The Pianist (2002) สงคราม ความหวัง บัลลังก์เกียรติยศ

Untitled04481

อีกหนึ่งหนังที่นำเอาความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถ่ายทอดแบบตรงไปตรงมา… ดูแล้วชวนให้สลดและหดหู่ใจอย่างยิ่งทีเดียวครับ

หนังสร้างจากหนังสือของ วลาดิสลอว์ สปิลมันน์ (Wladyslaw Szpilman) นักเปียโนชาวยิวที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาได้ และหนังกำกับโดย Roman Polanski ที่ตัวเขาเองก็ผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาเหมือนกันครับ เขาต้องสูญเสียเสียแม่จากการสังหารโหดที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์

ตัวหนังเล่าตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่พวกนาซีเข้ามายึดเมืองที่ครอบครัวสปิลมันน์อาศัยอยู่ แล้วก็เริ่มออกคำสั่งจำกัดอิสรภาพชาวยิวทีละน้อย จนในที่สุดก็ถึงขั้นจับชาวยิวมาฆ่าเหมือนผักปลา ซึ่งบอกตรงๆ เลยครับว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วอดเครียดไม่ได้ เพราะเราจะได้เห็นความโหดร้ายสารพัดรูปแบบที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง คนมากมายต้องมาตายเพียงเพราะพวกเขาเป็นชาวยิว ทั้งโดนยิง โดนโยนจากตึก… สารภาพเลยครับว่าแค่ผมพิมพ์อยู่ตอนนี้ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกสลดใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พูดได้เต็มปากว่าหนังทำออกมาได้ดีครับ หนังเล่าได้อย่างน่าติดตาม แม้ความยาวจะมากถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ก็ไม่รู้สึกว่าหนังยืดหรืออะไรเลยครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะภาพความโหดร้ายอย่างที่ผมได้บอกไป คือระหว่างดูนี่มันไม่ได้อยากเห็นเลยนะครับ ภาพคนต้องมาตายไปทีละคนๆ แบบนี้ คือใจมันอยากให้มีใครก็ได้ไปช่วยเหลือพวกเขาให้รอดพ้น หรือไม่ก็อยากให้พวกเขาหนีรอดไปจากเรื่องนี้ได้ แต่จากภาพที่เห็น (และจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว) ชาวยิวโดนสังหารไปมากมายครับ มีคนตายทุกวัน… ทุกชั่วโมงเลยด้วยซ้ำ

นี่อาจเป็นหนังชีวิตนะครับ แต่สำหรับผมแล้วมันเหมือนหนังสยองขวัญ การที่มนุษย์สามารถฆ่ามนุษย์ด้วยกันโดยที่ไม่รู้สึกผิดมันคือสิ่งที่น่ากลัวจนเกินบรรยาย มันแสดงให้เห็นน่ะครับว่าคนที่ลงมือฆ่านั้นเชื่ออย่างแรงกล้าว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูก เขากำลังทำในสิ่งที่ควรทำ… พวกเขาน่ากลัวไม่ต่างจากฆาตกรโหดที่เราเห็นในหนังสยองไล่เชือดเลย… จริงๆ อาจจะน่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ

ครับ แต่แม้ผมจะดูไปแล้วสลดไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังเล่าเรื่องได้ดีจริงๆ รวมถึงฉากต่างๆ เครื่องแต่งกายต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นภาพประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจนราวกับมันมาเกิดขึ้นตรงหน้า และแน่นอนครับว่าพลังสำคัญอีกหนึ่งประการคือการแสดงดีๆ ของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Adrien Brody ที่รับบท วลาดิสลอว์ได้อย่างน่าปรบมือ ไม่แปลกใจเลยครับที่ปีนั้นเขาจะได้ออสการ์ไปครอง เพราะเขาทั้งเล่นดีและทุ่มเทในการแสดง (ยอมลดน้ำหนักให้ตัวเองซูบผอมและโทรมแบบสุดๆ) ยิ่งการแสดงออกทางสีหน้านี่ไว้ใจเขาได้เลยครับ รายนี้ทำได้ดีเสมอมา โดยเฉพาะบทเศร้าๆ เพราะว่าตามจริงเค้าหน้าของเขานั้นออกแนวเศร้าอยู่แล้ว

