Maebia – แม่เบี้ย

แม่เบี้ย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล / Thailand / 2015)

ยอมนั่งรอ 2 ชั่วโมงเพื่อจะดูหนัง  พลางหยิบ Starpics เล่มล่าสุดที่มีบทสัมภาษณ์ของหม่อมน้อยขึ้นมาอ่านรอ  ความอยากดูหนังเพิ่มมากขึ้นทวีคูณตั้งแต่อ่านบทสัมภาษณ์ได้เพียงย่อหน้าแรกที่ผู้กำกับบอกเล่าถึงการตีความใหม่ในมุมมองที่ไม่มีใครเคยเอื้อมหยิบมาถ่ายทอดซึ่งน่าสนใจทั้งในเชิงประเด็น  วิธีการใหม่ๆ  และความย้อนแย้งหลายๆ อย่างที่ตามมาในบทสัมภาษณ์ช่วงท้ายๆ  ทำให้ตลอดการดูหนังสนุกมากขึ้น  เมื่อเกิดการเทียบเคียงบทสัมภาษณ์กับหลายๆ ฉาก หลายๆ ตอนที่เป็นผลลัพธ์ปรากฏให้ได้เห็น บนจอหนัง  จากหนังดราม่า  อีโรติก  งูยักษ์สะเทือนขวัญ?!! ก็กลายเป็นหนังที่ดูแล้วอมยิ้มไปทั้งเรื่องได้อย่างร้ายกาจ  เครื่องมือที่เลือกมาเล่าหลายๆ อย่างก็แปลกไปจากหนังเรื่องก่อนๆ ของหม่อมน้อยที่เคยดูมา  กลายเป็นส่วนผสมที่แปลกตาจนทำให้รู้สึกว่า แม่เบี้ย 2015 นี้  มันอินดี้ยิ่งกว่า หนัง ฟรีแลนซ์  ห้ามป่วย…ห้ามพัก…ห้ามรักหมอ  ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เสียอีก  เพราะมีเครื่องมือหลายอย่างในแม่เบี้ยที่รู้สึกว่าหม่อมเพิ่มเติมจากขนบเดิมของหนังตัวเอง  ซึ่งพอมันไม่ค่อยเข้ากันมันก็รู้สึกเหมือนว่าหม่อมทำหนังไปตามอารมณ์และความนึกคิดส่วนตัว  ตั้งแต่การตีความให้งูเป็นงูยักษ์ให้มีทั้งความน่ากลัวและน่ารักแล้วล่ะ  ทั้งที่ก็คงรู้ว่าเงินไม่เอื้อให้ได้งูยักษ์ที่สมจริงไปมากกว่าจะได้ผลตอบรับจากคนดูที่ได้ยินขณะนั่งดูอย่างเสียงดังชัดถ้อยชัดคำว่า “งูเหมือนหมาจัง” พร้อมกับเสียงหัวเราะของผู้ชมอื่นๆ ตามมา  กลิ่นของความอินดี้ไม่สนใครก็เลยแผ่ซ่านมากๆ  แต่น่าเวทนาที่ความพยายามไม่เป็นผลดี  ขณะที่หนังฟรีแลนซ์ฯนั้นนวพลพยายามบาลานซ์เข้าหาคนดูกระแสหลักมากกว่า

ตั้งแต่การใช้ Inter Title บอกซีเควนซ์ไล่เรียงวันเวลา  และการใช้ฟอนต์ที่ดูขัดกับหนังบอกเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ (พอมีอยู่ในหนังของหม่อมน้อยแล้วอาจจะไม่คุ้นชินเอง) ส่วนเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าหนังมันเชื่องช้ามากขึ้นซึ่งในช่วงหนึ่งมันดีในความรู้สึกของเรา  คล้ายกับนับย้อนหลังบอกวันเวลาที่ผ่านไปของชีวิตไม่กี่วันสุดท้ายของชนะชล  และนำพามาถึงฉากบอกเล่าความสำเร็จของพ่อลูกใจบาปบนดาดฟ้าในเวลา 18.00  ถ้าช่วยแถไปอีกคือมันช่วยให้ความรู้สึกว่าเวลามันคืบคลานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเหมือนกับการคืบคลานของงูที่เป็นตัวตัดสินความเป็นความตายของคนบาปทุกคนในหนังเรื่องนี้  