42 (2013) ตำนานนักหวดสะท้านโลก

Untitled05835

ผมรู้จัก Chadwick Boseman เป็นครั้งแรก จากหนังเรื่องนี้ครับ

บอกตามตรงว่าตอนแรกนั้น ผมดูหนังเรื่องนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ – ประการแรกคือเพราะหนังมี Harrison Ford และประการที่ 2 คือหนังเขียนบทและกำกับโดย Brian Helgeland ที่ผมประทับใจเขามากๆ จาก L.A. Confidential

ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่า Chadwick Boseman คือใคร

ครั้นพอได้ดูจนจบ ก็พูดได้เต็มปากเลยครับว่า นี่เป็นหนังดีที่น่าดู และเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมชอบหนังเรื่องนี้ ก็เพราะชายชื่อ Chadwick Boseman นี่แหละ

42 สร้างจากเรื่องจริงของแจ็คกี้ โรบินสัน (Boseman) ชายผิวดำคนแรกที่ได้ร่วมแข่งกีฬาเบสบอลในเมเจอร์ลีค (ในศตวรรษที่ 20) เหตุผลสำคัญก็เพราะการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นทั่วไปในอเมริกา คนผิวดำถูกกดขี่และจำกัดสิทธิ์สารพัด อย่างเรื่องการลงแข่งกีฬานี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในร้อยในพันเรื่องที่คนผิวดำโดนจำกัดสิทธิ์

ขนาดห้องน้ำห้องท่าก็ยังไม่สามารถใช้ห้องเดียวกับคนผิวขาวได้ พูดง่ายๆ คือถ้าปั้มไหนไม่มีห้องน้ำสำหรับคนผิวดำ คนผิวดำก็ต้องเดินไปทำธุระที่กลางป่าโน่น

แต่แล้วโฉมหน้าของวงการเบสบอลก็เปลี่ยนไป เมื่อแบรนช์ ริคกี้ (Harrison Ford) ผู้บริหารทีมบรู๊คลิน ดอดเจอร์ส ประกาศว่าจะเชิญนักกีฬาผิวดำที่มีความสามารถมาร่วมทีม และคนที่เขาเลือกก็คือ แจ็คกี้ ที่มีประวัติการเล่นในระดับยอดเยี่ยม และที่สำคัญคือแจ็คกี้มีเลือดนักสู้ เป็นคนที่ยืนหยัดในความถูกต้องและสู้เพื่อสิทธิของตัวเองมาตลอด

อย่างครั้งหนึ่งแจ็คกี้เคยต้องขึ้นศาลทหาร ข้อหาไม่ยอมนั่งที่เบาะหลัง (ประมาณว่าคนผิวดำนั่งด้านหน้าไม่ได้ ต้องไปนั่งเบาะหลังสุดโน่น) ซึ่งแบรนช์มองว่า ถ้าเขาเป็นคนผิวขาวล่ะก็ การยืดหยัดแบบนี้ใครๆ ย่อมบอกว่าเขามีความมุ่งมั่นแทนที่จะต้องมารับโทษแบบนี้

และหนังก็เล่าถึงการเดินทางบนถนนสายเบสบอลของแจ็คกี้ครับ เขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคสารพัด โดยเฉพาะปราการด่านสำคัญอย่างการเหยียดผิวที่มีคนมากมายอยากให้เขาเลิกเล่น อยากให้เขาออกจากสนามไป บางคนถึงขั้นขู่จะทำร้ายชีวิตของเขาและลูกเมียเลยทีเดียว

แต่กระนั้นเขาก็ยังสู้ต่อครับ จนในที่สุดเขาก็กลายเป็นตำนานบทสำคัญแห่งวงการเบสบอล

Untitled05836

ผลลัพธ์ของหนังจัดว่ายอดเยี่ยมในระดับที่น่าจดจำครับ เริ่มจากนักแสดงเลย Boseman เล่นได้ดีมาก นี่แหละครับผลงานที่แจ้งเกิดให้กับเขาอย่างเต็มตัว ในตอนนั้นเขาถือเป็นดาราหน้าใหม่ของวงการ แม้จะปรากฏตัวในซีรี่ส์มาแล้วหลายเรื่อง แต่ก็ยังไม่ได้รับบทนำ จนกระทั่งเรื่องนี้ที่เขาได้สวมบทของแจ็คกี้ได้อย่างน่าประทับใจ