Untitled04482

หลายคนอาจอดไม่ได้ที่จะนำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับ Schindler’s List ซึ่งในมุมมองของผมนั้น หนังมีดีกันไปคนแบบครับ (แม้จะเล่าถึงเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนกันก็เถอะ) ใน SL นั้นหนังจะออกมาในแนวสารคดี ดูสมจริง ในขณะที่ The Pianist จะมีความเป็นภาพยนตร์มากกว่า โดยส่วนตัวแล้วผมยกให้เป็นหนังดีที่ควรค่าแก่การดูทั้ง 2 เรื่องครับ แต่หากถามว่าชอบเรื่องไหนมากกว่า ก็ขอตอบว่ายังชอบ SL มากกว่าเล็กน้อยครับ

ผมอยากให้คนได้ดูหนังเรื่องนี้กันมากๆ ครับ ไม่ใช่เพราะอยากให้มาสลดหดหู่ร่วมกัน แต่อยากให้เราทุกคนได้ย้อนมองไปยังประวัติศาสตร์ ว่ามนุษยชาติเคยทำร้ายกันและกันได้มากขนาดไหน มันคือช่วงเวลาที่น่าขนพองสยองเหล้าที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก และเราควรจดจำเรื่องราวนี้ไว้เพื่อเตือนใจ เพื่อให้เราระมัดระวังไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ที่สยดสยองต้องมาเกิดซ้ำรอย

จริงๆ การฆ่ากันเพราะความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ต่างทางความคิด ต่างทางความเชื่อ หรือต่างกันที่จุดยืนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาครับ อย่างในนาทีนี้ก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอยู่ที่ใดที่หนึ่งในโลก เพียงแต่ขนาดมันอาจไม่ได้ใหญ่เท่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่ไม่ว่ามันจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าจะให้ดีก็ไม่ควรให้มันต้องเกิดทั้งนั้น

เอาเข้าจริงแล้วการหันหน้าเข้าหากันมันอาจยุ่งยากกว่าการแบ่งเขาแบ่งเรา แต่หากเราฉลาดพอเราก็ควรมองการณ์ให้ไกล จริงที่การหันหน้าเข้าหากัน การปรับความคิดเข้าหากันมันอาจต้องใช้เวลาและความพยายามที่มากโข แต่หากทำได้มันก็จะก่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ในขณะที่การแบ่งเขาแบ่งเราแล้วเข้าตีนั้นมันอาจง่าย ไว สะใจ และเห็นผลเร็ว แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะ/เอาชนะคะคาน (หรือหนักกว่านั้นก็คือสงคราม)

ประวัติศาสตร์สอนเรามาหลายหนแล้วครับสำหรับเรื่องแบบนี้ หากเรายังปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกก็เท่ากับว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นในอดีตจะกลายเป็นความเสียเปล่าไป เท่ากับเราไม่ได้ก้าวไปไหนไกลเลยจากรอยเลือดเมื่อวันวาน

Untitled04483

แม้ในหนังจะเต็มไปด้วยภาพความโหดร้ายของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันหนังก็ยังแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางคนที่โหดร้ายต่อกัน ก็ยังมีคนที่ปรารถนาดีต่อกันอยู่ด้วย ซึ่งคนกลุ่มหลังนี่แหละครับที่เป็นความหวังที่ช่วยให้คนมากมายรอดตายมาได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น อย่างตัววลาดิสลอว์เองก็มีชีวิตผ่านมาได้เพราะการช่วยเหลือของนายทหารเยอรมันคนหนึ่งที่ไม่อยากเห็นเพื่อนมนุษย์ต้องมาตายไป