แต่พอเวลาผ่านไปมันเหมือนมีมาเพื่อเสริมความไม่มีอะไรของเนื้อหนังให้มีอะไรก็เท่านั้น  การใช้ตากล้องโฆษณา  ถ่ายกล้องแฮนด์เฮลด์ในฉากออฟฟิศเพื่อให้ดูเป็นบรรยากาศสมัยปัจจุบัน(ตามจุดประสงค์ที่อ่านจากบทสัมภาษณ์)  ก็น่าเศร้าที่ผลลัพธ์กลับเหลือแค่ความรู้สึกที่ว่าคนทำหนังไม่ปรานีตกับฉากนี้เพราะมันไม่ได้ดูจะขับเน้นความทันสมัยหรือเพิ่มอารมณ์บรรยากาศอะไรให้ดีงามเลย  จากฉากในออฟฟิศหรูหรากลายเป็นฉากเดินข้ามสะพานลอยได้อย่างน่าทึ่ง  ความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาให้พาตลกคือหม่อมอาจจะเจียดเงินไปทำงูยักษ์จนไม่พอจ้างสเตดี้แคมก็เป็นได้  จุดนี้ทำให้เราต้องหัวเราะออกมาขณะที่เหลือบมองคนดูข้างๆ ที่นั่งขมวดคิ้ว  ความอินดี้ของหม่อมก็มีอยู่ประมาณนี้แล…

ถึงหม่อมน้อยจะดูอินดี้มากขึ้น(ในความหมายคือความพยายามลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคย(ไม่ค่อย)ได้ทำจากขนบของหนังตัวเอง)  แต่ลายเซ็นหลายๆ อย่างก็ยังอยู่อย่างครบถ้วน   แฟนหนังของหม่อมที่โปรดปรานสุนทรียภาพแบบหม่อมๆ คงไม่ผิดหวัง  ทั้งเซ็กส์ซีนหวือหวาท่วงท่าอย่างม้าคึกที่แอบซ่อนรายละเอียดความงามอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้อย่างมิดชิด  ภาพสโลว์โมชั่นเส้นกระตุกซึ่งเกินครึ่งของที่มีอยู่ในหนังนั้นก็ไม่รู้ว่าจะสโลว์ไปทำไม  ภาพแตกๆ ที่พอมาเห็นในเรื่องนี้ซ้ำจากครั้งก่อนอย่างใน แผลเก่า (2014) ก็เริ่มคิดบ้างแล้วว่าบางทีหม่อมอาจจะตั้งใจใช้ก็เป็นได้  แต่เพื่ออะไร?!!  การมีนักแสดงรับเชิญมากหน้าหลายตาเหมือนเดิมจนไม่แน่ใจว่าใครคือ Cameo ตัวจริงที่ตั้งใจมีมาเพื่อขับเน้นพลังในโมเมนต์นั้นๆ ของหนัง  สำหรับเรื่องนี้นักแสดงที่ชวนเซอร์ไพรส์เล็กๆ ก็มีทั้ง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และ นิว-ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต  นักแสดงเด็กปั้นที่ปั้นจนแข็งเป็นซีเมนต์  ซึ่งคนที่เห็นได้ชัดที่สุดในเรื่องนี้คือ ฮัท-จิรวิชญ์ พงไพจิตร หนุ่มจากบ้าน The Star สถาบันในเครือโรงเรียนหม่อมกับบท ภาคภูมิ ตัวละครสมทบที่เป็นตัวสำคัญมากในเรื่อง  ที่พ่วงด้วยตำแหน่งนักร้องเพลงประกอบซึ่งก็ถ่ายทอดได้แข็งทื่อพอกัน  รวมถึง เนตรดาว-ภัทรนันท์ รวมชัย ที่ดูเนียนเป็นหญิงแท้มาตลอดจากเรื่องก่อนๆ ของหม่อมน้อย  จนเราแยกไม่ออกและมารู้ขณะเขียนนี้เองว่าเธอเคยประกวดมิสทิฟฟานี่มาก่อน  โดยเฉพาะในเรื่องนี้ที่เธอรับบทเป็น ไหมแก้ว เมียที่ถูกต้องตามกฎหมายของพระเอก  