Environment) ส่วนใหญ่ในเรื่องนั้น จะต้องมีฉากฝนตกอยู่เกือบจะครึ่งเรื่อง เพราะสถานการณ์พายุเข้าในพื้นที่ แต่น่าขันที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วเวลาเดียวกัน แต่สลับกันไปมาแต่ละพื้นที่ ภาพตรงนั้นฝนกำลังตกหนัก แต่ตัดภาพมาตรงนี้กลับไม่มีฝน ทั้งที่โลเคชั่นตามท้องเรื่องนั้น ท้องที่ที่เกิดเหตุก็ไม่ได้กว้างขวางอะไรถึงขนาดนี้สภาพอากาศจะแตกต่างกันได้เช่นนี้ ถึงจะเป็นเพียงจุดเล็กน้อยในหนัง แต่กลายเป็นสิ่งที่ขัดอารมรณ์ไปอย่างน่าเสียดายไม่น้อย
แต่กระนั้นก็ใช่ว่า The Lake บึงกาฬ จะเป็นหนังที่ย่ำแย่สาหัสขนาดนั้น เพราะอย่างน้อย ๆ ตัวหนังก็ยังมีข้อดีอยู่เหมือนกัน และน่าจะเป็นจุดเด่นและจุดดีอย่างเดียวที่เห็นในหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือเทคนิคงานสร้างที่ทำออกมาได้ดี และเป็นงานสร้างที่ช่วยยกระดับงานโปรดักชั่นวงการหนังไทยเลยก็ว่าได้ ต้องปรบมือให้ดัง ๆ กับงานสร้างในรูปแบบ Animatronic ผสมผสานกับซีจีเทคนิคพิเศษที่ช่วยค้ำจุนกันได้ดี องค์ประกอบนี้ช่วยเชิดหน้าชูหน้าให้กับหนังเรื่องนี้ได้ดีเด่น
งานสร้างตัวสัตว์ประหลาดเรื่องนี้ค่อนข้างออกมาดี และแปลกใหม่ในวงการหนังไม่นาน เพราะส่วนใหญ่ในสมัยนี้ใคร ๆ ก็จะดีไซน์งานในรูปแบบแอนิเมชั่นกราฟิกกันเป็นหลัก แต่เรื่องนี้ใชหุ่นจำลองเข้ามาผสมผสานด้วย ที่เห็นได้ชัดว่าผู้สร้างมีแรงบันดาลใจและเป็นแฟนหนังสัตว์ประหลาดดัง ๆ ของฮอลลิวูด อย่างน้อย ๆ ก็จะต้องเป็นแฟรนไชส์ Jurassic อย่างแน่นอน เพราะนี่คือเทคนิคแบบเดียวกับที่หนังฮอลลิวูดเรื่องดังกล่าวก็หยิบมาใช้ และเรื่องนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จกับการดีไซน์ไทจูในครั้งนี้อย่างน่าพอใจ
เอาเป็นว่าโดยภาพรวมนั้น The Lake บึงกาฬ ถือว่าเป็นหนังที่เข้ามาช่วยยกระดับวงการหนังไทยในแง่เทคนิคงานสร้างที่แปลกตาและแปลกใหม่แบบที่ไม่ค่อยเห็นใครเคยทำเช่นนี้มาก่อน แต่หนังก็ยังสอบตกในพาร์ทอื่น ๆ ทั้งบทหนัง การเล่าเรื่อง และการลำดับตัดต่อที่ทำให้หนังเข้าขั้นเกือบจะหายนะเลยทีเดียว ถึงจะน่าเสียดายที่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น คงจะต้องบอกว่า…ยังไม่ได้บรรทัดฐานในแบบที่คาดหวังเอาไว้ แต่เราก็เป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับผู้สร้าง เพราะอย่างน้อย ๆ เห็นถึงเจตนาและความพยายาม และยอมรับเลยว่าเทคนิคงานสร้างของพวกเขาในเรื่องนี้…ก็เจ๋งอยู่
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง The Lake บึงกาฬ
- ประเภท: แอคชั่น / ระทึกขวัญ
- ผู้กำกับ: ลี ทองคำ
- นำแสดงโดย: ธีรภัทร์ สัจจกุล, สุชาร์ มานะยิ่ง, วิทยา ปานศรีงาม
- ความยาว: 105 นาที
- กำหนดฉายในไทย: 18 สิงหาคม 2022 (ในโรงภาพยนตร์)
Movie.TrueID METRIC: The Lake บึงกาฬ
- ภาพรวม
⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰✰ (5/10) - การเล่าเรื่อง
⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰✰✰ (4/10) - การแสดง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰✰ (6/10) - เทคนิคงานสร้าง
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐✰✰✰ (7/10) - บทภาพยนตร์
⭐⭐⭐✰✰✰✰✰✰✰ (3/10)