“Antebellum” บาดแผลอดีตสู่ปัจจุบัน ความเกลียดชังที่ไม่มีวันตาย by Kanin The Movie

Antebellum หลอน ย้อน โลก

เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่อยากดูมาตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย คือพอจะสัมผัสได้ว่าหนังมีทิศทางในแบบเดียวกับ Get Out และ Us (ที่โปรดิวเซอร์ของทั้งสองเรื่องมาควบคุมการสร้างเรื่องนี้ด้วย) คือหนังที่พูดถึงประเด็นของสีผิว ผ่านคอนเซ็ปต์หนัง สยองขวัญ/ทริลเลอร์/ลี้ลับ ที่แม้ว่าพล็อจะน่าสนใจ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ากำลังจะไปเจอกับอะไรในหนัง เช่นเดียวกับ “Antebellum” เราพอจะรู้คร่าวๆ ว่ามันพูดถึงหญิงสาวที่อยู่ๆ ก็หลุดเข้าไปในโลกอดีต ณ ช่วงเวลาที่อเมริกายังมีระบบทาส เราไม่รู้ว่าเธอมาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ยังไง แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเพื่อที่จะออกไปให้ได้ต่างหาก

ด้วยความที่เราเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าหนังมันมีเรื่องราวยังไง เราก็เลยจะข้ามในส่วนของการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังไป และโฟกัสกับประเด็นภายในของมันเป็นหลัก (เพราะเชื่อว่าอรรถรสส่วนหนึ่งของหนัง คือการที่คนดูไม่ได้รับรู้ หรือเตรียมพร้อมกับการเฉลยในแต่ละปริศนาแน่นอน) Antebellum เล่าเรื่องของด็อกเตอร์สาวผู้เป็นการนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของคนผิวสี

เธอมีผลงานเขียนชื่อดัง และได้รับการยอมรับจากบุคคลมากมาย แต่แล้วจู่ๆ เธอก็เหมือนถูกลักพาตัว และหลุดเข้ามาในโลกอดีตที่ระบบทาสยังคงอยู่ หญิงสาวต้องกลายเป็นแรงงาน ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นคน ซึ่งสวนทางกับภาพของโลกปัจจุบันที่เธอใช้ชีวิต นำไปสู่การหาหนทางหนี ปลดแอกพันธนาการแห่งความไม่เท่าเทียม จากระบบที่แบ่งแยกจำแนกคนให้มีความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน

เราชอบคอนเซ็ปต์ของ Antebellum นะ จริงๆ มันมีความเป็นลูกผสมระหว่าง Get Out กับ Us อยู่พอสมควร คือพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาไปพร้อมๆ กับคอนเซ็ปต์ลี้ลับที่มีความไซไฟประหลาดๆ ต่างกันที่เราจะไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้มันมีเลเยอร์ที่ซับซ้อนหลายชั้น เอาจริงๆ หนังมันแบ่งก้อนประเด็น และปริศนาลี้ลับไว้ชัดเจนมากๆ เพียงแต่ถูกเล่าออกมาด้วยลำดับที่คนทำจัดสรรไว้แทน ซึ่งเอาจริงๆ ไอเดียดังกล่าวมันดีเลย เราชอบที่มันพูดถึงการต่อสู้ของคนผิวสีผ่านประวัติศาสตร์ชาติที่เดินทางผ่านมาหลายร้อยปี ที่พยายามเปลี่ยนแปลงอดีต ทำลายความเกลียดชัง แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดได้หมดสิ้น

หนังเปรียบคนเหล่านั้น ชุดความคิดนั้นเป็นเหมือน “อดีต” และแทนค่าคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเป็น “อนาคต” แต่สิ่งที่หนังต้องการจะเล่าก็คือภัยจากอดีตที่ยังคงมีชีวิต ลมหายใจของความเกลียดชังที่ยังคงถูกต่อ ซึ่งเราว่ามันสอดรับกับสถานการณ์โลกในตอนนี้มากๆ ในการวิพากษ์คนจำนวนหนึ่งที่ยังคงยึดติดกับชุดความคิดเดิม และพยายามประคับประคองอุดมการณ์ของตัวเองเอาไว้ (ชอบประโยค วิลเลียม ฟอกเนอร์ นี้ในหนังมากๆ “The past is never dead. It’s not even past.”)