เป็นหญิงแท้มีลูกมีผัวซึ่งพอยู่เฉยแล้วน่าดูชมไม่เบา  แต่ด้วยวิธีการแสดงที่ดูไม่เป็นธรรมชาติทำให้ไม่รอดพ้นกรอบพยายามปั้นของผู้กำกับ  และ อ้อม-กานต์พิสชา เกตุมณี  ในบทบาท เมขลา พลับพลา นางเอกของเรื่องที่ถึงแม้อดีตรองนางสาวไทยคนนี้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกและเสน่ห์ดึงดูดตามตัวละครอย่างเหมาะเจาะ  แต่ก็เป็นบทบาทที่ต้องอาศัยทักษะการแสดงสูงลิ่วซึ่งยังดีไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดเมขลาให้น่าเชื่อและน่าหลงใหลได้อย่างเป็นธรรมชาติมนุษย์  นอกจากนั้นยังรวมไปถึงนักแสดงสมทบกับบทเล็กๆ ที่ไม่เข้ากับบทบาท  ที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือลูกน้องที่ถูกใช้ให้ไปฆ่างู  ซึ่งหน้าตาหล่อเหลาเกลี้ยงเกลาของหนุ่ม ตั้ม และ อ้น The Star ที่มารองรับบทนี้ได้ลดทอนความน่าเชื่อไปหมดสิ้น  ส่วนรุ่นใหญ่รับเชิญอย่าง  รัดเกล้า อามระดิษ และ เกรียงไกร อุณหนันทน์  ก็ยังไม่รอด  เพราะนอกจากจะเล่นใหญ่แบบรัชดาลัยเสิร์ฟถึงที่แล้ว  วิธีการกำกับการเลือกเล่าด้วยภาพของหม่อมน้อยโดยเฉพาะช็อตตกใจช็อตนั้นยังมากล้นด้วยพลานุภาพชนิดที่สามารถส่งตรงการแสดงอันใหญ่ยิ่งไปไกลถึงดาวพลูโตโดยไม่ต้องส่งผ่านดาวเทียม  สำหรับ แจ๊บ-เพ็ญเพ็ชร เพ็ญกุล ก็ให้การแสดงที่ไม่มากไม่น้อยแต่ก็เรียบนิ่งไปหน่อยจนขาดมิติ  และดูเลวร้ายพอกันเมื่อถูกจับมาโกรกผมขาวแต่งแก่ดึงดันให้เข้ากับบทบาท  ราวกับหลุดมาจากหนังนักศึกษาที่เอาเพื่อนมาเล่นเป็นพ่อแม่ลูกลุงป้าน้าอากันเองโดยไม่ได้ใส่ใจความสมจริงใดๆ ซึ่งน่าให้อาจารย์จับตีก้นเป็นที่สุด

ที่พอเหลือรอดมาได้ก็มีเพียง ชาคริต แย้มนาม พระเอกที่ดูมีเลือดเนื้อธรรมชาติซึ่งบทบาทก็ไม่ได้เอื้อให้ทำอะไรที่หนีไปจากคาแร็กเตอร์ตัวเองนอกเสียไปจากการนิ่งขรึมตลอดเรื่อง  แต่ก็เอาตัวรอดได้ด้วยการแสดงออกทางสายตาที่บ่งบอกอารมณ์  และ แม็กกี้-อาภา ภาวิไล ที่เล่นเป็นแม่นางเอกเมขลาที่มาทั้งในพาร์ตของหญิงลึกลับในฝันพระเอกและผีสาวสวยที่ยังคงวนเวียนอยู่  ถึงบางช็อตบางฉากจะออกอาการประหลาดอยู่บ้าง  แต่แม็กกี้ก็สร้างแรงดึงดูดให้น่ามองน่าชมได้ตลอด  นี่ยังไม่นับกับการลงทุนอวดยอดปทุมถันซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ได้จ้องดูชมกันนะ  การแสดงที่ดีงามที่สุดในหนังตกมาอยู่ที่นักแสดงสมทบกับบทเล็กๆ แต่เปี่ยมความเป็นมนุษย์ปุถุชนได้อย่างน่าจดจำ เน็ต-กานดา วิทยานุภาพยืนยง นักแสดงสาวกับบทเมียผู้แสนดีและเข้าใจโลกของพจน์ (ต๊อบ-ชัยวัฒน์ ทองแสง) ซึ่งเธอปรากฏตัวเพียง 2-3 ฉาก  