จริงครับที่โลกนี้มีทั้งคนที่ปรารถนาดีต่อกันและคนที่พร้อมจะโหดร้ายต่อกัน ดังนั้นทางออกง่ายๆ (หรืออาจจะฟังดูโง่ๆ) คือเราต้องเพาะคนให้เป็นคนที่ปรารถนาดีต่อกันมากกว่าจะปล่อยให้คนประเภทที่พร้อมจะโหดร้ายมีจำนวนประชากรเพิ่ม

การสอนให้คนทำสิ่งดีคือวิธีพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มคนที่มีจิตสำนึกที่ดีให้กับโลก… แต่ผมรู้ครับว่าโลกทุกวันนี้ก็มีอะไรแปลกๆ อย่างการตั้งคำถามว่า “แล้วดีคืออะไร ไม่ดีคืออะไร” ถามเหมือนหาความหมายเชิงปรัชญาซึ่งจริงๆ ก็เป็นคำถามที่ดีครับ เราสามารถใคร่ครวญไตร่ตรองเกี่ยวกับมิติของคำเหล่านี้ได้ ทำให้เรามองความจริงของโลกจากหลากหลายมุม

แต่ที่น่าหนักใจคือคนที่ถามเพื่อที่จะเปิดช่อง เปิดโอกาสให้ตนสามารถทำสิ่งไม่ดีได้อย่างใจ หรือใช้เป็นคำแก้ตัวในการกระทำของตัวเอง อันนี้สิที่น่ากลัว

“ดี-ไม่ดี” เชิงปริชญาก็เรื่องหนึ่งครับ จะถกกันยังไงก็เอาเลยตามสบาย แต่ “ดี-ไม่ดี” ที่มันเป็นแนวทางการปฏิบัติตัวขั้นพื้นฐานน่ะ ยังไงก็ควรปฏิบัติตามเพื่อความสุขสงบมวลรวมของสังคม เพราะหากคนเราตีความคำว่า “ดี-ไม่ดี” “ถูก-ผิด” ตามอำเภอใจ โลกนี้คงวุ่นวายตายพอดี

จริงๆ ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่าหลายๆ ความวุ่นวายในโลกทุกวันนี้ มีต้นเหตุมาจากการพยายามตีความคำว่า “ดี-ไม่ดี” ในแบบที่บิดเบือนหรือทำให้นิยามมันเข้ากับวิถีที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเอง – คนอย่างฮิตเลอร์ก็เป็นแบบนั้นครับ เขาสร้างกระแสความเชื่อ สร้างกระแสแห่งนิยามแบบที่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำตามแผนและแนวทางที่เขาต้องการ พูดง่ายๆ คืออะไรที่พูดแล้วทำให้การกระทำของเขาถูกต้อง เขาก็พร้อมจะย้ำวาทกรรมนั้นซ้ำๆ จนมันกลายเป็นชุดความคิดที่แทรกซึมเข้าไปในหัวสมองของเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชา – ความน่ากลัวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนหนึ่งก็เริ่มจากสิ่งนี้นี่แหละ

Untitled04484

สรุปว่านี่เป็นหนังที่บอกเล่าเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำได้ดีมากๆ อีกเรื่องหนึ่งครับ แต่บอกไว้ก่อนเลยว่าหนังค่อนข้างเครียด ดังนั้นก่อนดูก็ต้องตรวจสอบตัวเองก่อนนะครับว่าพร้อมจะดูหนังเครียดหรือไม่ หากยังไม่พร้อมก็รอให้พร้อมก่อนครับ จะได้ไม่รู้สึกหนักไปกับหนัง

สำหรับความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ นอกจากจะได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมแล้ว ก็ยังได้อีก 2 รางวัลครับ ได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม (แต่ Polanski ไม่สามารถมารับรางวัลได้เพราะมีคดีล่วงละเมิดทางเพศอยู่บนแผ่นดินอเมริกันครับ) กับบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมครับ

เกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือ ระหว่างที่หนังถ่ายทำอยู่ในเมืองกรากุฟ Polanski มีโอกาสได้พบกับคนที่เคยช่วยเหลือครอบครัวของเขาให้สามารถรอดตายจากช่วงสงครามมาได้ครับ

สามดาวครึ่งครับ

Star32

(8.5/10)