แต่เอาเข้าจริง โดยรวมหนังมันออกจะกระท่อนกระแท่นเสียมากกว่า เหมือนเขามีคอนเซ็ปต์มา มี Execu-tion มา แต่ระหว่างทางมันเต็มไปด้วยปัญหาเยอะไปหมด อย่างแรกคือเรารู้สึกว่าการลำดับเรื่องมีปัญหา คือการแบ่งสัดส่วนมันสร้างความทริลเลอร์ลี้ลับให้กับหนังได้ (เปิดด้วยโจทย์แรก โจทย์สอง และขมวดกันเป็นคำตอบ) แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้องค์สองของหนังกลวงเปล่าจากการไม่มีอะไรเลย มันกลายเป็นว่าผู้ชมต้องนั่งดูเรื่องราวนับครึ่งชั่วโมงเพียงเพื่อรอการเฉลยปริศนาทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างเสียดาย

มันกลายเป็นว่าช่วงกลางเรื่องนี้เองที่ฉุดหนังลงจนเป็นปัญหากับภาพรวมของเรื่องทั้งหมด นอกจากนั้น เรายังรู้สึกว่าหนังให้น้ำหนักกับประเด็นไม่มากพอ ในขณะที่ธีมของเรื่อง คอนเซ็ปต์ของหนัง ดูแข็งแรง และน่าสนใจ แต่ในระหว่างทางที่หนังจำเป็นต้องอธิบายหัวข้อทั้งหมดกลับออกมาตื้นเขินจนกลายเป็นน่าเบื่อเสียแทน (ฉากที่หญิงสาวเป็นวิทยากรในงานสัมมนาจากตัวอย่างหนังออกมาล้มเหลวมากๆ)

อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือฟอร์มการนำเสนอ Antebellum โดดเด่นในเทคนิคการนำเสนอโดยเฉพาะงานภาพ ที่แม้เซ็ตติ้งจะเป็นอเมริกายุคค้าทาส แต่คนสามารถดีไซน์มันให้ออกมาทันสมัยได้ (อารมณ์เหมือนดู 12 Years a Slave แบบไม่เน้นดิบเน้นเก๋) ซึ่งเราเอนจอยเลย ชอบทุกฉากที่เกิดขึ้นในตอนเย็น พลบค่ำ และที่สำคัญฉากเปิดเรื่อง และฉากปิดหนังดีไซน์ออกมาดีมากๆ (แต่ให้ความรู้สึกคนละแบบ ฉากเปิดทำให้เราคาดหวังกับหนังเรื่องนี้พอสมควร แต่ฉากปิดเป็นการโหมกระหน่ำที่ฉกฉวยความเฉยๆ ระหว่างทางของเราพอสมควร)

โดยส่วนตัวมองว่า Antebellum เป็นหนังที่มีไอเดียตั้งแต่ดี แต่ไม่สามารถต่อยอดไปได้ไกลสักเท่าไหร่ ประเด็นการเมือง ประเด็นสีผิว แม้จะมีเรื่องของประวัติศาสตร์นับร้อยปีมาเกี่ยวข้อง โยงใยกลายเป็นปริศนาที่น่าสนใจ แต่พอถึงจังหวะที่เฉลยจริงๆ มันอาจจะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่มันก็แค่นั้น ไม่ได้มีอะไรไปไกลกว่าที่คาดหมายเท่าใด

กระนั้น เราก็ยังชอบ Execution ของหนัง โจทย์ตั้งต้นของมันช่างรุนแรง และซื่อตรงกับผู้ชม การเปรียบโลกใหม่ โลกเก่า ความก้าวหน้า การอนุรักษ์นิยม ดูๆแล้วก็อาจมีบางประการละม้ายคล้ายประเทศเราเช่นเดียวกัน ใครที่ชอบ Get Out หรือ Us ก็อาจจะสนุกกับกลิ่นของหนังในผลงานเรื่องนี้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ของชั้นเชิง และความสั่นสะเทือนของเรื่องราวยังห่างไกลกันพอสมควร

————————————————–