เป็นตัวละครเดียวในห่วงโซ่กามสัมพันธ์นี้ที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยให้เห็นมุมบาป  ทำให้เอ๊ะ!! ขึ้นมาว่า…หรืออาจจะเป็นไดเรคชั่นของหม่อมน้อยเองที่ออกแบบให้ตัวละครคนบาปอื่นทั้งหลายดูไม่ธรรมชาติไม่เป็นคนกันนะ  ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ส่วนตัวยังไม่เคยอ่านแม่เบี้ย  แต่ก็เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่หลายๆ คนแนะนำให้อ่าน  เคยดูหนังเวอร์ชั่นขูดมะพร้าวนมทะลักแต่ก็จำเนื้อหาสาระไม่ค่อยได้แล้ว  จำได้จนเป็นภาพติดหัวเลยก็คือฉากคอขาด  ก็จะขอพูดถึงประเด็นเนื้อหาเฉพาะแค่ที่ได้เห็นจากหนังของหม่อมน้อยนี้เลยแล้วกัน  รวมถึงพิจารณาควบคู่ไปกับบทสัมภาษณ์ที่ได้อ่านมา  หม่อมน้อยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นโลกของวัตถุและโลกของจิตใจ  เก่าและใหม่  การลืมรากกเหง้า  แต่พอตัวละครพระเอก-นางเอกมันถูกให้เหตุผลอธิบายความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วว่าเป็นเพราะความผูกพันเกี่ยวข้องแต่นานเนาหรือผลบาปกรรมที่บรรพบุรุษเคยร่วมก่อกันมา  ผ่านปรากฏการณ์เดจาวู(Déjà vu) ทำให้เรื่องราวมันมีมิติทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกน้อยลง  กลายเป็นการสร้าง Execution (หรือประมาณว่าสถานการณ์หรือการกระทำที่นำมาเล่าขยายอารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศของลักษณะตัวละครและเหตุการณ์)  ที่ลดทอนความใกล้ชิดระหว่างคนดูกับตัวละครที่จะค่อยๆ รู้จักและเข้าถึงผ่านพัฒนาการตัวละครที่เกิดจากการตั้งคำถาม  การดีเบต  และการดิ้นรนต่างๆ นานา  มีแต่นมและบั้นเอวอันโดดเด่นที่ดึงดูดตัวละครให้เพรียกหารากเหง้า  ทั้งหมดที่เห็นไม่ได้มีพลังสร้างความน่าหลงใหลใคร่ติดตามได้มากเท่าที่เรื่องราวมันสามารถนำพาไปสู้ความรู้สึกใกล้ชิดนั้นได้  ยิ่งรวมกับสไตล์การเล่าแบบหม่อมน้อยนี่ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าคนดูจะสามารถเข้าอกเข้าใจตัวละครระดับลึกซึ้งได้หรือไม่  แทนที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดทัศนคติและจิตใจของตัวละครไปตามสถานการณ์แวดล้อมให้เราได้รู้สึกตามแต่ส่วนเหล่านี้กลับถูกกำกับด้วยการปลดล็อคความคิดความรู้สึกผ่านเดจาวู  ล้ำมั้ยล่ะ!!?  ทำให้ทุกสัดส่วนของ Execution นั้นดูประดักประเดิด คลิเชและน่าเบื่อโดยอัตโนมัติ  อย่างเช่น เอะอะก็แก้วแตก  เอะอะก็จะเอาๆ นั่นแหละ  และบางอย่างก็หลงทางกับธีมเรื่อง อย่าง บรรยากาศห้องหุ่นหลอนๆ ที่ให้ความหมายความรู้สึกไปในทางลบมากกว่าจะรู้สึกว่าผู้กำกับกำลังเล่าถึงรากเหง้าอันดีงามน่าค้นหาของความเป็นไทยซึ่งทำให้สับสนได้  โดยรวมทั้งเรื่องมันก็ยิ่งเหมือนกับบั้งไฟวี้ดปั้งน่ะ(น่าจะเรียกถูกนะ)  ที่ตอนจุดก็ซู่ๆๆๆ มีแต่ควัน  พอติดดินปืนแล้วก็พุ่งแหวกอากาศวี้ดดดดดด!!