T2 Trainspotting (2017) แก๊งเมาแหลก พันธุ์แหกกฎ 2

20258132_1708241959206598_7870571836300795067_n

Trainspotting ภาคแรกถือเป็นหนังแสบระดับตำนานที่แจ้งเกิดให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะผู้กำกับ Danny Boyle หรือดารานำอย่าง Ewan McGregor และ Robert Carlyle และทำให้คอหนังสมัยนั้นสะใจกับเรื่องราวหลุดโลกของมัน

แก่นสารสำคัญอย่างหนึ่งในภาคแรกคือ “ความไร้แก่นสาระของเหล่าตัวละคร” ครับ พวกเขาเสพยา มั่วเซ็กซ์ ใช้ชีวิตไปวันๆ แบบเอาเฮเอาฮา ซึ่งก็สะท้อนชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ก็ต้องดูแบบใช้วิจารณญาณพอสมควรในการกลั่นกรอง “สาระสอนชีวิต” ออกมาจากมัน

สำหรับภาค 2 นี่ก็เล่าถึง 20 ปีจากภาคแรก หลังจาก เรนตัน (Ewan McGregor) หันหลังให้กับเพื่อนๆ แล้วไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ มาบัดนี้เขาก็กลับมาหาแก๊งเก่า ไม่ว่าจะ สปั๊ด (Ewen Bremner), ไซม่อน (Jonny Lee Miller) ที่แต่ละคนก็ตอบสนองการกลับมาของเรนตันต่างกันไป

และแน่นอนว่าเขาต้องเจอกับเบ็กบี้ (Carlyle) แบบไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งรายหลังนี่แค้นฝังหุ่นกับสิ่งที่เรนตันทำมากๆ ครับ ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็ชมต่อในหนังครับ

ภาคแรกคือหนังสุดขั้วที่ทำออกมาแบบสาใจ เชื่อว่าต้องมีทั้งคนชอบและเกลียดหนังเรื่องนี้ ส่วนผมออกแนวชอบครับ มันเจ๋ง มันเก๋า มันกวนดี พอมาภาคนี้ผมก็ปรับใจไว้ตั้งแต่ต้นว่ามันคงไม่บ้ากันเหมือนภาคแรกหรอก เพราะแต่ละคนก็โตๆ กันแล้วทั้งนั้น

แล้วมันก็เป็นดังคาดครับ แม้ตัวละครทั้งหลายจะมีเค้าของ “ลูกบ้า” แบบภาคแรกอยู่ แต่ทุกคนก็แก่ตัวขึ้น ผ่านชีวิตมามากขึ้น บางคนก็เริ่มตกผลึกกับชีวิต บางคนก็เริ่มเห็นทางสว่าง แต่บางคนก็ยังยึดติดกับอะไรเดิมๆ อยู่

ผมชอบที่ทั้ง 4 คาแรคเตอร์หลักมีพัฒนาการแบบ “เป็นไปได้” คือดูแล้วเชื่อว่าพวกเขาคือคนเดิมจากภาคแรกนั่นแหละ เพียงแต่อะไรๆ ในชีวิตมันหล่อหลอมพวกเขามากขึ้นจนเปลี่ยนไปบ้าง แต่ทุกคนก็ยังคงความเป็นตัวเองอยู่เสมอ

ก็ต้องบอกไว้ก่อนครับว่าใครคาดหวังความบ้าคลั่งก็ต้องปรับใจไว้ก่อน เพราะเรื่องราวมันตั้ง 20 ปีล่วงมาแล้ว แม้จะบ้าแค่ไหน แต่ประสบการณ์ชีวิตบางอย่างมันก็สอนพวกเขา และมันก็ทำหน้าที่ชะลอพวกเขาให้ “รู้จักคิด” มากขึ้น (คิดได้หรือคิดไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง)

ดาราทุกคนเล่นได้ดีครับ ถอดวิญญาณตัวละครภาคแรกมาองค์ลงในภาคนี้ได้อย่างดี เบ็กบี้ยังบ้าอยู่, สปั๊ดก็ยังหงออยู่ ในขณะที่ เรนตันกับไซม่อนจะดูลุ่มลึกขึ้น สำหรับผมดุแค่ 4 คนนี้มาร่วมจอกันก็คุ้มแล้วครับ มันเหมือนได้เจอเพื่อนกลุ่มเดิมที่โคตรบ้ากลับมาบอกเล่าให้เราฟังว่าชีวิตเขาเป็นยังไงกันบ้างแล้ว