Boseman ถ่ายทอดบทนี้ได้อย่างพอเหมาะครับ เขาทำให้แจ็คกี้ดูเป็นคนแข็งแกร่ง แต่ไม่แข็งกร้าว แม้เขาจะหมั่นยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตน แต่เขาก็จะไม่ระรานใครก่อน หรือกระทั่งถึงตอนที่เขาถูกระราน เขาก็ยังพยายามที่จะอดทน จนคนดูอย่างเราๆ อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเห็นใจและเอาใจช่วยเขามากขึ้นเรื่อยๆ บางฉากนี่ถึงขั้นอยากโดนเข้าจอไปช่วยปกป้องเขาด้วยซ้ำ

พูดแล้วนึกถึงฉากที่แจ็คกี้โดนเบน เเชปแมน (Alan Tudyk) ทั้งหยามทั้งเหยีดกลางสนามจนไม่เหลือดี ฉากนี้ทั้งสีหน้า แววตา และท่าทางของ Boseman ทำให้เราอดเกร็งไม่ได้ว่าเดี๋ยวจะเกิดเรื่องกลางสนามหรือไม่ – ดูแล้วมันใช่ ดูแล้วมันอิน

ส่วน Ford ก็จัดเป็นบทสมทบครับ แต่เป็นการสมทบที่เยี่ยมจนน่าปรบมือ เขาเล่นเป็นแบรนช์ได้อย่างน่ารัก ดูจริงใจ อารมณ์ดี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้โลกสวย เพราะเขาผ่านอะไรๆ มาเยอะจนเข้าใจทั้งด้านสว่างและด้านมืดของโลก Ford สามารถถ่ายทอดภาพของชายผู้รักเบสบอลที่ผ่านโลกมาอย่างโชกโชนได้อย่างดี ในความเห็นผมแล้ว Ford ถือว่าเหมาะกับบทนี้มากกว่าตัวเลือกแรกๆ อย่าง Robert Redford และ Jack Nicholson อีก (ผมเชื่อว่าตอนแสดงทีท่าน่ารักนี่ Ford กินขาดครับ)

บอกได้เลยว่าหนังเรื่องนี้แค่ดู Boseman กับ Ford ก็คุ้มแล้ว

ดารารายอื่นว่าตามจริงบทไม่ได้เยอะ แต่ก็มีวาระที่น่าจดจำของตัวเอง ไม่ว่าจะ Nicole Beharie ในบทภรรยาของแจ็คกี้ที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างสามีของเธอเสมอไม่ว่าในยามสุขหรือยามเศร้า, Lucas Black ในบทพีวี รีส เพื่อนร่วมทีมของแจ็คกี้ที่กลายมาเป็นอีกคนที่พร้อมจะร่วมสู้ไปกับเขา, André Holland  ในบทเวนเดล สมิธ นักข่าวผิวดำที่คอยช่วยเหลือและประคองแจ็คกี้อยู่เสมอๆ จนแจ็คกี้อดไม่ได้ที่จะเอ่ยคำขอบคุณ และที่ลืมไม่ได้คือ Tudyk ที่รับบทแชปแมนได้อย่างถึงรสจนน่าตื้บในหลายวาระ

Untitled05837

จนถึงนาทีนี้ ผมยกให้เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับที่ดีที่สุดของ Brian Helgeland ครับ จังหวะของหนังจัดว่าเรียบง่าย ไม่หวือหวา จนหากใครอยากได้อะไรที่มันฉับไวล่ะก็ อาจรู้สึกไม่โอกับหนังเรื่องนี้ก็ได้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบในความเรียบง่ายที่หนังดำเนินไปครับ หนังชวนให้เรารู้จักแจ็คกี้ทีละนิด ทำให้รู้จักแบรนช์ทีละหน่อย ทำให้เห็นแต่ละก้าวที่แจ็คกี้ต้องเจอ ไม่ว่าจะการโดนเหยียดหยาม โดนดูถูก กระทั่งโดนขู่เข็ญ รวมถึงแต่ละก้าวในสนามกีฬา จากลีคเล็กๆ ไปจนถึงเมเจอร์ลีค หนังทำให้เรารู้สึกภูมิใจไปกับเขา ยามที่เขาได้รับความสำเร็จ

ผมเชื่อว่าในชีวิตจริงของแจ็คกี้นั้น เขาจะต้องเจออะไรหนักหนากว่าที่เราเห็นในหนังครับ แต่ผมก็เชื่อว่าเหตุผลหนึ่งที่หนังเลือกจะไม่เทน้ำหนักไปที่การถูกหยามเหยียดของแจ็คกี้ ก็คงเพราะความตั้งใจของหนังที่มุ่งหมายจะให้เป็นหนังสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าจะเป็นหนังที่แสดงถึงด้านมืดของโลกแบบจัดหนัก

