ฆาตกรรมวายป่วงฉบับ พี่น้องโคเอน โดย จอร์จ คลูนี่ย์
ต้องบอกไว้ก่อนว่างานกำกับของนักแสดงหนุ่มหล่ออย่าง จอร์จ คลูนี่ย์ ที่ผ่านมาค่อนข้างห่างไกลจากหนังเอาใจตลาดอย่างสิ้นเชิงทั้งงานประเดิมกำกับอย่าง Confession of a dangerous mind (2002) ที่เล่าถึงพิธีกรที่มีเบื้องหลังเป็น CIA หรือ The ides of March (2011) ที่พูดถึงความสกปรกของวงการการเมืองอเมริกา ซึ่งจุดร่วมในงานหนังที่เขากำกับส่วนใหญ่คือการวิพากษ์การเมืองและสังคมอเมริกัน มาคราวนี้คลูนีย์ เลือกใช้บริการพี่น้องมือเขียนบทหนังตลกร้ายอย่าง โจเอล และ อีธาน โคเอนมาบอกเล่าเรื่องราวฆาตกรรมในยุค 50 ที่มีหมู่บ้านชนชั้นกลางผิวขาวอย่าง ซับเบอร์บิคอน เป็นภาพแทนสหรัฐอเมริกาเพื่อพูดถึงการแบ่งแยกสีผิวที่ฝังรากลึกมานาน กอปรกับการแฝงประเด็นความละโมบ บาปสำคัญในพระคัมภีร์เพื่อวิพากษ์ทุนนิยมในจุดพลิกผันของเรื่อง
ซึ่งพี่น้องโคเอนก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะรายทางของหนังก็เต็มไปด้วยสิ่งที่คนดูคุ้นตาทั้งตัวละครมนุษย์ที่พ่ายแพ้ต่อความชั่วร้ายและการหลอกลวงหักหลังไปจนถึงฉากที่เป็นสัญญะอย่างคาวบอยเด็กน้อยนั่งบนม้าที่เป็นเครื่องเล่นหยอดเหรียญเป็นภาพแทนของความฝันแบบอเมริกันที่ดูไร้เดียงสาไปเลยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในโลกความจริงโดยเฉพาะในเมืองซับเบอร์บิคอนที่ชาวผิวขาวใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนเพื่อขับไล่ครอบครัวเมเยอร์ แม้แต่การกล่าวหาอย่างไร้เหตุผลว่าที่โรสต้องตายก็เพราะความชั่วร้ายที่ครอบครัวคนผิวดำนี้นำมาแพร่เชื้อให้ชุมชน ซึ่งนับว่าบทหนังสามารถผสานโยงใยพลอตฆาตกรรมอำพรางแบบหนังฟิล์มนัวร์สไตล์พี่น้องโคเอนเข้ากับการวิพากษ์การเมืองที่จอร์จ คลูนีย์สนใจได้อย่างกลมกลืน