ขึ้นไปให้เสียงแสบแก้วหูก่อนจะแตกปั้ง!!ในไคลแม็กซ์  แต่ไปปั้งบนฟ้าซะไกลเลยมันก็เอื้อมตามไม่ถึงแล้วได้แต่อยู่ห่างๆ  สุดท้ายก็ทิ้งไว้แต่เสียงวิ้งในหูจากเสียงวี้ดดดดด!!ที่มันดังให้รำคาญ

***ย่อหน้านี้สปอยล์***  แล้วพอถึงจุดเปลี่ยนสำคัญท้ายเรื่องในซีเควนซ์ฉากไคลแม็กซ์ก็ดูสองแง่สองง่ามในการเข้าใจความคิดของตัวละครเมื่อพระเอกชนะชลถูกไหมแก้วเมียในสมรสประชดจี้ใจดำขึ้นเตียงกับภาคภูมิลูกน้องคนสนิท  แต่ในเมื่อชนะชลไม่แคร์เมียที่บ้านเป็นทุนเดิมมันก็เลยเกิดการไม่เข้าใจว่ามันจะเศร้าเสียใจกระทั่งตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่ออะไร  หรือถ้าแคร์นางเอกมากๆ เหตุการณ์ที่เห็นนี้ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีในการตัดสินใจที่จะยุติความสัมพันธ์กับเมียได้ง่ายขึ้น  แล้วหันกลับไปอธิบายตามง้อนางเอกที่หลงใหลได้ปลื้มได้โดยไม่มีพันธะอะไรหลงเหลืออยู่กับเมียเก่า   คือมันก็สามารถไปทางจุดจบอย่างที่หนังเป็นก็ได้แหละ  แต่พอมันขาดการดีเบตนึกคิดของตัวละครแล้วมันเกิดช่องโหว่ให้เราคิดหนทางที่ดีกว่าให้ตัวละครได้ไม่ใช่แค่ให้มีจุดจบอย่างที่ธีมหนังตั้งเป้าซึ่งก็ดูเหมือนจะหลงทาง  แล้วจะเอาอะไรกับฉากเล็กๆ ที่ชนะชลบอกกับเมขลาว่าแต่เดิมตนเองชื่อพินิจ(ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือเปล่า)  แต่พ่อกับแม่ตั้งให้ใหม่เป็น ชนะชล เพื่อแก้เคล็ดหลังเหตุการณ์จมน้ำตอนที่ชนะชลเพิ่งจะ 2 ขวบได้  คือในเมื่อมีคำยืนยันจากปาก ลุงทิม (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ว่าเด็กที่จมน้ำในวันนั้นหายสาบสูญ  นั่นก็แสดงว่าแหล่งข้อมูลที่จะรู้ชื่อเดิมของชนะชลได้คือลุงทิมนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าเด็กมันรอดตาย  แล้วพ่อกับแม่ใหม่ที่ช่วยชีวิตชนะชลขึ้นมาจากน้ำจะรู้จักชื่อเดิมของชนะชลได้ยังไง

ส่วนประเด็นการเมืองจิกกัดมันก็ดูแปลกความรู้สึกไปจากที่เคยดูมาในหนังของหม่อมน้อยนะ  ซึ่งคราวนี้เครื่องมือที่จับใส่เข้ามาเล่าเรื่องราวมันจะชวนให้เราหลงทางได้ง่ายๆ เลย  โดยเฉพาะซีนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองอย่างชัดเจนที่มีเพลง วันพรุ่งนี้ (ที่เนื้อท่อนแรกร้องว่าจำได้ไหม ตายายยังจำได้ไหม…แล้วปิดท้ายด้วยเพลงสามัคคีชุมนุมน่ะ) ในยุค ค.ส.