ถ้าพูดถึงความลงตัวหรือ “ความสุด” ของภาคนี้ก็อาจสู้ภาคแรกไม่ได้ครับ แต่ผมว่าก็ไม่ผิดหวังนะ หนังสานต่อเรื่องราวได้อย่างดี ถือเป็นภาคต่อที่ทำได้ดีเลยล่ะครับ และสำหรับผมแล้ว ผมชอบบทสรุปของแต่ละคนนะ ทุกคนล้วนได้อยู่ในจุดที่เหมาะควร และแต่ละคนก็ได้ “ค้นพบตัวเอง” แต่จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่กรรมของแต่ละคน

Boyle ทำได้อีกครั้งครับ จริงๆ ผมว่าแค่ทำภาคต่อให้ออกมาในระดับนี้ได้นี่ก็เก่งแล้วนะ เพราะมันไม่ได้ต่อแค่เรื่องราว แต่มันต่อถึงอารมณ์ ต่อถึงพัฒนาการ มันเป็นเนื้อเดียวกับภาคแรก แม้หลายๆ อย่างจะดูเปลี่ยนไปก็ตาม แต่มันสามารถรับไม้ต่อจากภาคแรกได้อย่างพอดีทีเดียว

ผมอยากให้แฟนๆ ภาคแรกตามมาดูภาคนี้ครับ แล้วลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดู สำหรับผมแล้วผมชอบครับ ส่วนใครไม่เคยดูมาก่อนก็แนะนำให้หาภาคแรกมาดูแล้วค่อยต่อด้วยภาค 2 ครับ ท่านจะได้อรรถรสครบถ้วน และท่านอาจเจอหนังในดวงใจเพิ่มอีกเรื่อง (หรือไม่ก็เกลียดจนไม่อยากดูภาค 2 เลยก็ได้ 5555)

++++++++++++++++++
++++++++++++++++++
ขอสปอยล์นิดหน่อยนะครับ
++++++++++++++++++
++++++++++++++++++

โดยส่วนตัวผมมองว่านี่คือหนังที่มีสาระมากๆ เรื่องหนึ่งนะ มันต่อยอดสาระจากภาคแรกได้ดี ซึ่งสาระอันหนึ่งจากภาคแรกก็คือ การสะท้อนให้เราเห็นว่า คนที่ใช้ชีวิตแบบไม่จริงจัง ไม่เป็นโล้เป็นพาย เหลวไหลไปวันๆ นั้น มันจะได้รับผลเป็นเช่นไร

เราอาจไม่ต้องถึงกับใช้ชีวิตจริงจัง ใส่สูทผูกไทไปทำงานเพียงอย่างเดียวครับ แต่ขอแค่เราตระหนักว่าองค์ประกอบการจะดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น เราก็ต้องมีความมั่นคงทางกาย (แข็งแรง ไร้โรค) มีความมั่นคงทางใจ (ทำสิ่งที่ชอบ รู้จักพักผ่อน ทำอะไรที่ดีต่อใจ) และปฏิเสธไม่ได้คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (มีเงินประทังชีวิต)

อย่างพวกเรนตันที่เสพยา จะว่าไปพวกเขาก็คงสุขทางใจน่ะครับ เสพแล้วลอย ฉีดแล้วโล่ง แต่สุขภาพทรุด เงินก็ร่อยหรอ ไม่ก็ต้องไปปล้นเขามา หรืออย่างไซม่อนก็ถึงขั้นต้องเสียลูกไปทั้งคน (ฉากที่แฟนไซม่อนขอเสพยาต่อหลังลูกตายเป็นอะไรที่สะท้อนอาการแหลกสลายทางใจได้อย่างน่าคิด)

เมื่อถึงจุดหนึ่งเรนตันก็ตัดสินใจจะเริ่มใหม่ เชิดเงินหนีมา เขาคิดว่าเงินจะเป็นจุดเริ่มของชีวิตที่ดีได้ แต่เอาเข้าจริงแม้จะมีเงิน แต่ประสบการณ์ชีวิตเขายังไม่มากพอ สุดท้ายชีวิตก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม จนต้องกลับมาพาผองเพื่อนกลุ่มเดิม เพื่อคลายความค้างคาบางอย่างลง

หนังภาคแรกชี้ชวนให้เราไตร่ตรองว่าตอนนี้เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่อย่างไร เราใช้เวลาปัจจุบันไปแบบไม่ห่วงใยอนาคตหรือไม่ เราเอาแต่เสพสุขโดยไม่คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมาหรือไม่… บางทีแม้พวกเราจะไม่ได้เสพยาแบบพวกเรนตัน แต่เราก็อาจมี “ความประมาทในชีวิต” ไม่น้อยไปกว่าพวกเขา