ดังนั้นการที่เราจะโอหรือไม่โอกับหนังก็ขึ้นกับความคาดหวังของเราน่ะครับ หากหวังการสะท้อนสังคมหรือสะท้อนปัญหาแบบหนักๆ แรงๆ หนังเรื่องนี้ก็อาจไม่ตอบโจทย์นั้น แต่หากต้องการหนังสร้างบันดาลใจสักเรื่อง ผมมองว่าหนังสามารถตอบโจทย์ได้อย่างดี

และจะว่าไปแล้วหนังก็ยังมีประเด็นชวนคิดใส่ลงมาหลายอย่างตอนเปิดเรื่องก็มีบทบรรยายที่ชวนให้เจ็บจี๊ดที่ใจ ตอนที่บอกว่า “คนมากมายไปรบนอกบ้านเพื่อเสรีภาพ แต่กลับมาเจอกับการกดขี่เหยียดผิวในบ้านของตัวเอง”

หรือตอนที่คนในทีมพยายามล่ารายชื่อเพื่อไล่แจ็คกี้ออกด้วยเหตุผลเรื่องสีผิวนั้น ตัวโค้ชก็ต้องออกมาพูดเตือนสติว่าแจ็คกี้สำคัญต่อทีมเพราะเขามีความสามารถที่จะทำให้ทีมชนะได้ เพราะความสามารถนั้นเองที่ทำให้แจ็คกี้ได้มาอยู่ตรงนี้ และที่สำคัญคือแจ็คกี้เป็นเพียงแค่คนแรกเท่านั้น ยังมีคนผิวดำอีกมากที่เปี่ยมพรสวรรค์กำลังตบเท้าก้าวเข้ามาสู่วงการเบสบอล

ดังนั้นแทนที่จะเอาเวลามาขับไล่คนผิวดำ สิ่งที่ควรทำกว่าคือพัฒนาฝีมือตัวเองให้แน่ใจว่าจะไม่โดนคนผิวดำที่เก่งกว่ามาไล่ต้อนคนผิวขาวอย่างพวกเขาออกจากสนาม

เหตุการณ์ในเรื่องสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงได้ดีครับ ในทุกยุคทุกสมัย ในทุกธุรกิจและทุกวงการล้วนมีช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งหากใครปรับตัวได้ก็จะได้ไปต่อ แต่หากใครไม่คิดจะปรับก็อาจจะตกเป็นฝ่ายโดนไล่ต้อนเสียเอง

การปรับตัวทำได้หลายวิธีครับ ไม่ว่าจะเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น รู้เหตุและรู้ผล รวมถึงรู้ตัวเองด้วยว่าเราจะสามารถผ่านช่วงเปลี่ยนแปลงนั้นไปได้หรือไม่ หากมีแววว่าจะยังผ่านไม่ได้ก็ต้องหาทางอัพเกรดซอฟท์แวร์ในตัวเอง เพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะ ศึกษาจากคนอื่น หรือหากเรามีข้อเสียก็ต้องเรียนรู้ที่จะลดทอนมันลงเสียบ้าง ฯลฯ จริงที่เราอาจหยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเราอาจควบคุมสถานการณ์แวดล้อมทั้งหมดไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ยังสามารถที่จะทำอะไรบางอย่างกับตัวเองได้

ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นโอกาสหรือเป็นวิกฤติสำหรับเรา ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับเราด้วยแหละครับ

Untitled05838

ในมุมหนึ่งผมมองว่าหนังสะท้อนประเด็นของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (การที่คนผิวดำเข้ามาเล่นในเมเจอร์ลีค) มันส่งผลต่อคนมากมาย เอาเข้าจริงแล้วคนที่ต้องพบเจอกับผลกระทบนั้นไม่ได้มีแค่นักกีฬาผิวขาวเพียงอย่างเดียว อย่างตัวแจ็คกี้เองก็เจอนะครับ เจอผลกระทบแบบหนักหนาด้วย จากเดิมที่เขาเล่นในลีคเล็กๆ และอยู่ในสังคมเพื่อนร่วมสีผิวเป็นหลัก แต่เขาก็ต้องเปลี่ยนมาอยู่ในโลกของคนผิวขาว เขาต้องเจอทั้งแรงต้าน เจอเสียงค้าน เจอการขู่เข็ญและหยามเหยียดทั้งต่อหน้าและลับหลัง