ช. ปัจจุบัน คลอตลอดซีน  แถมยังเป็นซีนเดี่ยวของตัวละครสมทบหลักบาปหนาอย่างพจน์ที่เป็นลูกชายนักการเมืองที่เพิ่งประกาศว่ากำลังจะลงสมัครเลือกตั้ง  แต่ชีวิตส่วนตัวนั้นติดอยู่ในกลกามเมขลา  และเป็นคนไร้ความรับผิดชอบต่อการกระทำและหน้าที่  พูดง่ายๆ ก็คือเลวนั่นแหละ  สุดท้ายถูกปิดฉากด้วยการโดนงูรัดตายอย่างอนาจ  ถึงจะค่อนข้างมั่นใจว่าหม่อมน้อยใส่เพลงนี้มาเพื่อเป็นแบ็กกราวด์เล่ายุคสมัยปัจจุบันก็แค่นั้น  แต่ฟังก์ชั่นทางอ้อมที่เกิดขึ้นขณะดูซีนนั้นๆ มันย้อนแย้งมากๆ  เมื่อทำให้เรารู้สึกแต่แรกว่าหม่อมจะเล่าว่าพจน์และพรรคการเมืองชูไทยนี้อยู่ฝั่งค.ส.ช.  ซึ่งสมควรที่จะมีจุดจบแบบนั้น!!! ประหลาดมาก!!!  หรืออีกมุมหนึ่งคือหม่อมน้อยก็ไม่ได้จะโปรการเลือกตั้งอะไรหรอก  พรรคชูไทยก็คือเพื่อไทยนี่แหละ  แต่มีเพลงในยุคค.ส.ชเพื่อบอกว่าเราทำตามสัญญาแล้วนะ  จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วนะ(นี่มันหนังยูโทเปียนี่!!!)  แล้วพจน์คือตัวแทนนักการเมืองเลวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ค.ส.ช.หลีกทางให้มีการเลือกตั้งและการตายของพจน์ก็คือตัวอย่างของความสมควรหรือไม่สมควรตาย  สมควรจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่สมควร  นักการเมืองบาปที่ถูกความดีงามซึ่งแทนด้วยงูยักษ์ที่มักจะปรากฏตัวออกมาเมื่อเกิดกิจกามารมณ์ผิดศีลธรรม  และท้ายที่สุดความดีงามอย่างงูยักษ์ก็ไม่กลืนกินนักการเมืองชั่วอย่างพจน์  พอได้คิดไปๆ มาๆ ก็น่าจะเป็นอันหลังมากกว่าซะแล้วมั้ง  แค่คงลืมว่างูแม่งลอกคราบได้!! โอเคปกติเหมือนเดิมแล้ว

อย่างที่หม่อมน้อยผู้กำกับได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า  “แม่เบี้ย ไม่ใช่นิยายธรรมดาที่พูดเรื่องความรักของตัวละคร  คุณวาณิชเอาความอีโรติก  ความลับของงู  ความลึกลับของเรือนไทยมาเป็นเปลือกนอก”  หนังของหม่อมก็เช่นกัน  แต่กล่าวคนละนัยคือ  แม่เบี้ย ไม่ใช่หนังธรรมดาที่พูดเรื่องความรักของตัวละคร  หม่อมน้อยเอาความอีโรติก  ความลับของงู  ความลึกลับของเรือนไทยมาเป็นเปลือกนอก  และนอกจากนั้นก็แทบไม่มีเนื้อหนังอะไรเพิ่มมาจากต้นทุนวรรณกรรมเดิมเลย  แถมกระพี้ปี้ปล้ำอะไรก็ไม่ได้งดงามด้วยน่ะสิ  คำพูดของตัวละครลุงทิมที่พูดประมาณว่า  ถ้าเชื่อว่ามันมีจริงมันก็จริง  ถ้าเชื่อว่ามันไม่จริงมันก็ไม่จริง เป็นธีมโควตที่ใช้บอกการมีอยู่ของเนื้อหนังได้เป็นอย่างดีที่สุดแล้ว

รอดูว่าข้างหลังภาพ  และ บัลลังก์เมฆ ที่แอบหยอดผ่านเพลงเข้ามาในหนังจะเป็นวรรณกรรมที่หม่อมน้อยจะหยิบมากระทำชำเราเป็นเรื่องถัดไปหรือเปล่า