แล้วภาคนี้หนังก็ต่อยอดเรื่องราว พาเราย้อนไปสถานที่เก่าๆ ในภาคแรก (อย่างห้องของเรนตัน) มันก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ ยอมรับว่าระหว่างดูผมก็แอบโหยหาอะไรเก่าๆ เมื่อ 20 ปีก่อนอยู่เหมือนกัน… หนังมันชวนให้เรานึกถึงวันเก่าๆ น่ะครับ

และถ้าภาคแรกหนังสะท้อนความไร้แก่นสารของชีวิต มาภาคนี้หนังก็บอกเล่าถึงผลที่สืบเนื่องต่อกันมา (ว่าชีวิตทั้ง 4 ตัวละครหลักก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าไร) และประเด็นสำคัญในภาคนี้คือ พวกเขาพยายามตั้งต้นชีวิต (แม้จะดูเป็นการตั้งต้นที่ช้าไปหลายสิบปีก็เถอะ… แต่ก็ยังดี)

ผมชอบบทสรุปของสปั๊ดที่สุดน่ะครับ จริงๆ ผมเห็นใจเขามาตั้งแต่ภาคแรกแล้ว คือผมว่าเขาเป็นคนมีของนะ เพียงแต่ด้วยความอ่อนแอ ความหงอ ความไม่มั่นใจ ไม่กล้า ฯลฯ เลยทำให้ชีวิตติดแหง่ก ไม่มีอนาคตสักที จนมาภาคนี้จริงๆ พี่แกก็หงอเหมือนเดิม ขี้กลัวเหมือนเดิม แต่เขาแค่ “ลองลงมือทำ” เท่านั้น

เขาแค่ลองเขียนอะไรสักอย่างขึ้นมา เริ่มจากกระดาษแผ่นแรก เขียนให้เสร็จแล้วก็ให้คนใกล้ตัวอ่าน แม้จะมีคนพูดในเชิงว่า “แกจะทำไปทำไม” แต่เขาก็ยังทำต่อ แล้วก็มีกระดาษแผ่นต่อมา แผ่นต่อมา แผ่นต่อมา… รู้ตัวอีกทีพี่แกเขียนจะได้เป็นเล่มอยู่แล้ว

มันสะท้อนความจริงง่ายๆ ได้เลยครับว่า “คุณก็แค่ทำน่ะ ทำไปเถอะ” อย่ามัวกลัว อย่ามัววางแผน อย่ามัวรอให้อะไรๆ พร้อมก่อนแล้วค่อยเดินหน้า แบบนั้นมันยากที่จะมีอะไรงอกเงยขึ้นมาได้… คุณไม่มีทางนับถึง 10 ได้ หากเอาแต่นับ 1 ซ้ำอยู่ร่ำไป…

ผมชอบเรื่องของเบ็กบี้ด้วย ตอนแรกพี่แกก็เอาแต่จะบังคับให้ลูกใช้ชีวิตแบบที่เขาเคยใช้มา นั่นคือเป็นอาชญากรรม หาเงินด้วยการใช้กำลังและผิดกฎหมาย แต่พอเขานึกถึงพ่อตัวเองเท่านั้นล่ะครับ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เขาตระหนักเลยว่าชีวิตพ่อของเขากับชีวิตเขาก็ไม่ต่างกัน… มันเฮงซวยพอกัน

ตอนที่เขาบอกลูกว่า “จงมีชีวิตให้ดีกว่าที่พ่อและพ่อของพ่อเคยมี” ผมรู้สึกเลยว่าฉากนั้นสวยงาม และถือเป็นฉากซึ้งกินใจในสไตล์ของ Boyle (กินใจแบบลูกผู้ชายน่ะครับ น้ำตาไหลอยู่ภายในลึกๆ… ผมว่าน้ำตาในใจผมก็ไหลนะ)

ในแง่หนึ่งผมมองว่าหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นหนังที่ “ส่งสาร” จาก “เด็กพังค์รุ่นเก่า” ส่งต่อมาให้เด็กรุ่นใหม่ได้ดู ได้เอาชีวิตของเด็กพังค์รุ่นเก่ามาเป็นตัวอย่างให้ลองเก็บไปคิด ไตร่ตรองดูดีๆ (จะเป็น “แบบอย่าง” หรือ “เยี่ยงอย่าง” ก็แล้วแต่)

สำหรับผมแล้ว ผมชอบ T2 Trainspotting ไม่ใช่ในฐานะหนังตลกร้ายแสบๆ เพียงอย่างเดียว แต่เพราะมันมีคุณค่าสะท้อนสังคมและแง่คิดดีๆ ที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรหันมามองครับ

สองดาวครึ่งบวกๆ ครับ

Star22

(7.5/10)