และในขณะที่เพื่อนในทีมของแจ็คกี้ที่ร่วมลงคะแนนเสียงกันเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงนี้แบบหมู่คณะ แต่แจ็คกี้ต้องสู้กับเรื่องทั้งหมดเพียงลำพังเสียเป็นส่วนใหญ่

คิดดูว่าเขาเองก็ต้องทน ต้องสู้ ต้องอึดขนาดไหนกว่าจะผ่านเรื่องราวทั้งหมดไปได้… ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกนับถือแจ็คกี้ โรบินสันมากขึ้นทุกทีๆ ครับ

ครับ สรุปแล้วผมชอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมชอบหนังแนวกีฬาที่สร้างจากเรื่องจริงแบบนี้อยู่แล้ว และชอบหนังแนวสร้างแรงบันดาลใจด้วย ความชอบมันเลยบวกๆ ยิ่งหนังได้ดาราดี ได้การกำกับที่พอเหมาะ และดนตรีที่กำลังดีของ Mark Isham ทั้งหมดนี้ช่วยกันปรุงให้หนังเรื่องนี้ออกมาดี คุ้มค่าแก่การรับชมสักครั้ง (เป็นอย่างน้อย)

เกร็ดที่น่าสนใจคือ หากสังเหตจะพบว่าผมใช้คำว่าแจ็คกี้เป็นชายผิวดำคนแรกที่ได้เข้าแข่งในเมเจอร์ลีคในศตวรรษที่ 20 เพราะจริงๆ แล้วก่อนหน้านั้นมีการบันทึกไว้ว่ามีชายผิวสีได้ร่วมแข่งเมเจอร์ลีคในช่วงยุค 1880 ครับ เพียงแต่การที่เรื่องราวของแจ็คกี้เป็นที่กล่าวถึงก็เนื่องจากการมาของเขาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งในวงการเบสบอล กล่าวคือเขาเป็นเหมือนหมุดไมล์สำคัญที่ทำให้คนผิวดำได้รับโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นในวงการเบสบอล

ผมเขียนถึงบรรทัดนี้… สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวก็คือ ผมหยิบหนังเรื่องนี้มาดูอีกหนก็เพราะการจากไปของ Boseman ครับ ผมรู้จักเขาเป็นครั้งแรกจากหนังเรื่องนี้ จึงทำให้ผมนึกถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในวันที่เขาจากไป

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวก็คือ Boseman นั้นได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2020 (ตามเวลาในอเมริกา) ซึ่งตรงกับวัน Jackie Robinson Day ครับ

ตามจริงแล้ว วัน Jackie Robinson Day อันเป็นวันที่รำลึกถึงแจ็คกี้ โรบินสันนั้นจะตรงกับวันที่ 15 เมษายนของทุกปีครับ แต่เนื่องจากปีนี้เกิดสถานการณ์โควิด-19 เลยทำให้ไม่สามารถจัดงานในช่วงเวลานั้นได้ ทาง Major League Baseball (MLB) เลยตัดสินใจขยับเลื่อนวัน Jackie Robinson Day มาเป็นวันที่ 28 สิงหาคมแทน ซึ่งเหตุผลที่เลื่อนมาเป็นวันนี้ก็เพราะในวันที่ 28 สิงหาคม 1945 คือวันที่แจ็คกี้ได้พบกับแบรนช์ ริคกี้ และแบรนช์ก็ประกาศความตั้งใจว่าจะนำพาแจ็คกี้ไปลงแข่งในเมเจอร์ลีคให้ได้

และในวันที่ 28 สิงหาคม 2020 อันเป็นวัน Jackie Robinson Day เฉพาะกิจที่มีขึ้นเฉพาะในปี 2020 ก็คือวันที่ Boseman ผู้รับบทแจ็คกี้ โรบินสัน ได้จากโลกนี้ไป…

ผมคงไม่มีอะไรจะกล่าวมากไปกว่านี้ นอกจากอยากแนะนำหนังเรื่อง 42 นี้ให้ได้ชมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอยากเห็นการแสดงที่แจ้งเกิดให้กับ Boseman หรือหากคุณอยากได้แรงบันดาลใจจากหนังสักเรื่อง ผมว่าเรื่องนี้ให้แรงใจได้ ไม่มากก็น้อยครับ

ยินดีที่ได้รู้จัก… และลาก่อนครับคุณ Chadwick Boseman 

สามดาวครับ

Star31

(8/10)