45 Years – 45 ปี เจ็บ รัก เก่า

45 Years (Andrew Haigh / UK / 2015)

ดีงามมากๆๆ ถึงจะไม่ได้อินกับป้ากับลุงแบบสุดๆ  และแอบไม่เข้าใจป้าอยู่หน่อยๆ ในช่วงแรกๆ แต่พอเรื่องดำเนินไปสักพักมันก็ค่อยๆ ซึมซาบกับความจิตตกจนในที่สุดก็รู้สึกเข้าใจได้ในความที่ป้าเป็นคน’แบบนั้น’  รายละเอียดที่เห็นผ่านทั้งการกำกับ  การถ่ายภาพ  และการแสดงต่างรองรับบทที่เล่าน้อยได้มีพลังมากๆ  เริ่มชอบองค์ประกอบภาพมากๆ ก็ตอนช็อตที่ลุงขอออกไปยืนสูบบุหรี่นอกบ้านแล้วป้าก็เดินตามออกไปแต่กล้องยังคงจับจ้องผัวเมียทั้งสองจากในบ้าน  มันดีมากๆ  ไม่ว่าจะรู้สึกไปเองหรือเปล่าแต่เพียงช็อตๆ เดียวนี้มันไกด์เรื่องราวและบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดต่อจากนั้นได้วิเศษมาก  ว่าต่อจากนี้ไปทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม  มันทำให้รู้สึกอย่างนั้น

ชอบการใช้โมทีฟต่างๆ ในเรื่องนี้มากๆ  ศพแฟนเก่าของลุงที่ถูกแช่แข็งในร่องรอยแตกของน้ำแข็งเป็นร่องรอยแตกอันเดียวกันกับรอยร้าวในหัวใจของลุงที่ความทรงจำเกี่ยวกับเธอยังคงถูกแช่แข็งผนึก  จนถูกชำแรกออกให้รู้ความจริงในวันเดียวกัน  ซึ่งก็รอแต่วันที่จะละลายหรือรอคนไปชำแรกร่างของเธอออกมาได้สักวัน  แต่ป้าแกดันคิดมากจริงจังจนกลายเป็นใจป้าแกเองที่หลงร้อนจนละลายน้ำแข็งและชำแรกความไว้ใจ  ความใกล้ชิดสนิทใจที่มีต่อลุงให้ความทรงจำดีๆ 45 ปี อันยาวนานมันผุกร่อนไปเรื่อยๆ

แล้วก็มีบุหรี่กับตุ๊กตาแม่ลูกดกมาโตรชก้า  โดยเฉพาะโมทีฟห้องใต้หลังคาที่ชอบมากๆ  ครั้งแรกที่ป้าตื่นจากหลับเพราะได้ยินเสียงโครมครามมาจากห้องใต้หลังคานั้น  มันให้ความรู้สึกได้อยู่สองอย่างคือคล้ายตื่นจากฝันหวานมาพบความจริงหรือหลุดเข้ามาในฝันร้ายที่รอวันตื่น  เราจะเห็นแต่ความดำมืดและได้ยินเสียงเคลื่อนไหวบางอย่างน่าสงสัยมาสักที่หนึ่งภายในบ้าน  ก่อนที่ป้าจะสงสัยหวาดระแวงจนไม่ได้ระวังที่จะตามเสียงนั้นไป  และเราก็ได้รู้ว่าเสียงน่ารำคาญที่ปลุกให้ตื่นหรือทำให้หวาดระแวงราวกับช่วงระทึกในฝันร้ายนั้นมันดังมาจากห้องใต้หลังคาที่มีแต่สุ้มเสียงดังมาจากความมืด  และไม่มีเสียงตอบรับจนกว่าป้าจะเรียกทักถามขอดูสิ่งที่พรางอยู่ข้างบนนั้น  หรือจนกว่าคนที่อยู่ในนั้นจะเลือกที่จะบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า

แล้วป้าก็ตัดสินใจทักถาม  ลุงที่อยู่ในความมืดนั้นจึงแสดงตัว  ก่อนที่ป้าจะก้าวล้ำเส้นมาขอดูรูปแฟนเก่าของลุง  ซึ่งการรับรู้ทั้งหมดหลังจากนั้นก็ยิ่งเพิ่มความเจ็บช้ำด้วยรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่มีทางที่จะกู่กลับได้แล้ว  และถึงคนดูจะไม่เห็นหน้าแฟนเก่าคนนั้นของลุงในรูป  แต่มันสำคัญกว่าที่คนดูรู้ว่าป้าเห็นและไม่คิดจะแชร์ความเก็บกดทนเศร้านี้กับใครแม้กระทั่งกับคนดู  สภาวะรนหาที่จากความอยากรู้อยากเห็นที่เห็นมาครึ่งทางและรู้ตัวว่าถึงจะรู้หรือไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่านี้มันก็ยังคงกระอักกระอ่วนอยู่อย่างนั้นซึ่งแย่พอกันอยู่ดีนี่มันน่าเวทนาจริงๆ

จนมาถึงฉากจุกอกสัสๆ ที่ป้าตัดสินใจปีนขึ้นไปสู่ความมืดในห้องใต้หลังคาที่ปกคลุมด้วยหลังคาบ้านที่เคยอบอุ่นสุขสงบมานาน 45 ปี  จากนั้นแสงสว่างที่ได้เห็นในความมืดนั้นมันก็ทำลายทุกอย่างจนแหลกเหลว  ค่อยๆ รั่วซึม  และรอคอยวันที่จะทะลักทลายออกมา  หรือไม่ก็ต้องมีใครสักคนที่ทำให้ใจของป้ากลับแข็งตัวได้อีกครั้ง  ซึ่งถ้าให้ย้อนกลับไปดูตั้งแต่เริ่ม  ก็คือตัวป้าเองนั่นแหละจ้ะ..

เสียดายที่ช็อตจบส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบเพราะรู้สึกว่าจังหวะแสดงออกของตัวละคร(นักแสดง)กับจังหวะกล้องมันมาเจอะกันพอดีจนรู้สึกถึงความตั้งใจที่จะให้เป็นเกินไปหน่อย  แค่นิดเดียวจริงๆ  แต่การแสดงของป้า Charlotte Rampling โดยเฉพาะทุกๆ ฉากการสนทนาบนเตียง  และมีช็อตที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้เลยคือตอนที่ลุงนอนเล่าเรื่องของแฟนเก่าให้ฟังแล้วกล้องก็จับจ้องที่หน้าป้าที่เอาแต่นอนจ้องมองหน้าลุงด้วยรักและแฝงความเศร้าสร้อยและอีกหลากร้อยความรู้สึกที่อยู่ในสายตานั้น  จนเราคล้อยตามได้นับตั้งแต่วินาทีนั้นโดยที่ยังไม่เข้าใจว่าตริงๆ แล้วป้าแกเคยเจออะไรมาบ้างและตอนนี้ป้าเป็นอะไรของป้าถึงได้สะเงาะสะแงะแบบนี้  เป็นการแสดงที่ลบรอยแหว่งของบทหนังได้อย่างงดงาม  ซึ่งตีคู่ไปกับการแสดงที่ดีงามพอกันของลุง Tom Courtenay รวมถึงองค์ประกอบอื่นทั้งการกำกับและการกำกับภาพก็เสริมส่งกันอย่างหมดจดจนอยากยกออสการ์ใส่พานถวายป้าซึ่งเป็นผู้เข้าชิงจากหนังเรื่องนี้เพียงหนึ่งเดียวให้ไปตอนนี้เลย